Eng |
อาจารย์ ดร.ภก.วสุ ศุภรัตนสิทธิ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ต้อกระจก เป็นปัญหาทางการมองเห็นที่สำคัญและนำไปสู่ภาวะตาบอดได้หากไม่ได้รักษา องค์การอนามัยโลกประมาณว่า 94 ล้านคนทั่วโลก มีปัญหาต้อกระจกที่รุนแรงปานกลางจนถึงขั้นประสบปัญหาตาบอด สำหรับประเทศไทยมีการสำรวจสถานการณ์โรคตาระหว่างปี พ.ศ. 2546 – 2560 พบว่า มีผู้ป่วยตาบอดร้อยละ 0.59 สายตาเลือนรางร้อยละ 1.57 โดยมีสาเหตุมาจากต้อกระจก ต้อหิน ภาวะตาบอดในเด็ก ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา และกระจกตาขุ่น ซึ่งจากสาเหตุทั้งหมด “ต้อกระจก” เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสามารถรักษาให้หายได้
ภาพจาก : https://huffmanandhuffman.com/wp-content/uploads/cataract-before-after.jpg
ต้อกระจก คือ โรคที่เลนส์แก้วตามีความขุ่นเกิดขึ้น โดยปกติแล้วเลนส์แก้วตาจะมีลักษณะเหลืองใส แต่เมื่อเลนส์ตาขุ่นมากขึ้นจะบังแสง ทำให้แสงเข้าสู่ด้านในของดวงตาและไปกระทบที่จอประสาทตาได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้ภาพที่เห็นเบลอ ไม่ชัดเจน บางครั้งผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการที่เหมือนเห็นหมอกบังตา ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80.00 เกิดจากความเสื่อมตามอายุ โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป เรียกว่า ต้อกระจกในผู้สูงอายุ (senile cataract) อีกส่วนหนึ่งประมาณร้อยละ 20.00 เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ต้อกระจกแต่กำเนิด ทั้งยังมีปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่มีผลทำให้เกิดต้อกระจกได้ เช่น การสูบบุหรี่ แสงแดดที่มีรังสีอัลตราไวโอเลต (ultraviolet) ภาวะน้ำตาลสูงในโรคเบาหวาน การใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน อุบัติเหตุที่มีผลกับลูกตา และภาวะสายตาสั้นรุนแรง (high myopia)
ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงกลไกการเกิดต้อกระจกที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน อาจมาจากเลนส์ตาที่มีความหนามากขึ้น ขุ่นขึ้น มีเม็ดสีมากขึ้น รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงของสารภายในเลนส์ตา เช่น โปรตีนในเลนส์ตา น้ำ รวมถึงเกลือแร่ต่าง ๆ
โดยทั่วไปอาการของต้อกระจกมักสังเกตในช่วงเริ่มต้นได้ยาก แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ผู้ป่วยจะเริ่มมองเห็นได้ไม่ชัดเจน เห็นภาพเบลอ เห็นภาพซ้อน หรือเห็นลักษณะเหมือนหมอกบังตา ต้องใช้แสงสว่างมากขึ้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การอ่านหนังสือ แพ้แสง และหากมีอาการของต้อกระจกรุนแรง เรียกว่า ต้อกระจกสุก (mature cataract) อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากภาวะนี้ได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา ปวดศีรษะ ความดันในตาสูงขึ้น เป็นต้น
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโดยใช้ยา จะมีการรักษาเฉพาะการผ่าตัด อาจใช้คำว่า “ลอกต้อกระจก” ซึ่งเป็นการผ่าตัดนำเลนส์ตาเดิมออก และใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทน การผ่าตัดต้อกระจกเป็นการผ่าตัดเล็ก มักทำโดยการฉีดยาชาเฉพาะที่และหยอดยาชา โดยทั่วไปจะใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 1 ชั่วโมง ในหลายโรงพยาบาลจะมีการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (one day surgery) ทำให้ผู้ป่วยสะดวกมากขึ้น อีกทั้งหลังผ่าตัดยังใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน เพียงแค่ต้องระวังหลังผ่าตัด เช่น ระวังไม่ให้น้ำเข้าตาและขยี้ตาประมาณ 4 สัปดาห์ เพื่อให้แผลติดสนิท รวมทั้งไม่ควรยกของหนักประมาณ 2 – 3 สัปดาห์หลังผ่าตัด เป็นต้น ทั้งนี้การพิจารณาผ่าตัดต้อกระจกขึ้นอยู่กับดุลพินิจของจักษุแพทย์
สำหรับเรื่องวิตามินที่ใช้ในการป้องกันการเกิดต้อกระจกยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย บางการศึกษาพบประโยชน์ จากการรับประทานวิตามินซีและวิตามินอี อย่างไรก็ตามผู้ป่วยต้อกระจกในผู้สูงอายุ การรับประทานวิตามินซี วิตามินอี เบตาแคโรทีน สังกะสี และทองแดง ยังไม่สามารถลดการเปลี่ยนแปลงของเลนส์ตาที่นำไปสู่การเกิดต้อกระจกได้
จะเห็นได้ว่า ต้อกระจกไม่ได้เป็นโรคที่ร้ายแรง หากแต่เป็นภัยเงียบที่หากไม่รักษาอย่างทันท่วงที อาจนำไปสู่สาเหตุทำให้ตาบอดได้ นอกจากนั้นการรักษาต้อกระจกไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ดังนั้นหากมีปัญหาทางสายตา และกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับท่านเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้ยา และอย่าลืมว่า “มีปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกรนะครับ”