เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาทาภายนอก...ออกฤทธิ์ที่ไหน?


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://thenewsstrike.com/wp-content/uploads/2019/12/eczema-2.jpg
อ่านแล้ว 31,317 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 30/12/2563
อ่านล่าสุด 4 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ยาทาภายนอกในบทความนี้หมายถึงยาที่ใช้ทาผิวหนัง ไม่ว่ายาจะอยู่ในรูปของเหลว ครีม เจล หรือขี้ผึ้ง ใช้รักษาโรคหรือการบาดเจ็บที่เกิดกับผิวหนังซึ่งส่วนใหญ่เกิดไม่รุนแรง การใช้ยาทาภายนอกเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ที่ผิวหนังตรงตำแหน่งที่ยาเข้าถึงได้ โดยไม่ต้องการให้ยาถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดสู่ระบบร่างกาย จึงลดผลข้างเคียงของยาที่จะเกิดกับร่างกายส่วนอื่น อย่างไรก็ตามที่ผิวหนังมีเส้นเลือดมาเลี้ยงเช่นเดียวกัน จึงอาจมียาบางส่วนที่ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้บ้างแต่ในปริมาณเพียงเล็กน้อย ผิวหนังมีหลายชั้นแต่ชั้นที่มีความสำคัญมากเนื่องจากมีบทบาทในการกั้นยาหรือสารอื่นไม่ให้ผ่านผิวหนังเพื่อเข้าสู่ร่างกาย คือหนังกำพร้าชั้นนอกสุดหรือสตราตัมคอร์เนียม ด้วยเหตุนี้ยาส่วนใหญ่ที่นำมาใช้รักษาโรคที่เกิดกับผิวหนังจึงสามารถแทรกซึมผ่านหนังกำพร้าชั้นนอกสุดได้ ในบทความนี้จะให้ข้อมูลถึงโครงสร้างผิวหนัง การแทรกซึมของยาเข้าในผิวหนัง ประเภทของยาทาภายนอกและบริเวณที่ออกฤทธิ์ และข้อควรคำนึงเมื่อใช้ยาทาภายนอก

