เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยารักษาโรคเชื้อราที่เล็บ


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://www.yellowtoenailscured.com/wp-content/uploads/2017/09/best-topical-treatment-for-fingernail-fungus.jpg
อ่านแล้ว 182,084 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 21/10/2564
อ่านล่าสุด 20 นาทีที่แล้ว
https://tinyurl.com/yz2x8ln2
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/yz2x8ln2
 


เล็บเป็นโครงสร้างที่ค่อนข้างแข็ง ช่วยปกคลุมร่างกายส่วนปลายนิ้ว ในบรรดาโรคที่เกิดกับเล็บโรคติดเชื้อราพบได้มากที่สุด อาจเกิดที่แผ่นเล็บหรือเกิดที่โครงสร้างส่วนอื่น การรักษาทำได้ยากและใช้เวลานาน ยาหลักที่ใช้ในการรักษาเป็นยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน โดยเฉพาะเมื่อเป็นโรคในระดับปานกลางถึงรุนแรง การใช้ยาเป็นเวลานานทำให้เสี่ยงต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์จากยาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย แม้จะมียาต้านเชื้อราชนิดรับประทานออกวางจำหน่ายมากมายแต่มียาเพียงไม่กี่ชนิดที่นำมาใช้รักษาโรคเชื้อราที่เล็บ ในบทความนี้ให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับโรคเชื้อราที่เล็บ ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทานและชนิดที่ใช้ภายนอกสำหรับรักษาโรคเชื้อราที่เล็บ การออกฤทธิ์ของยา ผลไม่พึงประสงค์ และข้อแนะนำในการใช้ยารักษาโรคเชื้อราที่เล็บ

โครงสร้างเล็บ

เล็บ (nail) เป็นโครงสร้างที่ค่อนข้างแข็ง เปลี่ยนแปลงมาจากผิวหนัง ทำหน้าที่ปกคลุมร่างกายส่วนปลายนิ้วทั้งนิ้วมือและนิ้วเท้า โครงสร้างเล็บมีหลายส่วน (รูปที่ 1) ได้แก่ แผ่นเล็บ (nail plate) เป็นส่วนที่แข็งมากที่สุด มีลักษณะหนา แบนโค้งและกึ่งโปร่งใส (semitransparent) ประกอบด้วยเซลล์ที่ตายแล้วและเคราติน (keratin) ซึ่งเคราตินเป็นโปรตีนที่โครงสร้างมีลักษณะเป็นเส้นใย (fibrous structural protein) ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของแผ่นเล็บ ถัดลงไปเป็นเนื้อเยื่อใต้แผ่นเล็บ (nail bed) ซึ่งเป็นชั้นผิวหนังที่เปลี่ยนแปลงไป เนื้อเยื่อส่วนนี้มีเส้นประสาท น้ำเหลือง และแขนงเส้นเลือดฝอยกระจายอยู่ทำให้มองเห็นแผ่นเล็บเป็นสีออกชมพู ตรงโคนเล็บเนื้อเยื่อส่วนนี้ต่อกับเมทริกซ์ซึ่งทำหน้าที่สร้างเล็บ (nail matrix) โดยสร้างเซลล์ใหม่เติมลงในแผ่นเล็บ เซลล์บางชนิดในเมทริกซ์มีโปรตีนเคราโตไฮยาลิน (keratohyalin) อยู่เป็นแกรนูลซึ่งจะเปลี่ยนเป็นเคราตินในแผ่นเล็บ เมทริกซ์นี้มองเห็นได้ผ่านแผ่นเล็บบริเวณลูนูลา (lunula) หรือรูปพระจันทร์เสี้ยว ซึ่งลูนูลาเห็นได้ชัดที่นิ้วหัวแม่มือและนิ้วหัวแม่เท้า บนแผ่นเล็บส่วนโคนถัดจากลูนูลาเป็นชั้นหนังหนาใส (cuticle) ช่วยยึดโคนเล็บให้ติดกับเนื้อเยื่อบนโคนเล็บ (proximal nail fold) ส่วนแผ่นเล็บด้านข้างจะฝังตัวลงในเนื้อเยื่อด้านข้างแผ่นเล็บ (lateral nail fold) ทั้งสองด้าน บนแผ่นเล็บด้านปลายนิ้วมองเห็นแถบเนื้อเยื่อใต้แผ่นเล็บส่วนริม (onychodermal band) เป็นสีน้ำตาล ปลายแผ่นเล็บส่วนที่งอกพ้นเนื้อเยื่อผิวหนังริมสุดใต้แผ่นเล็บ (hyponychium) เป็นส่วนที่ตัดทิ้งได้ (free edge of nail) เล็บงอกใหม่ตลอดเวลาจากเมทริกซ์ที่อยู่โคนเล็บ เล็บมือแผ่นใหม่ใช้เวลางอกประมาณ 4-6 เดือน ส่วนเล็บเท้าแผ่นใหม่ใช้เวลางอกประมาณ 9-12 เดือน เล็บหัวแม่มือและเล็บหัวแม่เท้าใช้เวลานานกว่าเล็บอื่น และในเด็กเล็บงอกเร็วกว่าผู้ใหญ่



