เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


เครื่องสำอางกับ “Alcohol free” คืออะไร สำคัญไฉน... มาหาคำตอบกัน


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภก.วีรวัฒน์ ตีรณะชัยดีกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รองศาสตราจารย์ นพ. กุลวัฒน์ ธาดานิพนธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 2,692 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 24/05/2567
อ่านล่าสุด 3 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ปัจจุบันเครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมของผู้บริโภคทุกเพศ ทุกวัย โดยมีให้เลือกซื้อที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอางสำหรับดูแลผิวหน้า ผิวกาย เส้นผม หรือช่องปาก เป็นต้น 

           จากกระแสของการดูแลสุขภาพประกอบความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และความนิยมของผู้บริโภคในการหาข้อมูลต่าง ๆ จากสื่อโซเชียลเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลและใส่ใจการเลือกใช้เครื่องสำอางมากขึ้นเพื่อการดูแลตัวเองโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องสำอาง โดยดูจากส่วนผสมที่ใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางเป็นสำคัญ ซึ่งตาม พรบ. เครื่องสำอาง 2558 ได้กำหนดให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต้องระบุส่วนผสมทุกตัวที่ใช้เป็นส่วนประกอบที่ฉลากของผลิตภัณฑ์ [1]

           หลายคนคงเคยได้ยิน ได้ฟัง หรือได้เห็น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ระบุว่า "Alcohol Free" หรือ "ปราศจากแอลกอฮอล์" ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่หลายคนอาจสงสัยว่า คำว่า "Alcohol Free" หรือ "ปราศจากแอลกอฮอล์" ในเครื่องสำอางคือหมายถึงอะไร และทำไมต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์

           เมื่อพูดถึงแอลกอฮอล์หลายคนจะนึกถึงผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์สเปรย์ ผลิตภัณฑ์เจลล้างมือแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยของมือ แอลกอฮอล์ที่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์น้ำหอม เป็นต้น ซึ่งแอลกอฮอล์ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้แก่ [2]  

  • เอทานอล (ethanol) หรือเอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol)
  • ไอโซโพรพานอล (isopropanol) หรือไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ (isopropyl alcohol)
  • แอลกอฮอล์แปลงสภาพ (alcohol denatured) หรือ
  • เอ็น-โพรพานอล (n-propanol) หรือ เอ็น-โพรพิลแอลกอฮอล์ (n-propyl alcohol)

 

 ซึ่งปริมาณการใช้ของแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นั้นทางคณะกรรมการอาหารและยามีการกำหนดปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ซึ่งขึ้นกับชนิดของผลิตภัณฑ์ ขณะที่แอลกฮอล์บางชนิดเช่น เมทานอล (methanol) หรือเมทิลแอลกอฮอล์ (methyl alcohol) นั้นเป็นวัตถุห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง [3] ซึ่งจัดเป็นสารพิษต่อร่างกาย สามารถดูดซึมได้ทางผิวหนังและลมหายใจ ทำให้หลอดลม ลำคอ เยื่อบุตาอักเสบ หายใจลำบาก เป็นต้น [4]

           สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้ในการดูแลผิว เช่น ครีม โลชัน เซรัม โทนเนอร์ และผลิตภัณฑ์กันแดด บางผลิตภัณฑ์มีการระบุส่วนผสม “Alcohol” หรือ “Alcohol Denat” ที่ฉลากซึ่ง “Alcohol” และ “Alcohol Denat” ที่เป็นส่วนผสมดังกล่าวจะหมายถึง “เอทานอล (ethanol) หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol)” ซึ่งมีสูตรโครงสร้าง CH3CH2OH โดย [5] “Alcohol Denat” นั้นจะมีการเติมสารบางอย่างลงไปเพื่อแปลงสภาพไม่ให้สามารถดื่มได้

ทำไมถึงใส่ “Alcohol” เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ดูแลผิว

เนื่องจากคุณสมบัติในการระเหยง่ายของ “Alcohol” ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ “Alcohol” นั้นแห้งเร็ว ทำให้เมื่อทาบนผิวจะรู้สึกบางเบา ไม่เหนียวเหนอหนะ [6] นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติช่วยขจัดความมัน และทำให้รู้สึกเย็น จึงนิยมใช้เป็นส่วนประกอบของโทนเนอร์ที่ใช้ทำความสะอาดผิว โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีผิวมัน 