โครงสร้างผิวหนัง

ผิวหนังทำหน้าที่ห่อหุ้มร่างกาย ช่วยปกป้องร่างกายไม่ให้ได้รับอันตรายจากสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายและรับความรู้สึกสัมผัส ผิวหนังแบ่งเป็น 3 ชั้น เรียงจากชั้นนอกสู่ชั้นในดังนี้ (ดูรูป)
  1. หนังกำพร้า (epidermis) เป็นผิวหนังชั้นนอกสุด ไม่มีเลือดมาเลี้ยง แบ่งเป็นชั้นย่อยอีกหลายชั้น หนังกำพร้าชั้นนอกสุด คือ สตราตัมคอร์เนียม (stratum corneum) ประกอบด้วยเซลล์รูปร่างแบนหลายชั้นเรียงขนานกับผิว เซลล์เหล่านี้ไม่มีนิวเคลียสหรือโครงสร้างย่อย (organelles) ชิ้นใดภายในเซลล์และจะหลุดลอกเป็นขี้ไคล ส่วนหนังกำพร้าใต้ชั้นสตราตัมคอร์เนียมประกอบด้วยเซลล์ที่มีชีวิต (viable epidermis) สตราตัมคอร์เนียมมีองค์ประกอบเป็นไขมัน 40%, โปรตีน 40% และน้ำ 20% เป็นหนังกำพร้าที่มีบทบาทสำคัญในการกั้นยาหรือสารอื่นไม่ให้ผ่านผิวหนังเพื่อเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันการสูญเสียน้ำทางผิวหนัง ความหนาของชั้นสตราตัมคอร์เนียมที่ผิวหนังบริเวณต่างกันมีความแตกต่างกันได้ ซึ่งที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าจะมีความหนามากกว่าบริเวณอื่น ด้วยเหตุนี้ยาทาภายนอกที่ใช้กับผิวหนังบริเวณที่มีชั้นสตราตัมคอร์เนียมหนาจึงเป็นชนิดที่มีความแรงสูงและใช้ปริมาณมากกว่าการใช้กับผิวหนังบริเวณที่มีชั้นสตราตัมคอร์เนียมบาง เพื่อให้มีปริมาณยาที่แทรกซึมผ่านหนังกำพร้าชั้นสตราตัมคอร์เนียมเข้าสู่ผิวหนังชั้นในเพียงพอต่อการออกฤทธิ์รักษาโรคหรือการบาดเจ็บ
  2. หนังแท้ (dermis) ผิวหนังชั้นนี้ประกอบด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue) พบเส้นเลือดขนาดเล็ก หลอดน้ำเหลือง เส้นประสาท ต่อมไขมัน (sebaceous gland) ปมรากขนหรือปมรากผม (hair follicle) และต่อมเหงื่อที่ผิวหนังชั้นนี้ ต่อมไขมันทำหน้าที่ผลิตไขผิวหนังหรือซีบัม (sebum) ซึ่งปริมาณซีบัมที่มากเกินไปเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดสิว ต่อมไขมันมีทั้งชนิดที่อยู่ติดกับปมรากขนและชนิดที่อยู่แยกกัน ส่วนต่อมเหงื่อช่วยระบายความร้อนในร่างกาย มีทั้งชนิดที่พบได้ทั่วไป (eccrine sweat gland) ซึ่งมีรูเปิดอยู่บนผิวหนัง และชนิดที่ทำให้เกิดกลิ่นตัว (apocrine sweat gland) พบที่ผิวหนังบางแห่ง เช่น บริเวณรักแร้ มีรูเปิดอยู่ในปมรากขนหรือช่องขน ด้วยเหตุนี้ยาทาภายนอกหากออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของต่อมที่กล่าวมา ต้องสามารถแทรกซึมเข้าถึงชั้นหนังแท้ได้
  3. ชั้นใต้หนังแท้หรือชั้นไขมัน (hypodermis หรือ subcutis) ผิวหนังชั้นนี้ประกอบด้วยไขมันและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เกาะตัวอย่างหลวม พบเส้นเลือดขนาดเล็ก หลอดน้ำเหลือง เส้นประสาท และต่อมเหงื่อที่ผิวหนังชั้นนี้ (ต่อมเหงื่อพบในชั้นหนังแท้และชั้นใต้หนังแท้) นอกจากนี้ปมรากขนในระยะที่กำลังเจริญจะยื่นมาถึงชั้นนี้ด้วย ความหนาของผิวหนังชั้นนี้ที่บริเวณต่างกันมีความแตกต่างกันได้ เช่นที่ใบหน้าและท้องจะหนากว่าบริเวณอื่น


การแทรกซึมของยาเข้าในผิวหนัง

ยาทาภายนอกจะแทรกซึมจากตำแหน่งที่ทายาลงสู่ผิวหนังชั้นล่างได้มากหรือน้อยเพียงใดขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น คุณสมบัติของตัวยา รูปแบบผลิตภัณฑ์ (ชนิดของเหลว ครีม เจล หรือขี้ผึ้ง) การตั้งสูตรตำรับ ความแรงของผลิตภัณฑ์ ปริมาณยาที่ทา ผิวหนังบริเวณที่ทายา การที่หนังกำพร้าชั้นสตราตัมคอร์เนียมประกอบด้วยไขมันปริมาณมาก ทำให้ยาที่ชอบไขมัน (ยาที่ละลายได้ดีในไขมัน) จะแทรกซึมผ่านไปได้ดีกว่ายาที่ชอบน้ำ (ยาที่ละลายได้ดีในน้ำ) นอกจากนี้มียาบางส่วนผ่านลงสู่ผิวหนังชั้นล่างโดยเข้าทางช่องขนและรูเปิดของท่อเหงื่อแต่ผ่านได้ในปริมาณจำกัด ในกรณีที่มีบาดแผลจะมียาผ่านลงสู่ผิวหนังชั้นล่างในปริมาณมาก การที่หนังแท้และชั้นใต้หนังแท้มีเส้นเลือดและท่อน้ำเหลืองมาเลี้ยง จึงมียาบางส่วนถูกดูดซึมเข้าสู่ภายในร่างกาย ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายส่วนอื่นได้