โรคเชื้อราที่เล็บ

โรคเชื้อราที่เล็บ (onychomycosis) เป็นโรคที่เกิดกับเล็บชนิดที่พบได้มากที่สุด (พบไม่น้อยกว่า 50% ของโรคทั้งหมดที่เกิดกับเล็บ) อาจเกิดที่แผ่นเล็บ เนื้อเยื่อใต้แผ่นเล็บ หรือเมทริกซ์ ในประชากรทั่วโลกพบโรคเชื้อราที่เล็บประมาณ 5.5% (ตามข้อมูลเมื่อไม่นานมานี้) ช่วงอายุและภูมิภาคที่ต่างกันค่าตัวเลขนี้แตกต่างกันได้ ผู้สูงอายุพบได้มากกว่าคนที่อายุน้อย เชื้อก่อโรคส่วนใหญ่เป็นเชื้อราเส้นใย (molds หรือ moulds) ในกลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (dermatophytes) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อราในสกุล (genus) Trichophyton (Trichophyton rubrum และ Trichophyton mentagrophytes พบได้มาก) บางรายงานระบุว่าประมาณ 90% ของโรคเชื้อราที่เล็บเท้าและ 50-75% ของโรคเชื้อราที่เล็บมือเกิดจากเชื้อราในกลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ ซึ่งพวกเดอร์มาโตไฟต์เป็นเชื้อราที่เจริญเติบโตโดยอาศัยเคราตินในหนังกำพร้า (กรณีเกิดโรคที่ผิวหนัง) และในเล็บเป็นอาหาร โรคเชื้อราที่เล็บซึ่งเกิดจากเชื้อรากลุ่มนี้จัดอยู่ในกลุ่มโรค “ทิเนีย (tinea)” เช่นเดียวกับโรคกลากและเกลื้อนที่ผิวหนัง ในกรณีเกิดที่เล็บเรียกว่า “tinea unguium” หรือ “กลากที่เล็บ” ส่วนเชื้อรากลุ่มอื่นที่เป็นสาเหตุของโรคเชื้อราที่เล็บได้เช่นกันแต่พบน้อย ได้แก่ เชื้อราเส้นใยที่ไม่ใช่พวกเดอร์มาโตไฟต์ (เช่น Aspergillus spp., Fusarium spp., Scopulariopsis brevicaulis, Scytalidium dimidiatum) และยีสต์ (เป็นเชื้อราที่มีลักษณะกลมหรือรูปไข่) เช่น แคนดิดา (Candida spp.) ซึ่งเชื้อแคนดิดาเป็นสาเหตุได้ราว 1-2% ของโรคเชื้อราที่เล็บทั้งหมด แต่ในผู้ที่มีการติดเชื้อแคนดิดาบริเวณผิวหนังที่มีรอยพับหรือเยื่อเมือกแบบเรื้อรัง ตลอดจนผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันจะพบการติดเชื้อแคนดิดาที่เล็บมือได้มากขึ้น โดยทั่วไปโรคเชื้อราที่เล็บเท้าพบได้บ่อยกว่าที่เล็บมือ 7-10 เท่า (คือประมาณ 90% เกิดกับเล็บเท้า) โดยเฉพาะเล็บหัวแม่เท้าและพบได้บ่อยว่าเกิดร่วมกับโรคกลากที่เท้า (หรือโรคน้ำกัดเท้า) โรคเชื้อราที่เล็บเท้าพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงในขณะที่โรคเชื้อราที่เล็บมือชนิดที่เกิดจากเชื้อแคนดิดาพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

