เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


กินเร็วเสี่ยงเป็นโรคอ้วน


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. จิรภรณ์ อังวิทยาธร ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://www.foodpower.info/sites/default...k=d_CRF4t2
อ่านแล้ว 11,844 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 19/06/2563
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ในสังคมปัจจุบันที่กิจกรรมทุกอย่างมักต้องทำด้วยความเร่งรีบ แม้กระทั่งเวลากินอาหาร ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ควรจะผ่อนคลายและมีความสุขไปกับการลิ้มรสอาหาร กลับต้องกินอย่างรวดเร็ว ผลเสียของการกินเร็วนอกจากจะทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด อาหารไม่ย่อย ซึ่งเป็นอาการที่พบโดยทั่วไปแล้ว การกินเร็วยังส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าที่เราคิด 
 
ภาพจาก : https://i1.wp.com/www.corehealthcoaching.com.au/wp-content/uploads/2017/11/download-1-1.jpeg?fit=1000%2C667&ssl=1 
การกินเร็วเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะที่เรียกว่า “Metabolic Syndrome” คือ กลุ่มอาการที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารของร่างกายผิดปกติ มีสาเหตุมาจากการดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) และความอ้วน มักพบในผู้ที่มีไขมันหน้าท้องมาก หรือที่เรียกว่า อ้วนลงพุง (Central Obesity) Metabolic Syndrome ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันสูง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ เกิดหัวใจขาดเลือด จากการศึกษาพบว่าคนที่กินเร็วมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าคนที่กินปกติถึง 2.5 เท่า สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health) ของสหรัฐอเมริกาประเมินว่า 34% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ของสหรัฐอเมริกามีกลุ่มอาการ Metabolic Syndrome และยังได้เตือนว่าในอนาคต Metabolic Syndrome จะเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้มากกว่าการสูบบุหรี่ 
จากงานวิจัยของ Dr. Takayuki Yamaji แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคหัวใจ จาก Hiroshima University ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งศึกษาในอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นที่มีสุขภาพดีจำนวนมากกว่า 1,000 คน อายุเฉลี่ยราว 51 ปี ทุกคนไม่เคยมีภาวะ Metabolic Syndrome อาสาสมัครเหล่านี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามพฤติกรรมในการกินอาหาร คือ กลุ่มผู้กินเร็ว กลุ่มผู้กินอัตราเร็วปกติ และกลุ่มผู้กินช้า โดยได้ติดตามสุขภาพของอาสาสมัครเหล่านี้เป็นระยะเวลา 5 ปี พบว่า 11.6% ของกลุ่มผู้ที่กินเร็วเกิดภาวะ Metabolic Syndrome 6.5% ในกลุ่มผู้กินอัตราเร็วปกติ และเพียง 2.3% ในกลุ่มผู้กินช้า ในกลุ่มผู้ที่กินเร็วจะมีน้ำหนักตัวมากขึ้น มีรอบเอวขนาดใหญ่ขึ้น และมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ที่กินปกติและกินช้า การกินอาหารให้ช้าลง กินอาหารประเภทธัญพืช อาหารที่มีกากใยสูง ผัก ผลไม้ และออกกำลังกายให้มากขึ้นจะช่วยป้องกันการเกิด Metabolic Syndrome ได้ 
จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition โดยให้คนอ้วนและคนที่มีน้ำหนักตัวน้อย กินอาหารชนิดเดียวกันและปริมาณอาหารต่อ 1 คำเท่ากัน พบว่าคนอ้วนมีแนวโน้มที่จะเคี้ยวอาหารน้อยกว่าคนที่มีน้ำหนักน้อย คนอ้วนมักเคี้ยวเร็ว เคี้ยวไม่ละเอียดและกลืนเร็ว เมื่อทดลองให้ทุกคนเคี้ยวอาหาร 40 ครั้งต่อคำ ทั้งคนอ้วนและคนมีน้ำหนักน้อยจะกินอาหารน้อยลง 
ขณะที่เรากินอาหารนั้น สมองจะได้รับสัญญาณจากกระเพาะอาหารและลำไส้ สมองจะสั่งการลงมาให้ร่างกายรู้สึกอิ่ม ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า 20 นาทีกว่าที่สมองจะสั่งการ คนกินเร็วสมองจะสั่งการไม่ทัน มักจะกินหมดก่อนที่จะรู้สึกอิ่ม ทำให้กินไปเรื่อย ๆ จนได้รับปริมาณอาหารมากเกินไป เมื่อเรากินช้าลง การสั่งการจากสมองจะเกิดขึ้นในขณะที่เรายังกินอยู่ จึงทำให้เรารู้สึกอิ่มก่อนที่จะกินมากเกินไป การกินอาหารจึงควรใช้เวลามากกว่า 20 นาที หรือประมาณ 30 นาที เพื่อให้สมองสั่งการให้ร่างกายรู้สึกอิ่มได้ทันเวลา การกินช้า ๆ และเคี้ยวอาหารให้ละเอียดจะช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น เพิ่มการไหลเวียนของโลหิตไปยังกระเพาะอาหารและลำไส้ และยังทำให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรีได้เพิ่มขึ้นด้วย การกินอย่างช้า ๆ และให้ความสนใจกับอาหารที่กินอยู่ ยังเป็นการฝึกให้มีสติกับสิ่งที่กำลังทำ ช่วยลดความเครียดจากการทำงานและชีวิตประจำวัน 
การมีสุขภาพที่ดีทำได้ไม่ยาก เพียงแค่เราใส่ใจกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นพฤติกรรมการกินอาหาร วิธีแก้การกินเร็วทำได้ง่าย ๆ เช่น ไม่ตักอาหารคำโต ๆ ระหว่างเคี้ยวอาหารถ้านับจำนวนครั้งที่เคี้ยวได้ก็จะดี แต่ถ้ารู้สึกฝืนธรรมชาติของตัวเองมากเกินไปที่จะต้องมานั่งนับจำนวนครั้งในการเคี้ยว ทำให้เครียดโดยใช่เหตุ ก็ให้เคี้ยวอาหารอย่างช้า ๆ และเคี้ยวให้ละเอียด วางช้อนส้อมลงระหว่างเคี้ยว ใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาทีในการกินอาหาร ไม่ควรกินไปทำงานหรือดูทีวีไป การกินอาหารกับเพื่อนจะช่วยให้กินช้าลงได้ ฝึกทำจนเคยชินเป็นนิสัย พฤติกรรมการกินเร็วจะหมดไปในที่สุด 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Yamaji T, Mikami S, Kobatake H, Tanaka K, Higashi Y, and Kihara Y. Slow Down, You Eat Too Fast: Fast Eating Associate With Obesity and Future Prevalence of Metabolic Syndrome. Circulation. 2017;136: suppl 1, A20249.
  2. https://time.com/5023122/eating-fast-obesityhttps://time.com/5023122/eating-fast-obesity.
  3. https://time.com/4736062/slow-eater-chew-your-food.
  4. https://www.sciencedaily.com/releases/2012/05/120507210038.htm.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้