ประเภทของยาทาภายนอกและบริเวณที่ออกฤทธิ์

ยาทาภายนอกมีมากมาย แบ่งตามการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้หลายกลุ่ม ดังตัวอย่างที่จะกล่าวต่อไปนี้
  1. ยากำจัดจุลชีพที่ผิวหนัง (antiseptics) ใช้เช็ดทำความสะอาดผิวหนัง ออกฤทธิ์กำจัดจุลชีพเฉพาะบริเวณที่สัมผัสกับยา ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีตัวยาสำคัญเป็นแอลกอฮอล์, คลอร์เฮกซิดีน (chlorhexidine)
  2. ผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวนุ่มหรือเพิ่มความชุ่มชื้น (emollients และ moisturizing agents) ออกฤทธิ์ทำให้หนังกำพร้าส่วนนอกสุดเก็บน้ำไว้หรือเคลือบผิวเพื่อลดการสูญเสียน้ำ จึงลดอาการผิวแห้ง ระคายผิวและอาการคัน ใช้รักษาโรคผิวหนังอักเสบ (eczema หรือ dermatitis) ชนิดต่าง ๆ ที่มีลักษณะผิวแห้งหรือเป็นสะเก็ด ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของลาโนลิน ยูเรีย กลีเซอรีน
  3. ยาลอกขุย (keratolytic agents) ออกฤทธิ์ทำให้เคราติน (keratin) ในหนังกำพร้าชั้นสตราตัมคอร์เนียมอ่อนนุ่มและหลุดลอก ใช้รักษาโรคผิวหนังอักเสบที่มีลักษณะเป็นแผ่นหรือสะเก็ด เช่น โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา (plaque psoriasis), สิวบางชนิด ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีตัวยาเป็นยูเรีย (urea), กรดซาลิไซลิก (salicylic acid), กรดแลกติก (lactic acid)
  4. ยาสมานผิว (astringents) ออกฤทธิ์ตกตะกอนโปรตีนจึงช่วยดึงผิวหนังให้ชิดกัน ลดการสูญเสียน้ำ ทำให้ผิวนุ่มและลดอาการคัน ออกฤทธิ์โดยตรงเมื่อสัมผัสโปรตีนบนผิวหนังหรือบริเวณอื่นที่สัมผัสยา ใช้ลดรอยสิว ลดอาการคันจากผื่นแพ้หรือแมลงกัดต่อย ลดการขับเหงื่อ (antiperspirants โดยทำให้ท่อเหงื่อปิด) ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของสารประกอบอะลูมินัม
  5. ยาลดอาการอักเสบ (anti-inflammatory agents) และยาลดอาการแพ้ (anti-allergic agents) ออกฤทธิ์ลดการสร้างสารก่อการอักเสบและลดปฏิกิริยาการอักเสบรวมถึงการแพ้ ซึ่งขึ้นกับชนิดของตัวยาสำคัญ ยาที่ใช้กันมากในโรคผิวหนัง ได้แก่ ยาประเภทสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอก ซึ่งมีตัวยาหลากหลายชนิดและมีความแรงแตกต่างกัน ยาเหล่านี้ต้องสามารถแทรกซึมผ่านหนังกำพร้าชั้นสตราตัมคอร์เนียมลงสู่ผิวหนังชั้นล่างได้
  6. ยาลดอาการคัน (antipruritics) อาการคันในโรคผิวหนังหลายชนิดเกิดจากผิวหนังอักเสบ จึงมีการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอกที่กล่าวข้างต้น นอกจากนี้ยังมียาอื่นอีกหลายชนิดที่ลดอาการคันได้ รวมถึงยาต้านฮีสตามีนชนิดทาภายนอก ซึ่งยาออกฤทธิ์ลดผลของฮีสตามีนที่กระตุ้นปลายประสาทและทำให้เกิดอาการคัน ยาเหล่านี้ต้องสามารถแทรกซึมผ่านหนังกำพร้าชั้นสตราตัมคอร์เนียมลงสู่ผิวหนังชั้นล่างได้
  7. ยาต้านจุลชีพ (antimicrobial agents) ยาทาภายนอกที่ใช้รักษาการติดเชื้อที่ผิวหนังไม่ว่าจะเกิดจากรา แบคทีเรียหรือไวรัส ต้องแทรกซึมผ่านหนังกำพร้าชั้นสตราตัมคอร์เนียมลงสู่ผิวหนังชั้นล่างเพื่อออกฤทธิ์กำจัดจุลชีพเหล่านั้น การเกิดบาดแผลจะทำให้ยาแทรกซึมได้มากขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงที่ยาจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดสู่ระบบร่างกาย ตัวอย่างยารักษาโรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง เช่น โคลไตรมาโซล (clotrimazole) ความแรง 1% ชนิดครีม, คีโตโคนาโซล (ketoconazole) ความแรง 2% ชนิดครีม ตัวอย่างยารักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง เช่น มิวพิโรซิน (mupirocin) ความแรง 2% ชนิดครีมหรือขี้ผึ้ง, ฟิวซิดิกแอซิด (fusidic acid) ความแรง 2% ชนิดครีมหรือขี้ผึ้ง และตัวอย่างยารักษาโรคติดเชื้อไวรัสที่ผิวหนัง เช่น อะไซโคลเวียร์ (acyclovir) ความแรง 5% ชนิดครีม
ข้อควรคำนึงเมื่อใช้ยาทาภายนอก

