เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


อันตรายของแสงสีฟ้าต่อสุขภาพดวงตา


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ. บุญธิดา มระกูล์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://www.cwenergyusa.com/sites/defaul...k=FyP4iweE
อ่านแล้ว 14,640 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 12/12/2565
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

แสงสีฟ้าคืออะไร?

แสงสีฟ้า (blue light) เป็นรังสีความยาวคลื่นที่ตามองเห็นได้ สามารถประกอบกับความยาวคลื่นแสงสีอื่นๆ เกิดเป็นแสงสีขาวที่เราเห็นปกติจากดวงอาทิตย์ นอกจากนี้แสงสีฟ้ายังเกิดจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น จอ LED จอคอมพิวเตอร์ จอโทรศัพท์มือถือ และแสงไฟนีออนตามบ้านเรือน แสงสีฟ้ามีความยาวคลื่นสั้นในช่วง 415-455 nm ให้พลังงานสูงใกล้เคียงกับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จึงมีอำนาจในการทะลุทะลวงอวัยวะต่างๆ ได้ โดยเฉพาะดวงตา และก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของดวงตา ตามมา เนื่องจากแสงสีฟ้าสามารถทะลุทะลวงกระจกตา เลนส์แก้วตา ไปจนถึงจอประสาทตาซึ่งอยู่ลึกที่สุดในดวงตาได้ ซึ่งความอันตรายที่เกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะเวลาในการสัมผัสกับแสงดังกล่าว 
 
ภาพจาก : https://statik.tempo.co/data/2017/03/20/id_591646/591646_620.jpg

  1. ผลของแสงสีฟ้าต่อกระจกตา กระจกตาเป็นส่วนที่สัมผัสกับแสงก่อนส่วนอื่น เนื่องจากเป็นบริเวณที่อยู่ด้านหน้าสุดของลูกตา การสัมผัสแสงสีฟ้าจะทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่เซลล์ผิวกระจกตา เกิดการอักเสบ และเกิดภาวะตาแห้ง ภาวะตาแห้งก่อให้เกิดการระคายเคืองของดวงตา หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ผิวกระจกตาเกิดการอักเสบและเกิดรอยแผลบนกระจกตาได้
  2. ผลของแสงสีฟ้าต่อเลนส์แก้วตา แสงสีฟ้าที่ถูกดูดซับบริเวณเลนส์แก้วตาสามารถป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับจอประสาทตาที่อยู่ภายในลูกตา แต่ขณะเดียวกันจะส่งผลทำให้เลนส์แก้วตาเกิดความขุ่นมัวและมีการเปลี่ยนสี แสงสีฟ้าสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดอนุมูลอิสระที่บริเวณเซลล์ของเลนส์แก้วตา เกิดการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนและเกิดเป็นต้อกระจก สารกลุ่ม carotenoid lutein (L) และ zeaxanthin (Z) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบอยู่บริเวณเลนส์แก้วตา สารดังกล่าวสามารถดูดซับแสงสีฟ้าความยาวคลื่นสั้น จึงสามารถปกป้องโปรตีนและ DNA ของเลนส์แก้วตาจากอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นได้
  3. ผลของแสงสีฟ้าต่อจอประสาทตา จอประสาทตาเป็นเซลล์รับแสงและเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่รับภาพทำให้เกิดการมองเห็น แสงสีฟ้าที่ผ่านเลนส์แก้วตาไปสู่จอประสาทตาทำให้เกิดการปลดปล่อยโมเลกุลที่เป็นพิษต่อเซลล์รับแสง (phototoxicity) และเกิดความเสียหายต่อจอประสาทตา ได้แก่ ภาวะเสื่อมของจอประสาทตา (macular degeneration) การส่งสัญญาณการมองเห็นไปยังเส้นประสาทตาเกิดการเสื่อมสภาพ มีอาการตามัว มองเห็นไม่ชัดเจน มองเห็นสีเพี้ยน ตาไม่สู้แสง เกิดจุดดำตรงกลางภาพ และอาจทำให้ตาบอดในที่สุด

นอกจากนี้แสงสีฟ้ายังส่งผลกระทบต่อนาฬิกาชีวภาพของมนุษย์ แสงสีฟ้าเป็นแสงที่กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัว การรับรู้ และความจำ เนื่องจากแสงสีฟ้ามีผลกระทบทำให้เกิดการหลั่งของสาร melatonin ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเพิ่มหรือลดการแสดงออกของ cortisol ในระหว่างช่วงเวลาต่างๆ ของวันจึงมีผลในการควบคุมนาฬิกาชีวภาพและคุณภาพการนอน การได้รับแสงสีฟ้าที่มากเกินไปโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงที่ melatonin อยู่ในระดับสูง แสงสีฟ้าจะไปกระตุ้นสมองให้ยับยั้งการหลั่ง melatonin และเพิ่มการสร้าง cortisol ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนหลับ ทำให้นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท 
 

วิธีการดูแลและปกป้องดวงตาจากแสงสีฟ้า 

  1. ขณะออกแดดภายนอกอาคาร ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีแสงจ้ามากๆ หรือหากจำเป็นต้องทำงานกลางแดด ควรป้องกันให้แสงเข้าสู่ดวงตาน้อยที่สุด โดยการถือร่ม สวมหมวก และเลือกใช้แว่นกันแดดที่มีเลนส์ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกรองรังสี UV ได้ 99-100% และแสงที่มองเห็นได้ 75-90%
  2. ขณะใช้อุปกรณ์หน้าจออิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต ควรสวมแว่นตากรองแสงที่มีสารเคลือบกรองแสงสีฟ้าเพื่อช่วยถนอมดวงตา ทำให้ดวงตารู้สึกสบายขึ้นเมื่อใช้อุปกรณ์หน้าจออิเล็กทรอนิกส์เป็นระยะเวลานาน 
    นอกจากนี้อุปกรณ์หน้าจออิเล็กทรอนิกส์บางรุ่นปัจจุบันยังสามารถปรับโหมดตั้งค่าให้ลดแสงสีน้ำเงินบนหน้าจอ ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอาการตาล้าได้
  3. การปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับดวงตา เช่น การทำงานใช้สายตาในบริเวณที่มีแสงสว่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงการปิดไฟเล่นโทรศัพท์มือถือเนื่องจากในที่มืดรูม่านตาจะขยายทำให้เราได้รับแสงเข้าสู่ดวงตามากขึ้น หลีกเลี่ยงการจ้องหน้าจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงการใช้สายตาในบริเวณที่มีลมแรงเป่าอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากทำให้ตาแห้งและเกิดอาการตาล้าได้
  4. ใช้กฎ 20-20-20 เมื่อใช้สายตาทำงานกับอุปกรณ์หน้าจออิเล็กทรอนิกส์ทุกๆ 20 นาที ควรหยุดพักสายตา 20 วินาที โดยการมองออกไปที่ไกลๆ อย่างน้อย 20 ฟุต หรือทำการกระพริบตาเร็วๆ 20 ครั้งหลังจากนั้น เพื่อลดการเพ่งของดวงตาและผ่อนคลายความตึงเครียด
  5. การใช้น้ำตาเทียมเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตาเมื่อมีอาการตาแห้ง
  6. สารอาหารบำรุงสายตา ลดอาการตาแห้ง ตาล้า และต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ omega-3 fatty acid, bilberry extract, lutein และ zeaxanthin
  7. ทำการตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือผู้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางดวงตา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม และโรคเบาหวาน
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Zhao ZH, Zhou Y, Tan G, Li J. Research progress about the effect and prevention of blue light on eyes. Int J Ophthalmol 2018; 11(12): 1999-2003
  2. Stoddard J. Steps for computer eyestrain relief for people with chronic dry eye. [cited 2022 Dec 1]; Available from:
  3. National Keratoconus Foundation. Digital Eye Strain – Do you know the 20/20/20 rule? [cited 2022 Dec 1]; Available from: https://nkcf.org/digital-eye-strain-know-202020-rule/


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้