โรคเชื้อราที่เล็บอาจเกิดบริเวณแผ่นเล็บ เนื้อเยื่อใต้แผ่นเล็บ หรือเมทริกซ์ (โครงสร้างเหล่านี้มีกล่าวแล้วข้างต้น) ลักษณะทางคลินิกของโรคเชื้อราที่เล็บมีได้หลายอย่าง (รูปที่ 2) เช่น แผ่นเล็บมีรอยด่างสีขาว สีเหลือง หรือสีน้ำตาล, ผิวหนังใต้เล็บหนาตัวเป็นขุย (subungual hyperkeratosis), แผ่นเล็บแยก (onycholysis), เล็บเจริญหนาผิดปกติ (onychauxis) มีการจำแนกโรคเชื้อราที่เล็บออกเป็นหลายรูปแบบตามลักษณะรอยโรคที่เกิดกับแผ่นเล็บ เนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อและความรุนแรงของโรค การยืนยันโรคเชื้อราที่เล็บด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการโดยใช้ตัวอย่างที่ได้จากการขูดหรือตัดเล็บตรงที่เป็นโรคทำได้หลายวิธี เช่น การนำไปหยดด้วยสารละลาย 10-20% โปแตสเซียมไฮดรอกไซด์และดูด้วยกล้องจุลทรรศน์, การเพาะเชื้อ, การย้อมสีแบบพิเศษ (periodic acid-Schiff หรือ PAS), การวิเคราะห์โดยวิธีพีซีอาร์ (PCR test หรือ polymerase chain reaction assay) โรคเชื้อราที่เล็บติดต่อโดยการสัมผัสกับเชื้อก่อโรคโดยตรง ซึ่งอาจพบเชื้อได้ที่พรมปูพื้นโรงแรม สถานที่อาบน้ำสาธารณะ พื้นสระว่ายน้ำ อุปกรณ์ทำเล็บของร้านเสริมสวย เป็นต้น กรณีของการเกิดโรคเชื้อราที่เล็บเท้า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องอาจเป็นสภาพอับชื้นประกอบกับมีแรงกดที่เล็บจนบอบช้ำจากการใส่รองเท้าและเกิดรอยแยกที่เล็บ สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้เชื้อราเข้าภายในเล็บได้ ส่วนโรคเชื้อราที่เล็บมือมักเกิดจากการสัมผัสสิ่งที่เปียกชื้นเป็นประจำเนื่องจากการทำงาน อย่างไรก็ตามผู้ที่มีสุขภาพดีทั่วไปการติดเชื้อเกิดขึ้นไม่ง่ายนัก แต่การติดเชื้ออาจเกิดง่ายขึ้นหากเป็น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือโรคเรื้อรังอื่น ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น การเกิดโรคเชื้อราที่เล็บมักเริ่มก่อตัวที่ผิวหนังใต้แผ่นเล็บบริเวณด้านข้างแล้วลามไปยังเนื้อเยื่อใต้แผ่นเล็บ และแผ่นเล็บ เชื้อราในกลุ่มเดอร์มาโตไฟต์มีเอนไซม์ที่สามารถย่อยสลายเคราตินและไขมัน เมื่อมีการกำจัดเคราตินออกไปแล้วเชื้อราสามารถแทรกเข้าในเล็บได้ดีขึ้นและเจริญอยู่ในนั้น ผู้ที่เป็นโรคกลากที่เท้า (หรือโรคน้ำกัดเท้า) ควรรีบรักษาเนื่องจากเชื้อราอาจลุกลามไปที่เล็บได้



ยารักษาโรคเชื้อราที่เล็บ

การรักษาโรคเชื้อราที่เล็บทำได้หลายวิธี เช่น การใช้ยาต้านเชื้อรา, การรักษาด้วยแสงเลเซอร์, การรักษาด้วยสารไวแสงซึ่งต้องใช้ร่วมกับแหล่งกำเนิดแสง (photodynamic therapy), การถอดแผ่นเล็บออกโดยการผ่าตัดหรือหรือใช้สารเคมี (เช่น ยูเรียเข้มข้น) ในกรณีที่รักษาด้วยยาจะใช้เวลานานจึงเสี่ยงต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์ของยาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะโรคเชื้อราที่เล็บเท้าจะใช้เวลาในการรักษานานกว่าโรคเชื้อราที่เล็บมือ ด้วยเหตุนี้ก่อนการรักษาควรผ่านการยืนยันโรคด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการ เพราะรอยผิดปกติที่เกิดขึ้นบนแผ่นเล็บอาจเกิดจากเหตุอื่น ยาชนิดรับประทานเป็นยาที่เลือกนำมาใช้ในการรักษาโรคที่เป็นในระดับปานกลางถึงรุนแรง ยาที่ใช้ภายนอกใช้กับโรคที่เป็นเล็กน้อยจนถึงปานกลาง เนื่องจากมีประสิทธิภาพด้อยกว่าและต้องใช้นานกว่ายาชนิดรับประทาน อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยาชนิดที่ใช้ภายนอกมีบทบาทมากขึ้นในการรักษาโรคเชื้อราที่เล็บเมื่อใช้ร่วมกับวิธีการอื่น เช่น การใช้แสงเลเซอร์ การใช้สารเคมี การตัดเอาเล็บบางส่วนออก ซึ่งวิธีการเหล่านี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยา นอกจากนี้อาจใช้ร่วมกับยาชนิดรับประทานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา


ยารักษาโรคเชื้อราที่เล็บชนิดรับประทาน

ยาชนิดรับประทานเป็นยาที่เลือกนำมาใช้ในการรักษาโรคเชื้อราที่เล็บที่เป็นในระดับปานกลางถึงรุนแรงทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีประสิทธิภาพสูงกว่ายาชนิดที่ใช้ภายนอกและใช้เวลารักษาสั้นกว่า แต่มีผลไม่พึงประสงค์มากกว่าอีกทั้งยังเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นได้มากหากมีการใช้ร่วมกัน ยาชนิดรับประทานใช้รักษาโรคเชื้อราที่เล็บได้ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะเมื่อเกิดที่เล็บเท้าหลายเล็บ (มากกว่า 50%) หรือโรคลุกลามไปยังเมทริกซ์ หรือมีรอยโรคบนแผ่นเล็บเป็นแนวยาวหรือเป็นปื้นสีขาวหรือสีเหลืองอันเกิดจากเส้นใยและสปอร์รา (dermatophytoma) ในการใช้ยาอาจใช้อย่างต่อเนื่องหรือใช้แบบเว้นระยะโดยมีช่วงที่หยุดยา ซึ่งขึ้นกับยาแต่ละชนิด การใช้ยาชนิดรับประทานร่วมกับชนิดที่ใช้ภายนอกอาจเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา โดยใช้ไปพร้อมกันหรือยาชนิดที่ใช้ภายนอกใช้ภายหลังหยุดยาชนิดรับประทานเมื่อโรคมีอาการน้อยลงแล้ว ทั้งนี้ควรปรับการใช้ยาให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย แม้ว่าขณะนี้จะมียาต้านเชื้อราหลายชนิดที่มีประสิทธิภาพดี แต่การใช้รักษาโรคเชื้อราที่เล็บต้องใช้ยานานทำให้มีข้อจำกัดด้านผลไม่พึงประสงค์ของยา จึงมียาเพียงไม่กี่ชนิดที่นำมาใช้ดังที่จะกล่าวถึงข้างล่างนี้ (สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบยา ความแรงและวิธีใช้ ให้ดูตารางที่ 1)
  1. กลุ่มอัลลิลามีน (allylamine antifungals) ได้แก่ เทอร์บินาฟีน (terbinafine) ซึ่งเป็นยาที่เลือกใช้เป็นอันดับแรกในการรักษาโรคเชื้อราที่เล็บ ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา (fungicidal) ให้ผลการรักษาดีมีอัตราหายสูง ผลการรักษาเห็นได้ชัดเจนหลังจากกำจัดเชื้อราและหยุดการรักษาแล้วหลายเดือนเมื่อมีเล็บใหม่งอกมาทดแทน
  2. กลุ่มเอโซล (azole antifungals) เป็นยากลุ่มใหญ่ ยาที่นำมาใช้มีทั้งยาพวกอนุพันธ์อิมิดาโซล (imidazole antifungals) และอนุพันธ์ไตรอะโซล (triazole antifungals) ยาเหล่านี้ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและการเพิ่มจำนวนของเชื้อรา (fungistatic) อย่างไรก็ตามมียาชนิดรับประทานเพียงไม่กี่ชนิดที่นำมาใช้รักษาโรคเชื้อราที่เล็บ ส่วนใหญ่เป็นพวกอนุพันธ์ไตรอะโซล ตัวอย่างได้แก่ ไอทราโคนาโซล (itraconazole) และฟลูโคนาโซล (fluconazole) ยาเหล่านี้มีผลไม่พึงประสงค์และเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นได้มากกว่าเทอร์บินาฟีน แต่ไอทราโคนาโซลออกฤทธิ์ครอบคลุมเชื้อก่อโรคได้กว้างจึงเป็นยาที่นำมาใช้เมื่อไม่อาจใช้เทอร์บินาฟีน ส่วนฟลูโคนาโซลมีขอบเขตในการออกฤทธิ์ต่อเชื้อราแคบกว่าไอทราโคนาโซลแต่มีข้อดีที่ว่ายาออกฤทธิ์ได้นานจึงรับประทานเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ฟลูโคนาโซลนำมาใช้รักษาโรคเชื้อราที่เล็บเมื่อไม่อาจใช้เทอร์บินาฟีนและไอทราโคนาโซล ส่วนยาอื่น ๆ มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลไม่พึงประสงค์ได้มากรวมถึงคีโตโคนาโซล (ketoconazole) ซึ่งเป็นยาพวกอนุพันธ์อิมิดาโซล จึงควรหลีกเลี่ยงในการนำมาใช้รักษาโรคเชื้อราที่เล็บ
  3. กริซีโอฟูลวิน (griseofulvin) เป็นยาที่มีใช้มานานแล้ว ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและการเพิ่มจำนวนของเชื้อรา มีประสิทธิภาพด้อยกว่ายาที่กล่าวข้างต้นจึงต้องใช้เวลาในการรักษานานกว่ายาอื่น อีกทั้งมีผลไม่พึงประสงค์มากกว่าด้วย ปัจจุบันจึงใช้ยานี้น้อยลง
ยารักษาโรคเชื้อราที่เล็บชนิดที่ใช้ภายนอก

