เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


วิตามินดี ป้องกันกระดูกหัก.....จริงหรือ


รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ. บุษบา จินดาวิจักษณ์ ภก. พลัฏฐ์ การเมือง ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: https://i0.wp.com/images-prod.healthline...=756&h=567
อ่านแล้ว 21,333 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 13/07/2563
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/y94h24rh
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/y94h24rh
 

ใครๆ ก็พูดกันว่า วิตามินดีป้องกันกระดูกหัก เรื่องนี้จริงหรือไม่ มาดูกัน
วิตามินดี เป็นวิตามินชนิดหนึ่ง ละลายได้ดีในไขมัน จึงพบวิตามินดีในอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ไข่แดง และตับ ร่างกายของเรายังสามารถสร้างวิตามินดีขึ้นได้เอง โดยเมื่อผิวหนังถูกแสงแดด จะเกิดการปลี่ยนสารชนิดหนึ่งที่ผิวหนัง สารนี้มีชื่อเรียกว่า 7-dehydrocholesterol ด้วยกระบวนการหลายขั้นตอนจนเป็นวิตามินดีในที่สุด (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ “วิตามินดี...ประโยชน์ดีๆ มีมากกว่าที่คิด”)
วิตามินดี มีผลต่อกระดูกทางอ้อม โดยช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระดูก หากรับประทานแคลเซียมน้อย จะมีผลทำให้กระดูกบาง หรือ กระดูกพรุนได้ แต่ทั้งนี้การรับประทานแคลเซียมเพียงอย่างเดียวโดยที่ร่างกายไม่มีวิตามินดี การดูดซึมแคลเซียมก็จะน้อยไปด้วย เนื่องจากหน้าที่หลักของวิตามินดี คือ ควบคุมสมดุลของระดับแคลเซียมในร่างกาย ดังนั้นหากได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอ จะมีผลเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนหรือโรคกระดูกน่วม (osteomalacia) ในผู้ใหญ่1 ซึ่งเมื่อหกล้มจะมีโอกาสกระดูกหักตามมาได้
โดยทั่วไปร่างกายมักไม่ขาดวิตามินดี หากมีการทำกิจกรรมกลางแจ้งตามปกติ ให้ผิวหนังถูกแสงแดด ร่างกายก็จะได้รับวิตามินดีจากการสร้างที่ผิวหนัง แต่ในผู้ที่มีพฤติกรรมเลี่ยงแสงแดด ชอบอยู่ในที่ร่ม หรือผู้ป่วยที่นอนติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดีได้ลดลง2 จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดวิตามินดีและอาจเกิดโรคกระดูกพรุนตามมาได้ จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทย ปี พ.ศ. 2551 พบจำนวนผู้ที่มีภาวะวิตามินดีไม่เพียงพอ และภาวะขาดวิตามินดีเท่ากับร้อยละ 45.2 และ 5.7 ตามลำดับ3 นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาในสตรีวัยทองและสูงอายุของจังหวัดขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2549 พบว่าจำนวนสตรีวัยทองร้อยละ 60.2 และ สตรีสูงอายุที่อยู่ในเมืองร้อยละ 65.4 มีภาวะขาดวิตามินดี แต่สตรีสูงอายุที่อยู่ในชนบทที่มีภาวะขาดวิตามินดี มีเพียงร้อยละ 15.44
ดังนั้น เราจึงควรเดินออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งบ้าง โดยใช้เวลาในช่วงเช้า (8 – 10 น.) หรือบ่าย (15 – 17 น.) ซึ่งมีแดดอ่อนๆ ประมาณวันละ 15-30 นาที5 หากทำได้ทุกวัน ร่างกายจะไม่ขาดวิตามินดี แต่ในผู้ป่วยที่นอนติดเตียงหรือผู้สูงอายุที่เดินไม่สะดวก การโดนแสงแดดทุกวันอาจทำไม่ได้ ควรเสริมการรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูง เช่น ไข่แดง ตับ ปลาแซลมอน เพื่อทำให้ร่างกายไม่ขาดวิตามินดี
อย่างไรก็ตาม ในกรณีจำเป็น อาจต้องรับประทานวิตามินดีที่ทำเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่าย ร่วมไปกับการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมหรือรับประทานผลิตภัณฑ์แคลเซียม เพื่อให้สมดุลแคลเซียมในร่างกายอยู่ในระดับที่เหมาะสมและลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยา มีตัวยาสำคัญแตกต่างกันไป อาจมีวิตามินดีเพียงอย่างเดียวโดยอยู่ในรูปแบบที่ออกฤทธิ์ได้เลย นั่นคือ calcitriol (มีชื่อทางเคมีว่า 1,25-dihydroxycholecalciferol) บางผลิตภัณฑ์มีวิตามินดีที่ต้องไปผ่านกระบวนการทางเคมีในร่างกายก่อนเพื่อทำให้เป็นวิตามินดีที่อยู่ในรูปแบบที่ออกฤทธิ์ได้ ซึ่งอาจเป็น calcidiol (มีชื่อทางเคมีว่า 25-hydroxycholecalciferol) หรือ cholecalciferol (อาจเรียกว่า vitamin D3 ก็ได้) หรือ ergocalciferol (อาจเรียกว่า vitamin D2 ก็ได้) หรือ alfacalcidol (มีชื่อทางเคมีว่า 1-hydroxycholecalciferol) บางผลิตภัณฑ์มีวิตามินดีผสมอยู่กับแคลเซียม ด้วยความหลากหลายของผลิตภัณฑ์วิตามินดีนี้เอง การใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงควรอยู่ในการดูแลของแพทย์และเภสัชกร เพื่อให้เหมาะสมและจำเพาะกับโรคหรือภาวะของผู้ที่จะรับประทาน (รายชื่อวิตามินดี แสดงในตารางที่ 1)
รูปแบบของวิตามินดีที่แนะนำสำหรับป้องกันหรือรักษาโรคกระดูกพรุนโดยสมาคมต่อไร้ท่อแห่งประเทศไทย คือ ergocalciferol (วิตามินดี 2) หรือ cholecalciferol (วิตามินดี 3)1 และไม่แนะนำให้ใช้วิตามินดีชนิด calcitriol หรือ อนุพันธ์ของวิตามินดีบางชนิด เช่น alfacalcidiol ยกเว้นในบางกรณีที่จำเป็น การใช้วิตามินดีจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจาก calcitriol หรือ alfacalcidiol อาจส่งผลทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงได้ง่าย1 รวมถึงอาจทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในปัสสาวะสูงขึ้นและอาจก่อให้เกิดนิ่วในไตได้ด้วย6 โดยเฉพาะเมื่อรับประทานร่วมกับผลิตภัณฑ์แคลเซียม หรือ ผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม

โดยสรุป วิตามินดีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถป้องกันกระดูกหัก หรือแม้แต่โรคกระดูกพรุนก็ป้องกันไม่ได้ แต่หากได้รับแคลเซียมร่วมไปด้วยในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน และลดโอกาสเสี่ยงต่อกระดูกหัก ได้ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์เพื่อให้การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์วิตามินดีได้รับประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย. ข้อแนะนำเกี่ยวกับภาวะขาดวิตามินดีในคนไทย [อินเทอร์เน็ต]. [สืบค้นเมื่อ 14 พฤษภาคม 2563]. สืบค้นจาก: http://www.thaiendocrine.org/th/wp-content/uploads/2017/10/Vit-D-Booklet-20page_update-9Sep17-2.pdf
  2. MacLaughlinJ, Holick MF. Agingdecreasesthecapacityofhumanskintoproducevitamin D3. J Clin Invest 1985;76:1536-8.
  3. Chailurkit L, Aekplakorn W, Ongphiphadhanakul B. Regional variation and determinants of vitamin D status in sunshine-abundant Thailand. BMC Public Health 2011;11:853.
  4. สุกรี สุนทราภา, ศุภศิลป์ สุนทราภา, ละออ ชัยลือกิจ, ชวนชม สกนธวัฒน์, ศรีนารี แก้วฤดี, วรลักษณ์ สมบุรณ์พร, และคณะ. ความชุกของภาวะขาดวิตามินดีในสตรีวัยทองที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น. ศรีนครินทร์เวชสาร 2549:21 (1);23-9.
  5. ศุภศิลป์ สุนทราภา. ตากแดดวันละนิดพิชิต “กระดูกพรุน” [อินเทอร์เน็ต]. [สืบค้นเมื่อ 4 กรกฎาคม 2563]. สืบค้นจาก: http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/news/9978.
  6. Curhan GC, Willett WC, Speizer FE, Spiegelman D, Stampfer MJ. Comparison of dietary calcium with supplemental calcium and other nutrients as factors affecting the risk for kidney stones in women. Ann Intern Med 1997;126(7):497-504.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 2 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้