เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


การค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19 ตอนที่ 1 : ฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir)


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://s.isanook.com/he/0/rp/r/w728/ya0xa0m1w0/aHR0cHM6Ly9zLmlzYW5vb2suY29tL2hlLzAvdWQvNC8yMDgwMS9jb3ZpZC0xOS1tZWRpY2luZS5qcGc=.jpg
อ่านแล้ว 38,670 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 09/03/2563
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว
https://tinyurl.com/y6u62yh2
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/y6u62yh2
 


ปัจจุบันอยู่ในช่วงที่เกิดโรคระบาดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19 (COVID-19)” ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จึงมีการค้นคว้าหาวิธีป้องกันและรักษาโรคนี้ ทั้งด้านการพัฒนาวัคซีนและการค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งครอบคลุมถึงการนำยาที่มีใช้อยู่แล้วมาศึกษา เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ ในบทความนี้ให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับโคโรนาไวรัส ข้อมูลทั่วไปของยาฟาวิพิราเวียร์ และแผนการศึกษาถึงประสิทธิภาพของยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโควิด-19



ภาพจาก : https://www.thepharmaletter.com/media/image/virus_pathogen_big.jpg

โคโรนาไวรัส (coronavirus)

ไวรัสชนิดนี้มักทำให้เกิดการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจของนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมทั้งคน พบครั้งแรกในนกและสัตว์ปีกอื่นในปี พ.ศ. 2480 ส่วนในคนพบครั้งแรกราวคริสต์ทศวรรษ 1960 (ตรงกับช่วง พ.ศ. 2503-2512) สารพันธุกรรมในโคโรนาไวรัสเป็นชนิดอาร์เอนเอ (โคโรนาไวรัสจัดอยู่ในกลุ่มอาร์เอนเอไวรัส) การได้รับชื่อว่า “โคโรนาไวรัส (coronavirus)” เนื่องจากบนผิวไวรัสมีโครงสร้างส่วนที่ยื่นออกไปจึงดูเหมือนมงกุฎ โคโรนาไวรัสมีหลายสายพันธุ์ซึ่งก่อความรุนแรงและเกิดการระบาดได้แตกต่างกัน กรณีที่เกิดการระบาดรุนแรง เช่น โรคซาร์ส โรคเมอร์ส และล่าสุดเมื่อปลายปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) เกิดโรคจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่คือ “2019-nCoV (2019 novel coronavirus)” หรือ “SARS-CoV-2” และเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 โรคจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้รับชื่อว่า “coronavirus disease 2019”หรือ “โควิด-19 (COVID-19)” (CO มาจาก “corona”, VI มาจาก “virus”, D มาจาก “disease” และ 19 มาจาก “ค.ศ. 2019”) โควิด-19 เริ่มเกิดการระบาดที่เมืองอู่ฮั่นในประเทศจีน (Wuhan, China) ผู้ป่วยมีอาการที่สำคัญคือ มีไข้ ไอ และหายใจลำบาก มีผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

การค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19

ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีกลุ่มนักวิจัยชาวจีนได้ตรวจหาฤทธิ์ยาและสารอื่นจำนวนกว่า 70,000 ชนิด โดยใช้เทคโนโลยีจำลองสถานการณ์บนคอมพิวเตอร์ (computer simulation) และการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ในหลอดทดลอง เพื่อหาศักยภาพของยาหรือสารอื่นเหล่านั้นในการนำมาใช้รักษาโรคปอดอักเสบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้พบยาที่น่าสนใจบางชนิด ซึ่งรวมถึงฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir), คลอโรควินฟอสเฟต (chloroquine phosphate) และเรมเดซิเวียร์ (remdesivir)