เล็บเป็นโครงสร้างที่ค่อนข้างแข็งและหนาทำให้ยาชนิดที่ใช้ภายนอกผ่านเข้าเล็บได้ไม่ดี แม้ยาชนิดที่ใช้ภายนอกจะมีผลไม่พึงประสงค์น้อยกว่ายาชนิดรับประทานแต่ยามีประสิทธิภาพด้อยกว่าและใช้เวลาในการรักษานานกว่า จึงใช้ในรายที่มีอาการน้อยจนถึงอาการปานกลาง เช่น โรคเชื้อราชนิดเป็นที่ผิวเล็บ (superficial onychomycosis หรือ white superficial onychomycosis) ที่ไม่ลุกลามไปถึงเมทริกซ์ ให้ผลดีในการรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อราในกลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ อาจนำมาใช้เดี่ยวเมื่อมีข้อห้ามใช้ยาชนิดรับประทานหรือทนต่อผลไม่พึงประสงค์ของยาชนิดรับประทานไม่ได้ หรือนำมาใช้ร่วมกับยาชนิดรับประทานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา อย่างไรก็ตามในการใช้ร่วมกับยาชนิดรับประทานบางผลิตภัณฑ์อาจไม่แนะนำเนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษาสนับสนุน (เช่น ไซโคลพิร็อกซ์ชนิดแลกเกอร์ทาเล็บ 8%) การใช้ยาชนิดที่ใช้ภายนอกนี้เมื่อใช้ร่วมกับวิธีการอื่น เช่น การใช้แสงเลเซอร์ การใช้สารเคมี การตัดเอาเล็บบางส่วนออก จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาดังได้กล่าวแล้วข้างต้น ยาชนิดที่ใช้ภายนอกให้ผลการรักษาในเด็กดีกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กมีแผ่นเล็บบางกว่าและมีอัตราการเจริญของเล็บเร็วกว่าผู้ใหญ่จึงมีเล็บใหม่งอกทดแทนได้เร็ว ยาที่ใช้ภายนอกมีทั้งยาครีม ยาน้ำใส และยาแลกเกอร์ (อาจมีรูปแบบอื่น ๆ อีก) ซึ่งยาน้ำใสจะแทรกซึมได้ดีกว่ายาทารูปแบบอื่น ส่วนยาแลกเกอร์จะอยู่ที่เล็บได้นานกว่า การทายาครีมและยาน้ำใสให้ทาทั่วเล็บที่เป็นโรคและผิวหนังที่อยู่ติดกับเล็บ แต่ยาแลกเกอร์ให้ทาเฉพาะที่เล็บ (ไม่ทาผิวหนังที่อยู่ติดกับเล็บ) ยาชนิดที่ใช้ภายนอกที่จะกล่าวถึงมีดังนี้ (สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบยา ความแรงและวิธีใช้ ให้ดูตารางที่ 1)
  1. กลุ่มเอโซล (azole antifungals) ชนิดที่นำมาใช้ภายนอกส่วนใหญ่เป็นยาพวกอนุพันธ์อิมิดาโซล เช่น ไมโคนาโซล (miconazole), ไบโฟนาโซล (bifonazole), ทิโอโคนาโซล (tioconazole), อีโคนาโซล (econazole) มีเป็นส่วนน้อยที่เป็นยาพวกอนุพันธ์ไตรอะโซล เช่น เอฟินาโคนาโซล (efinaconazole)
  2. กลุ่มมอร์โฟลีน (morpholine antifungals) เช่น อะโมรอลฟีน (amorolfine)
  3. กลุ่มไฮดรอกซีไพริดีน (hydroxypyridine antifungals) เช่น ไซโคลพิร็อกซ์ (ciclopirox)
  4. กลุ่มออกซาบอรอล (oxaborole antifungals) เช่น ทาวาบอรอล (tavaborole)


ยารักษาโรคเชื้อราที่เล็บออกฤทธิ์อย่างไร?

ยารักษาโรคเชื้อราที่เล็บมีทั้งชนิดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและการเพิ่มจำนวนของเชื้อรา และชนิดที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา ยากลุ่มต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นมีการออกฤทธิ์หลายอย่าง อาจรบกวนการสร้างหรือการทำหน้าที่ของเยื่อหุ้มเซลล์ (cell membrane), ยับยั้งการสังเคราะห์สารสำคัญต่อการดำรงชีพของเชื้อรา เช่น กรดนิวคลีอิก, โปรตีน, สารเออร์โกสเตอรอล (ergosterol) เป็นต้น ซึ่งเออร์โกสเตอรอลมีบทบาทหลายอย่างต่อเซลล์ราและเป็นองค์ประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ ราจะดำรงชีพไม่ได้ถ้าขาดสารนี้ การสังเคราะห์เออร์โกสเตอรอลอาศัยการทำงานของเอนไซม์หลายชนิด เอนไซม์เหล่านั้นจึงเป็นเป้าหมายในการออกฤทธิ์ของยาต้านเชื้อรา เช่น ยาในกลุ่มเอโซลไม่ว่าจะเป็นพวกอนุพันธ์อิมิดาโซลหรืออนุพันธ์ไตรอะโซล (ตัวอย่างยามีกล่าวแล้วข้างต้น) ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ลาโนสเตอรอล-14-แอลฟา-ดีเมทิเลส (lanosterol 14-alpha-demethylase), อะโมรอลฟีนออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์สเตอรอล-เดลตา-14-รีดักเทส (sterol Δ14-reductase) และเอนไซม์สเตอรอล-เดลตา 8-เดลตา 7-ไอโซเมอเรส (sterol Δ8,Δ7-isomerase), เทอร์บินาฟีนออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์สควาลีนโมโนออกซิจีเนส (squalene monooxygenase) หรือมีชื่ออื่นว่าสควาลีนอีพอกซิเดส (squalene epoxidase) เมื่อยับยั้งการทำงานของเอนไซม์เหล่านี้นอกจากทำให้ขาดเออร์โกสเตอรอลแล้ว ยังทำให้เกิดสะสมสารซึ่งไม่ถูกเอนไซม์นำไปใช้จนทำให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ราและทำให้ราตายได้ (เช่น เทอร์บินาฟีนที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อราได้) นอกจากนี้ยังมีการออกฤทธิ์อย่างอื่น เช่น อนุพันธ์อิมิดาโซลบางชนิดมีฤทธิ์ลดการอักเสบได้โดยลดการชุมนุมของเม็ดเลือดขาว, ลดการสังเคราะห์สารก่อการอักเสบพวกลิวโคไตรอีน (leukotrienes) และพรอสตาแกลนดิน (prostaglandins), ลดการหลั่งฮีสตามีน (histamine) จากแมสต์เซลล์ (mast cells) ซึ่งฮีสตามีนทำให้หลอดเลือดขยายและยังเกี่ยวข้องกับอาการคัน ด้วยเหตุนี้นอกจากยาออกฤทธิ์กำจัดชื้อราแล้วยังช่วยทุเลาอาการของโรคอีกด้วย