           แม้ “Alcohol” จะเป็นสารที่อนุญาตให้ใช้ทางเครื่องสำอาง อย่างไรก็ตามเนื่องจากคุณสมบัติในการเป็นตัวทำละลายที่ดีสำหรับน้ำมันและไขมัน ดังนั้น “Alcohol” สามารถละลายไขมันบนผิวที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของชั้นป้องกันผิว ทำให้ผิวแห้ง เกราะป้องกันผิวอ่อนแอลง [7] ซึ่งทำให้ผู้บริโภคบางรายที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ “Alcohol” เกิดสภาวะผิวแพ้ง่าย ระคายเคืองได้ง่าย และมีความไวต่อสารก่อภูมิแพ้มากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละบุคคล ดังนั้นผู้บริโภคบางส่วนจึงมองหาผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์ “Alcohol” หรือที่ระบุที่ฉลากว่า “Alcohol free” เพื่อหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ “Alcohol” ดังที่กล่าวข้างต้น

           แล้วทำไมผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ cetyl alcohol, stearyl alcohol และ cetostearyl alcohol จึงระบุที่ฉลากว่า “Alcohol Free” ทั้งที่ส่วนผสมมีคำว่า “alcohol” เป็นองค์ประกอบ

           แม้ว่าส่วนประกอบดังกล่าวจะชื่อต่อท้ายว่า “alcohol” แต่ไม่ได้หมายความว่าส่วนผสมดังกล่าวจะมีคุณสมบัติเหมือนกับ “เอทานอล” โดยสารดังกล่าว เช่น ซีทิล แอลกอฮอล์ (cetyl alcohol), สเตียริล แอลกอฮอล์ (stearyl alcohol), บีเฮ็นนิว แอลกอฮอล์ (behenyl alcohol) และ ซีโตสเตียริล แอลกอฮอล์ (cetostearyl alcohol) หรือ ซีเทียริวแอลกอฮอล์ (cetearyl alcohol) เป็นต้น เป็นสารในกลุ่ม “fatty alcohols” ซึ่งเป็นสารที่มีน้ำหนักโมเลกุลที่สูง (high molecular weight) และไม่ระเหย (nonvolatile) ดังนั้นคุณสมบัติของสารในกลุ่ม “fatty alcohols” จึงมีคุณสมบัติที่แตกต่างจาก “Alcohol” ดังที่กล่าวไว้แล้วอย่างมาก โดยสารในกลุ่ม “fatty alcohols” มีคุณสมบัติเป็นสารบำรุงผิว (emollient) เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว ใช้เป็นสารช่วยก่ออิมัลชัน (co-emulsifier) และใช้ในการเพิ่มความหนืดให้กับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มครีม และโลชัน เพื่อเพิ่มความคงตัวให้กับผลิตภัณฑ์

           ดังนั้น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ระบุ “Alcohol Free” จะหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนประกอบของ เอทานอล หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ เป็นส่วนประกอบ หรืออาจจะหมายรวมถึงไอโซโพรพานอล (isopropanol)/ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ (isopropyl alcohol), แอลกอฮอล์แปลงสภาพ (alcohol denatured) หรือเอ็น-โพรพานอล (n-propanol)/เอ็น-โพรพิลแอลกอฮอล์ (n-propyl alcohol) ด้วย

แหล่งอ้างอิง/ที่มา

1. พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558

2. หลักเกณฑ์การพิจารณาการจดแจ้งเครื่องสำอาง (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2564) โดยกลุ่มกำกับดูแลเครื่องสำอางก่อนออกสู่ตลาด กองควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข

3. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2566

4. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ผลการตรวจสอบหรือวิเคราะห์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่พบสารห้ามใช้

5. CosIng - Cosmetics - GROWTH - European Commission. Retrieved May 21, 2024.

6. Alcohol in Skin Care: The Facts | Paula's Choice. (2024, May 21). Alcohol in Skin Care: The Facts | Paula's Choice.

7. Cartner, T et al. “Effect of different alcohols on stratum corneum kallikrein 5 and phospholipase A2 together with epidermal keratinocytes and skin irritation.” International journal of cosmetic science vol. 39,2 (2017): 188-196. doi:10.1111/ics.12364.

เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว
สัตว์เลี้ยงกับยา 1 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้