การใช้ยาทาภายนอกมีข้อควรคำนึงทั่วไปดังนี้
  1. อาจเกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผิวหนังอักเสบตรงบริเวณที่ทา
  2. ระวังการติดเชื้อเมื่อใช้กับแผลเปิด โดยเฉพาะเมื่อยานั้นไม่ใช่ชนิดยาปลอดเชื้อ
  3. การใช้ยาทาภายนอกมีความสะดวก อาจทำให้เกิดการใช้ยาพร่ำเพรื่อหรือใช้เกินขนาดได้ง่าย
  4. การทายาลงบนแผลลึกหรือแผลกว้าง ยาอาจถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายส่วนอื่นได้
  5. การใช้ยาต้านจุลชีพชนิดทาภายนอกอย่างไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องเชื้อดื้อยาได้
  6. ยาทาภายนอกใช้รักษาโรคหรือการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง ในกรณีที่เกิดโรครุนแรงจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาที่ออกฤทธิ์ได้ทั่วร่างกาย เช่น ยาชนิดรับประทาน
เอกสารอ้างอิง
  1. Lawton S. Skin 1: the structure and functions of the skin. Nursing Times 2019; 115:30-3.
  2. Lawton S. Skin 2: accessory structures of the skin and their functions. Nursing Times 2020; 116:44-6.
  3. Abd E, Yousef SA, Pastore MN, Telaprolu K, Mohammed YH, Namjoshi S, et al. Skin models for the testing of transdermal drugs. Clin Pharmacol 2016; 8:163-76.
  4. Schaefer H, Redelmeier TE, Nohynek GJ, Lademann J. Chapter 215. Pharmacokinetics and topical applications of drugs. In: Goldsmith LA, Katz SI, Gilchrest BA, Paller AS, Leffell DJ, Wolff K, eds. Fitzpatrick's Dermatology in General Medicine, 8e. McGraw-Hill, 2012. https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=392§ionid=41138951. Accessed: December 20, 2020.
  5. Ray P, Singh S, Gupta S. Topical antimicrobial therapy: current status and challenges. Indian J Med Microbiol 2019; 37:299-308.
  6. Sharadha M, Gowda DV, Gupta VN, Akhila AR. Overview on topical drug delivery system – updated review. Int J Res Pharm Sci 2020; 11:368-85.
  7. Keri JE. Principles of topical dermatologic therapy, revision June 2019. Merck Manual Professional Version. https://www.msdmanuals.com/professional/dermatologic-disorders/principles-of-topical-dermatologic-therapy/principles-of-topical-dermatologic-therapy. Accessed: December 20, 2020.
  8. Williamson DA, Carter GP, Howden BP. Current and emerging topical antibacterials and antiseptics: agents, action, and resistance patterns. Clin Microbiol Rev 2017; 30:827-60.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ดอกคาโมมายล์ 20 วินาทีที่แล้ว
สมุนไพรแก้ไอ 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้