ส่วนการออกฤทธิ์ของยาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการสังเคราะห์เออร์โกสเตอรอล เช่น กรณีของกริซีโอฟูลวินซึ่งฤทธิ์ในการหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรานั้นอาจออกฤทธิ์รบกวนการทำหน้าที่ของไมโครทิวบูล (microtubule) ทำให้หยุดวงจรชีวิตของเชื้อรา, ทาวาบอรอลออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ลิวซีล-ทีอาร์เอ็นเอซินเทเทส (leucyl-tRNA synthetase) ทำให้เชื้อราสังเคราะห์โปรตีนไม่ได้, ไซโคลพิร็อกซ์อาจออกฤทธิ์รบกวนการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิกและการสังเคราะห์โปรตีน ตลอดจนอาจมีผลโดยตรงในการรบกวนคุณสมบัติของเยื่อหุ้มเซลล์จนทำหน้าที่ไม่ได้

ยารักษาโรคเชื้อราที่เล็บถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบร่างกายได้มากหรือน้อยเพียงใด?

กรณีที่เป็นยาชนิดรับประทาน ต้องการให้ยาถูกดูดซึมได้ดีจากทางเดินอาหาร เพื่อให้ยาเข้าสู่กระแสเลือดและกระจายไปยังเมทริกซ์ เนื้อเยื่อใต้แผ่นเล็บ และบริเวณอื่นที่ติดเชื้อรารวมถึงชั้นที่มีเคราตินในเล็บ (ยาบางชนิดสะสมอยู่ในแผ่นเล็บหลายเดือนหลังหยุดรับประทาน) ทำให้ยามีประสิทธิภาพดีแต่จะเกิดผลไม่พึงประสงค์ต่อระบบทั่วร่างกายได้ ซึ่งยาชนิดรับประทานตามที่กล่าวข้างต้น (เทอร์บินาฟีน ไอทราโคนาโซล ฟลูโคนาโซลและกริซีโอฟูลวิน) ล้วนถูกดูดซึมได้ดีจากทางเดินอาหาร การรับประทานพร้อมอาหารไม่รบกวนการดูดซึมยาเหล่านี้ นอกจากนี้อาหารยังช่วยเพิ่มการดูดซึมไอทราโคนาโซลและกริซีโอฟูลวินโดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง

ส่วนยาชนิดที่ใช้ภายนอก ต้องการให้ยาสามารถแทรกซึมไปทั่วแผ่นเล็บที่เป็นโรครวมถึงเนื้อเยื่อใต้แผ่นเล็บ แต่ไม่ต้องการให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลไม่พึงประสงค์ต่อระบบทั่วร่างกาย ด้วยเหตุนี้ยาชนิดที่ใช้ภายนอกจึงให้ผลไม่เพียงพอในการรักษาโรคเชื้อราที่เล็บหากเป็นรุนแรง ยาที่ใช้ภายนอกที่กล่าวในบทความนี้หลายชนิดถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อยหรือน้อยมากจนไม่มีนัยสำคัญที่จะทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ต่อระบบทั่วร่างกาย มีเพียงบางชนิดที่ถูกดูดซึมได้ดี อย่างไรก็ตามเมื่อใช้ในรูปแบบ ความแรงและวิธีใช้ตามที่ระบุไว้ในตารางที่ 1 นั้น ยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณน้อยและมีผลไม่พึงประสงค์ต่อระบบทั่วร่างกายเพียงเล็กน้อย

ยารักษาโรคเชื้อราที่เล็บใช้นานเพียงใด?

โรคเชื้อราที่เล็บรักษาหายได้แต่จะใช้เวลานานหลายเดือนหรืออาจนานเป็นปี จึงควรใช้ยาตามขนาดและระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์ กรณีที่เป็นยาชนิดรับประทานใช้นานราว 3-6 เดือน ส่วนยาที่ใช้ภายนอกใช้นานราว 6-12 เดือน ซึ่งขึ้นกับชนิดของยา เล็บมือหรือเล็บเท้าที่เกิดการติดเชื้อและความรุนแรงของโรค ภายหลังการรักษาจนเชื้อราหมดแล้วให้ใช้ยาต่อไปอีก 10 วันหรืออย่างน้อย 1 สัปดาห์ ส่วนสภาพเล็บจะเป็นปกติต่อเมื่อมีเล็บใหม่งอกมาทดแทน