ข้อมูลทั่วไปของยาฟาวิพิราเวียร์

ฟาวิพิราเวียร์ (ชื่ออื่นคือ T-705 ส่วนชื่อการค้าคือ Avigan และ Favilavir) มีลักษณะโครงสร้างเป็นอนุพันธ์ไพราซีนคาร์บอกซาไมด์ (pyrazinecarboxamide derivative) ค้นพบโดยบริษัทโตยามะเคมิคอล (Toyama Chemical Co., Ltd) ในประเทศญี่ปุ่น ยานี้ได้รับอนุมัติให้ใช้ในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 เพื่อใช้รักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล มีการใช้ยานี้ในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักของไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ในแถบอาฟริกาตะวันตกช่วงปี พ.ศ. 2557 ถึง 2559 จากข้อมูลในอดีตมีผู้ใช้ยานี้ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครสุขภาพดี ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่และผู้ป่วยโรคอีโบลา มีจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 คน พบว่ายามีความปลอดภัย ข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้ยานี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับยาต้านโคโรนาไวรัสชนิดอื่นคือปัญหาเรื่องไวรัสดื้อยา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมายาฟาวิพิราเวียร์ได้รับอนุมัติในประเทศจีนให้ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่ และอนุญาตให้นำมาใช้ในการศึกษาทางคลินิกกับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ ขณะนี้ในประเทศเกาหลีใต้อยู่ระหว่างการพิจารณาขออนุมัติทะเบียนยาแบบเร่งด่วน (fast-track approval) เพื่อใช้รักษาโควิด-19



เภสัชวิทยาของยาฟาวิพิราเวียร์

ยาฟาวิพิราเวียร์มีฤทธิ์ต้านไวรัสในกลุ่มอาร์เอนเอไวรัสได้หลากหลายชนิด เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus), ไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย (foot-and-mouth disease virus), ไวรัสไข้เหลือง (yellow fever virus) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องกับไวรัสที่ก่อโรคในคนอีกหลายชนิด การที่ยานี้จะมีฤทธิ์ต้านไวรัสได้ต้องถูกเปลี่ยนแปลงในร่างกายโดยเอนไซม์ภายในเซลล์ได้เป็นฟาวิพิราเวียร์ไรโบซิลไตรฟอสเฟต (favipiravir ribosyl triphosphate) ที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรส (RNA-dependent RNA polymerase หรือ RNA replicase) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีความสำคัญในการเพิ่มจำนวนไวรัส ดังนั้นเมื่อเอนไซม์ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จึงยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัส นอกจากนี้สารดังกล่าวยังทำให้เกิดการสร้างสารพันธุกรรมอาร์เอนเอของไวรัสที่ผิดปกติและทำให้ไวรัสตาย ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ยับยั้งการสร้างอาร์เอ็นเอและดีเอ็นเอในเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ของคนและสัตว์

ยานี้ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดีเกือบสมบูรณ์ เกิดระดับยาสูงสุดภายใน 1 ชั่วโมง (ช่วงตั้งแต่ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง) ยาถูกเปลี่ยนสภาพที่ตับโดยอาศัยเอนไซม์แอลดีไฮด์ออกซิเดส (aldehyde oxidase) เป็นส่วนใหญ่ อาศัยเอนไซม์แซนทีนออกซิเดส (xanthine oxidase) เพียงเล็กน้อย เกิดเป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์และถูกขับออกทางปัสสาวะ ยานี้มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อัลดีไฮด์ออกซิเดสได้ด้วยจึงยับยั้งการเปลี่ยนสภาพของตัวยาเอง ด้วยเหตุนี้ค่าทางเภสัชจลนศาสตร์บางอย่างของยาจึงไม่ได้แปรผันเป็นเส้นตรงกับขนาดยาที่ได้รับ การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ายาผ่านรกและขับออกทางน้ำนมได้ ยามีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อลูกในท้องและอาจทำให้ลูกในท้องพิการได้โดยเฉพาะเมื่อได้รับยาในขนาดสูง

แผนการศึกษาถึงประสิทธิภาพของยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโควิด-19

