เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

ผลงานวิจัยเพื่อสังคม


ชุดตรวจหาปริมาณสารกลุ่มเคอร์คิวมินอยด์ในขมิ้นชัน…จากงานวิจัยสู่สิทธิบัตร


นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ มนนันท์ ศักยโรจน์กุล. ชุดตรวจหาปริมาณสารกลุ่มเคอร์คิวมินอยด์ในขมิ้นชัน. เลขที่สิทธิบัตร 23954. วันที่ 27 มิถุนายน 2551.
https://tinyurl.com/ycv64kqt
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
อ่านแล้ว 37,938 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 2013-06-28 10:33:00
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

รองศาสตราจารย์ ดร. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ 
ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ชุดตรวจหาปริมาณสารกลุ่มเคอร์คิวมินอยด์ในขมิ้นชัน เป็นงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในปี 2546 เพื่อทำการคิดค้นชุดตรวจสอบที่สามารถใช้ตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และแม่นยำ ให้ผลที่เชื่อถือได้ จากงานวิจัยนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล และ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้ทำการยื่นขอสิทธิบัตร ตามเลขที่คำขอ 0301003473 (085262) วันที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร 16 กันยายน 2546 และได้รับสิทธิบัตร เลขที่สิทธิบัตร 23954 วันออกสิทธิบัตร 27 มีนาคม 2551 โดยผู้ประดิษฐ์คือ รองศาสตราจารย์ ดร. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์  คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

บทสรุปการประดิษฐ์

ขมิ้นชัน ถือได้ว่าเป็นสมุนไพรไทยที่มีการนำมาใช้เป็นอาหาร เครื่องสำอาง และเป็นยา มาเป็นเวลานาน ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ขมิ้นชันมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma longa Linn. (C. domestica) วงศ์ Zingiberaceae ตำราไทยใช้เหง้ารักษาโรคผิวหนังผื่นคัน หรือรับประทานแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ นอกจากนี้ขมิ้นชันยังมีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่พบว่า มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งแกรมบวกและลบ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ทำให้ปัจจุบันนี้จึงมีการนำขมิ้นชันมาใช้เพื่อเป็นยารักษาโรคกระเพาะ โรคผิวหนัง หรือใช้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือเสริมอาหาร

แต่การที่ขมิ้นชันจะมีฤทธิ์ทางการรักษาที่ดีได้ จะต้องเป็นขมิ้นชันที่มีคุณภาพ กล่าวคือจะต้องมีปริมาณสารสำคัญในปริมาณที่กำหนดในเภสัชตำรับ ซึ่งในเภสัชตำรับของประเทศไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia, THP 1995) ได้มีข้อกำหนดของขมิ้นชัน ว่าจะต้องมีสารกลุ่มเคอร์คิวมินอยด์ (curcuminoids) ไม่น้อยกว่า 5% และมีน้ำมันหอมระเหยไม่น้อยกว่า 6%  ซึ่งวิธีในการตรวจหาปริมาณของสารกลุ่มเคอร์คิวมินอยด์ จะเป็นวิธีที่ต้องทำโดยผู้ชำนาญการ ต้องใช้เครื่องมือยุ่งยาก ราคาแพง น้ำยาสกัดและน้ำยาทดสอบหลายชนิด และต้องใช้เวลาในการทดสอบ ซึ่งวิธีดังกล่าวเกษตรกรหรือผู้ประกอบการ ไม่สามารถจะตรวจสอบเองได้ ต้องส่งวิเคราะห์ในหน่วยงานของรัฐที่มีศักยภาพดังกล่าว และต้องเสียค่าใช้จ่าย ประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อตัวอย่าง และจะต้องใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเกิดปัญหาในการรับซื้อวัตถุดิบ เนื่องจากวัตถุดิบที่รอการวิเคราะห์อาจจะได้รับความเสียหายได้ อันเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อโรค ในขณะเดียวกันเกษตรกรผู้ปลูกวัตถุดิบก็ไม่ทราบว่าควรจะเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อไรถึงจะมีปริมาณสารสำคัญมากเพียงพอ ที่จะเป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพในการผลิตเป็นยารักษาโรค และก็ไม่ทราบว่าวัตถุดิบดังกล่าวมีคุณภาพมากน้อยเพียงใด ทำให้ไม่มีอำนาจในการต่อรองเรื่องราคา  จากงานวิจัยของ สมภพ ประธานธุรารักษ์ และนพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ซึ่งได้ทำการสำรวจปริมาณสารสำคัญของขมิ้นที่เก็บจากแหล่งต่าง ๆ ของประเทศไทย (ได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในปี 2543-45) พบว่าขมิ้นชันเหล่านั้นจะมีปริมาณกลุ่มเคอร์คิวมินอยด์แตกต่างกันอย่างมาก กล่าวคือ มีค่าอยู่ในช่วง 4-20 % ซึ่งในความแตกต่างกันนี้เนื่องมาจากสภาพของภูมิประเทศ อายุของต้น พันธุ์พืช และอายุการเก็บเกี่ยว  ซึ่งผู้วิจัยมีความเห็นว่าถ้าเกษตรกรหรือผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบได้ก่อนที่จะนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ จะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ อันจะเป็นประโยชน์ที่จะตกอยู่กับผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไป

การประดิษฐ์นี้เป็น “ชุดตรวจหาปริมาณสารกลุ่มเคอร์คิวมินอยด์ในขมิ้นชัน” ซึ่งเป็นชุดตรวจสอบในภาคสนามเป็นชุดแรกของประเทศไทย เป็นชุดตรวจสอบเพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบ ซึ่งเป็นวิธีที่เกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบเองได้ ไม่ยุ่งยาก ราคาถูก พกพาสะดวก สามารถตรวจสอบได้ในพื้นที่ และมีความแม่นยำพอสมควร การคิดค้นชุดตรวจสอบนี้จะเป็นทางออกให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ  นอกจากนี้ยังเป็นการยกระดับมาตรฐานของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์จากขมิ้นชันให้มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งวิธีการของชุดตรวจสอบจะแตกต่างจากวิธีการตรวจหาปริมาณของสารกลุ่มเคอร์คิวมินอยด์ในเภสัชตำรับและวารสาร กล่าวคือ วิธีการของชุดตรวจสอบจะเป็นการเปรียบเทียบความเข้มของสีที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมี ส่วนวิธีตามเภสัชตำรับของประเทศไทย จะใช้วิธีวัดความเข้มของการดูดกลืนแสงด้วยเครื่องมืออัลตร้าไวโอเลตสเปกโตรมิเตอร์ ส่วนวิธีที่กล่าวอ้างในวารสารจะเป็นวิธีรงคเลขผิวบาง/เดนซิโตมิตรี และวิธีไฮเพสเชอร์ลิควิดโครมาโทกราฟี ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่สามารถหาปริมาณของสารเคอร์คิวมินอยด์แต่ละตัวได้ ได้แก่ สารเคอร์คิวมิน, เดสเมทธอกซีเคอร์คิวมิน และ บิสเดสเมทธอกซีเคอร์คิวมิน แต่ทั้งสองวิธีหลัง จะต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาแพง ซึ่งได้แก่ เครื่องมือรงคเลขแรงดันสูงและเครื่องมือเดนซิโตมิเตอร์ และทั้งสามวิธีก็เป็นวิธีที่ต้องตรวจสอบโดยผู้ชำนาญการ ต้องใช้เครื่องมือยุ่งยาก ราคาแพง น้ำยาสกัดและน้ำยาตรวจสอบหลายชนิด และต้องใช้เวลาในการตรวจสอบมากพอสมควร

ชุดตรวจหาปริมาณสารกลุ่มเคอร์คิวมินอยด์ในขมิ้นชัน ตามการประดิษฐ์นี้ ประกอบด้วย น้ำยาสกัด

สารเคอร์คิวมินอยด์ (น้ำยา A) น้ำยาตรวจสอบสารเคอร์คิวมินอยด์ (น้ำยา B) แผ่นเทียบสีหาปริมาณ อุปกรณ์สำหรับตรวจหา และขั้นตอนการตรวจหาปริมาณสารกลุ่มเคอร์คิวมินอยด์ในขมิ้นชัน ซึ่งวิธีการตรวจหาปริมาณสารเคอร์คิวมินอยด์ของชุดตรวจสอบ จะตรวจสอบโดยการเปรียบเทียบความเข้มของสีที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมี  ชุดตรวจสอบ 1 ชุด สามารถตรวจสอบได้ 20 การทดลอง  ชุดตรวจสอบนี้จะมีคู่มือการใช้อย่างละเอียด และชุดตรวจสอบนี้ได้ผ่านการประเมินการใช้จากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกขมิ้นชัน และ กลุ่มเภสัชกรของโรงพยาบาลของรัฐที่มีการผลิตผลิตภัณฑ์ขมิ้นชันทั้งในรูปยาแคปซูล และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีขมิ้นชันเป็นส่วนประกอบ



บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


กระเทียมดำ 1 นาทีที่แล้ว
ยาไอซ์ (Ice) 3 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้