ผลไม่พึงประสงค์ของยารักษาโรคเชื้อราที่เล็บ

ยารักษาโรคเชื้อราที่เล็บไม่ว่าจะเป็นยาชนิดรับประทานหรือยาที่ใช้ภายนอกล้วนต้องใช้เป็นเวลานานหลายเดือนหรืออาจนานเป็นปี จึงอาจเกิดผลไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ได้


ผลไม่พึงประสงค์ของยาชนิดรับประทาน ยาชนิดรับประทานออกฤทธิ์ต่อระบบทั่วร่างกายได้ จึงอาจเกิดผลไม่พึงประสงค์ได้หลายอย่าง เช่น

-- การแพ้ยา (เกิดผื่นขึ้น ลมพิษ ริมฝีปากบวม ขอบตาบวม เป็นต้น) อาจเกิดกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Steven-Johnson syndrome) ตลอดจนเกิดอาการทางผิวหนังรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตแต่พบน้อย หากเกิดอาการดังกล่าวให้หยุดยาทันทีและเข้ารับการรักษา และไม่ใช้ยาชนิดนั้นอีก

-- การใช้ยาเป็นเวลานานอาจรบกวนการทำงานของตับและไต และยาบางชนิดอาจทำให้เม็ดเลือดขาวน้อยลง

-- อาการอื่น เช่น คลื่นไส้, อาเจียน, เบื่ออาหาร, แสบอก, ทางเดินอาหารปั่นป่วน, ท้องเดินหรือท้องผูก, ปวดศีรษะ, การรับรสเปลี่ยนแปลง, เวียนศีรษะ, อ่อนล้า, ง่วงนอนหรือนอนไม่หลับ, สับสน, อารมณ์เปลี่ยนแปลง, ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน (paresthesia), ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง, ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ, ปวดกล้ามเนื้อ

-- นอกจากนี้อาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่ใช้ร่วมกัน ซึ่งต้องระวังอย่างมากเมื่อใช้ร่วมกับยาบางชนิด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด และยารักษาโรคเชื้อราอาจรบกวนประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน

ผลไม่พึงประสงค์ของยาชนิดที่ใช้ภายนอก ยาที่สัมผัสผิวหนังรอบเล็บอาจทำให้เกิดอาการระคายผิว ผิวแห้ง ผิวแดง แสบร้อน คัน ส่วนอาการที่รุนแรง เช่น ผิวหนังอักเสบจากการแพ้ยา (allergic contact dermatitis) ผื่นขึ้น ลมพิษ เกิดตุ่มพอง พบได้ยาก หากเกิดอาการที่รุนแรงเหล่านี้ไม่ควรใช้ยาชนิดนั้นอีก ส่วนที่แผ่นเล็บอาจพบว่าเล็บมีสีเปลี่ยนไป เล็บมีรอยแยก และเล็บหักง่าย สำหรับยาบางอย่างที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้บ้าง อาจมีผลไม่พึงประสงค์ต่อระบบทั่วร่างกายเหมือนยาชนิดรับประทานที่กล่าวข้างต้นได้


ข้อแนะนำในการใช้ยารักษาโรคเชื้อราที่เล็บ
  1. โรคเชื้อราที่เล็บรักษาหายได้แต่ต้องใช้เวลานานเป็นเดือนหรืออาจเป็นปี อีกทั้งยังกลับมาเป็นซ้ำได้ จึงควรให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ยาตามขนาดและระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับยาแต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดรับประทานหรือยาที่ใช้ภายนอก
  2. ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรหากมีการใช้ยาใดอยู่ก่อน เพราะอาจเกิดปฏิกิริยากับยารักษาโรคเชื้อราชนิดรับประทานหากใช้ร่วมกัน
  3. การใช้ยาชนิดที่ใช้ภายนอกมีข้อควรปฏิบัติดังนี้

    -- ก่อนทายา ควรตัดและตะไบเล็บ พร้อมทั้งทำความสะอาดและเช็ดเล็บให้แห้ง

    -- การทายาครีมและยาน้ำใสให้ทาทั่วเล็บที่เป็นโรคและผิวหนังที่อยู่ติดกับเล็บ แต่ยาแลกเกอร์ให้ทาเฉพาะที่เล็บ (ไม่ทาผิวหนังที่อยู่ติดกับเล็บ)

    -- หากทายาวันละ 1 ครั้งควรทาเวลาเดิมทุกวัน และอาจเลือกทาตอนก่อนนอน

    -- ภายหลังทายาชนิดน้ำใสให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำสบู่เพราะน้ำสบู่อาจชะยาออกไป และภายหลังทายาแลกเกอร์หากต้องสัมผัสน้ำยาประเภทสารอินทรีย์ควรสวมถุงมือ

    -- อย่าให้ยาสัมผัสตา จมูก ปาก หรือเยื่อเมือกต่าง ๆ ไม่ว่าจะสัมผัสยาโดยตรงหรือสัมผัสยาที่ทาบนเล็บมือ

    -- ยาอาจมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ จึงไม่ควรอยู่ใกล้ความร้อนหรือเปลวไฟ ไม่ว่าจะเป็นขณะที่ทายาหรือการเก็บยา