จากข้อมูลเบื้องต้นที่พบว่ายาฟาวิพิราเวียร์มีประสิทธิภาพดีต่ออาร์เอ็นเอไวรัสหลายชนิด อีกทั้งได้ทดลองใช้รักษาโรคปอดอักเสบจากไวรัสโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่นประเทศจีนและที่ประเทศญี่ปุ่น จึงเป็นยาที่ได้รับความสนใจ ขณะนี้ประเทศจีนมีโครงการที่จะทำการศึกษาทางคลินิกของยาดังกล่าว ในการศึกษาจะมีการแบ่งกลุ่มผู้ป่วยแบบสุ่ม เปิดเผยชื่อยาที่ให้และมีกลุ่มเปรียบเทียบ (randomized, open-label, controlled trial) จะมีทั้งหมด 6 การศึกษาที่ทำในประเทศจีน โดยยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่สิ้นสุดการศึกษา และหากผลการศึกษาเป็นไปอย่างที่คาดหวังจะขยายการศึกษาทางคลินิกในวงกว้างต่อไป สำหรับการศึกษาแรก (ทำโดย Beijing Chaoyang Hospital ร่วมกับ Union Hospital และ Jinyintan Hospital) เริ่มลงทะเบียนรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้าร่วมในการศึกษาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 จำนวน 60 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน เพื่อให้ยาฟาวิพิราเวียร์รับประทานวันละ 2 ครั้ง ขนาดยาที่ทำการศึกษาคือ 1,600 มิลลิกรัม, 1,800 มิลลิกรัม และ 2,400 มิลลิกรัม ให้ยานาน 10 วัน บางการศึกษาจะมีการเปรียบเทียบการใช้ฟาวิพิราเวียร์กับยาอื่น อาจเปรียบเทียบกับยาโลพินาเวียร์ที่ให้ร่วมกับริโทนาเวียร์ (lopinavir/ritonavir) ซึ่งยาสูตรผสมนี้ใช้รักษาโรคเอดส์ หรือเปรียบเทียบกับยาบาลอกซาเวียร์มาร์โบซิล (baloxavir marboxil) ที่เป็นยารักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้ยาฟาวิพิราเวียร์จึงอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทางคลินิกเพื่อประเมินผลทั้งด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย และเป็นยาตัวหนึ่งที่เป็นความหวังสำหรับใช้รักษาโควิด-19

เอกสารอ้างอิง
  1. Avigan (favipiravir) tablet 200 mg. Report on the deliberation results. https://www.pmda.go.jp/files/000210319.pdf. Accessed: March 6, 2020.
  2. Mak E. Sihuan starts clinical trial of Ebola drug favipiravir for COVID-19, March 4, 2020. www.bioworld.com/articles/433502-sihuan-starts-clinical-trial-of-ebola-drug-favipiravir-for-covid-19. Accessed: March 6, 2020.
  3. Delang L, Abdelnabi R, Neyts J. Favipiravir as a potential countermeasure against neglected and emerging RNA viruses. Antiviral Res 2018; 153:85-94.
  4. Furuta Y, Gowen BB, Takahashi K, Shiraki K, Smee DF, Barnard DL. Favipiravir (T-705), a novel viral RNA polymerase inhibitor. Antiviral Res 2013; 100:446-54.
  5. Furuta Y, Komeno T, Nakamura T. Favipiravir (T-705), a broad spectrum inhibitor of viral RNA polymerase. Proc Jpn Acad Ser B Phys Biol Sci 2017; 93:449-63.
  6. de la Torre JC. Extending the antiviral value of favipiravir. J Infect Dis 2018; 218:509-11.
  7. Shiraki K, Daikoku T. Favipiravir, an anti-influenza drug against life-threatening RNA virus infections. Pharmacol Ther 2020. doi:10.1016/j.pharmthera.2020.107512. Accessed: March 6, 2020.
  8. Lu H. Drug treatment options for the 2019-new coronavirus (2019-nCoV). Biosci Trends 2020. doi:10.5582/bst.2020.01020. Accessed: March 6, 2020.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คำเตือน บทความ/ข้อมูล/สื่อ ในรูปแบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ผลิตโดยมหาวิทยาลัยมหิดล มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและสังคม โดยไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์หรือประกอบการทำใดๆ อันผิดกฎหมาย หากหน่วยงานใดมีความประสงค์ใช้สื่อทุกรูปแบบของมหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อเผยแพร่ในนามของหน่วยงาน ขอให้ติดต่อขออนุญาตมาที่ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ploypann.chi@mahidol.edu , kulwadee.kit@mahidol.edu) หากมีข้อสงสัยประการใดโปรดสอบถามที่โทร. 02 849 6056 - 7

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้