    -- ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ก่อนใช้ยาควรศึกษาวิธีใช้จากเอกสารที่เป็นข้อมูลของแต่ละผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด
  4. หากแพ้ยาชนิดใดไม่ให้ใช้ยานั้นอีก กรณีเป็นยาที่ใช้ภายนอกให้รีบเช็ดยาที่ทานั้นออกไป
  5. ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดรับประทานและชนิดที่ใช้ภายนอก ภายหลังใช้ยาจนรักษาหายแล้ว ควรใช้ต่อไปอีก 10 วันหรืออย่างน้อย 1 สัปดาห์
  6. เข้ารับการตรวจร่างกายตามนัดแม้จะได้รับชนิดเดิม เพื่อเฝ้าระวังผลไม่พึงประสงค์ของยาที่อาจเกิดขึ้น
  7. นอกเหนือจากการใช้ยา ควรรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล หมั่นตัดเล็บให้สั้นและตัดอย่างถูกวิธี (ไม่ตัดเซาะด้านข้าง) ดูแลเล็บไม่ให้อับชื้น ใส่รองเท้าที่ระบายอากาศได้ดีและไม่ใช้รองเท้าร่วมกับผู้อื่น รักษาเท้าให้แห้งอยู่เสมอ หากต้องสวมถุงเท้าควรเป็นถุงเท้านุ่มที่ซับความชื้นได้ดี เชื้อราที่เล็บติดต่อได้โดยการสัมผัสจึงไม่ควรเดินเท้าเปล่าโดยเฉพาะในสถานที่สาธารณะ และหากเป็นกลากที่เท้าหรือโรคน้ำกัดเท้า ควรรีบรักษาเนื่องจากเชื้อราอาจลุกลามมาที่เล็บได้


เอกสารอ้างอิง
  1. Fungal infections of the skin, hair, and nails. In: Wolff K, Johnson R, Saavedra AP, Roh EK, eds. Fitzpatrick's Color Atlas and Synopsis of Clinical Dermatology, 8e. McGraw Hill, 2017. https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=2043§ionid=154894494. Accessed: October 8, 2021.
  2. Leung AKC, Lam JM, Leong KF, Hon KL, Barankin B, Leung AAM, et al. Onychomycosis: an updated review. Recent Pat Inflamm Allergy Drug Discov 2020; 14:32-45.
  3. Kovitwanichkanont T, Chong AH. Superficial fungal infections. Aust J Gen Pract 2019; 48:706-11.
  4. Bodman MA, Krishnamurthy K. Onychomycosis, updated: August 3, 2021. In: StatPearls. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2021 Jan–. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK441853/. Accessed: October 8, 2021.
  5. Johnson C, Sinkler MA, Schmieder GJ. Anatomy, shoulder and upper limb, nails, updated: June 12, 2021. In: StatPearls. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2021 Jan–. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK534769/. Accessed: October 8, 2021.
  6. Westerberg DP, Voyack MJ. Onychomycosis: current trends in diagnosis and treatment. Am Fam Physician 2013; 88:762-70.
  7. de Berker D. Nail anatomy. Clin Dermatol 2013; 31:509-15.
  8. Gupta AK, Mays RR, Versteeg SG, Piraccini BM, Takwale A, Shemer A, et al. Global perspectives for the management of onychomycosis. Int J Dermatol 2019; 58:1118-29.
  9. Gupta AK, Stec N. Recent advances in therapies for onychomycosis and its management. F1000Res 2019. doi: 10.12688/f1000research.18646.1. Accessed: October 8, 2021.
  10. Gupta AK, Stec N, Summerbell RC, Shear NH, Piguet V, Tosti A, et al. Onychomycosis: a review. J Eur Acad Dermatol Venereol 2020; 34:1972-90.
  11. Sprenger AB, Purim KSM, Sprenger F, Queiroz-Telles F. A week of oral terbinafine pulse regimen every three months to treat all dermatophyte onychomycosis. J Fungi (Basel) 2019. doi: 10.3390/jof5030082. Accessed: October 8, 2021.
  12. Aggarwal R, Targhotra M, Kumar B, Sahoo PK, Chauhan MK. Treatment and management strategies of onychomycosis. J Mycol Med 2020. doi: 10.1016/j.mycmed.2020.100949. Accessed: October 8, 2021.
  13. Shen JJ, Jemec GBE, Arendrup MC, Saunte DML. Photodynamic therapy treatment of superficial fungal infections: a systematic review. Photodiagnosis Photodyn Ther 2020. doi: 10.1016/j.pdpdt.2020.101774. Accessed: October 8, 2021.
  14. MIMS drug information. https://www.mims.com/thailand/. Accessed: October 8, 2021.
  15. RxList - The Internet Drug Index for prescription drug information. https://www.rxlist.com/script/main/hp.asp. Accessed: October 8, 2021.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


โรคย้ำคิดย้ำทำ 3 วินาทีที่แล้ว
ท้องผูกจากยา 6 วินาทีที่แล้ว
มะเขือเทศ กับ ไลโคพีน 19 วินาทีที่แล้ว
ว่านชักมดลูก 25 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้