จากข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศร้อน สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ช่วงฤดูร้อน (มีนาคม-พฤษภาคม) ระหว่างปี 2558-2561 พบว่ามีรายงานผู้เสียชีวิตที่เข้าข่ายการเฝ้าระวังการเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน จำนวน 56, 60, 24, 18 ราย ตามลำดับ โดยมีอุณหภูมิช่วงฤดูร้อนสูงสุดเฉลี่ยเท่ากับ 38.9, 38.1, 38.0 และ 38.1 องศาเซลเซียส ตามลำดับ และได้แนะนำให้เฝ้าระวังและดูแล เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ป่วยเรื้อรัง อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงกว่าคนทั่วไปที่อาจเสียชีวิตได้ง่าย
ภาพจาก : https://timesofindia.indiatimes.com/thumb/msid-64749554,imgsize-22858,width-800,height-600,resizemode-4/64749554.jpg
ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน มีอุณหภูมิสูง นอกจากนี้ สภาพอากาศของโลกที่มีแนวโน้มอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ระยะเวลาของช่วงฤดูร้อนนานขึ้น ร่างกายคนต้องมีการปรับตัวต่อสภาพอากาศร้อน ถ้าร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ จะเกิดภาวะวิกฤตที่รุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงดังกล่าว บทความนี้ขอให้ข้อมูลเรื่อง โรคลมร้อนหรือโรคลมแดด ให้มีความรู้และนำไปปฏิบัติเพื่อป้องกันอันตรายจากสภาพอากาศร้อน
โรคลมร้อนหรือโรคลมแดด (heat stroke) เป็นความเจ็บป่วยที่เกิดจากความร้อนที่มีความรุนแรงมากที่สุด หลายประเทศทั่วโลกจึงให้ความสำคัญ โดยมีรายงานว่าทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 10-50 และผู้รอดชีวิตอาจมีความพิการทางระบบประสาทอย่างถาวรร้อยละ 7-20 โรคลมร้อนเป็นภาวะที่อุณหภูมิแกนของร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส (104 องศาฟาเรนไฮต์) ร่วมกับความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้มีอาการสับสน เพ้อ ชักเกร็ง ซึม หรือหมดสติ และอาจส่งผลต่อการทำงานของร่างกายทุกระบบได้ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต จัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องและรักษาทันที เพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอดและสามารถฟื้นคืนสู่สภาพร่างกายที่ปกติได้
ประเภทของโรคลมร้อน แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
- โรคลมร้อนหรือโรคลมแดดทั่วไป (classical or nonexertional heat stroke; NEHS) พบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งอยู่ในสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง กลไกการระบายและควบคุมความร้อนทำงานล้มเหลว ทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับตัวกับความร้อนจึงมีอุณหภูมิแกนของร่างกายสูงขึ้นเกิน 40 องศาเซลเซียส และในที่สุดเกิดเป็นโรคลมร้อนหรือโรคลมแดด
- โรคลมร้อนจากการออกกำลังกาย (exertional heat stroke; EHS) พบในคนวัยหนุ่มสาวที่ทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายอย่างหนักเป็นระยะเวลานานในกลางแจ้งหรือในสภาพอากาศร้อนจัด มีการเพิ่มการสร้างความร้อนของร่างกายมากกว่าที่ร่างกายจะสามารถระบายความร้อนได้ทัน ทำให้อุณหภูมิแกนของร่างกายสูงขึ้นเกิน 40 องศาเซลเซียส อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน มึนงงกล้ามเนื้อหดเกร็ง หายใจลำบาก เป็นต้น และมักพบว่าเป็นลม หมดสติ ก่อนที่จะเกิดภาวะโรคลมร้อน
การควบคุมอุณหภูมิร่างกายในภาวะปกติ
ปกติระดับอุณหภูมิกายของมนุษย์ประมาณ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะสมสำหรับการทำงานของเอนไซม์ต่างๆ อุณหภูมิกายที่สูงขึ้นเกิดจากสิ่งแวดล้อมและเมแทบอลิสมของเซลล์ ร่างกายมนุษย์สามารถปรับสมดุลความร้อนโดยการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางคือสมองส่วนของไฮโปทาลามัส ร่วมกับกลไกทางสรีรวิทยาต่างๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงขนาดของหลอดเลือด ซึ่งเพิ่มการไหลของเลือดและมีการกระจายของเลือดเพิ่มขึ้น การทำงานของต่อมเหงื่อเพื่อระบายความร้อนทางผิวหนัง เป็นต้น
การระบายความร้อนของร่างกายมี 4 วิธีคือ
- การนำความร้อน (conduction) เป็นการถ่ายเทความร้อนจากวัตถุที่มีอุณหภูมิสูงกว่าไปยังวัตถุที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า โดยการสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง สามารถใช้น้ำเป็นตัวกลางนำความร้อนที่ดี เพื่อลดความร้อนของร่างกาย
- การพาความร้อน (convection) เป็นการระบายความร้อนออกจากร่างกายโดยอาศัยการหมุนเวียนของอากาศที่อยู่ล้อมรอบเป็นตัวพา โดยความร้อนจากภายในร่างกายอาศัยเลือดเป็นตัวพามาระบายที่ผิวหนังโดยถ่ายเทให้อากาศ
- การแผ่รังสีความร้อน (radiation) เป็นการระบายความร้อนออกจากร่างกายในรูปของคลื่นรังสี ที่แผ่ออกไปทุกทิศทุกทาง โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง
- การระเหยความร้อน (evaporation) เป็นการระบายความร้อนออกจากร่างกายที่ออกทางผิวหนังเช่นเหงื่อและทางเดินหายใจโดยที่เราไม่รู้สึกตัว
ใน 4 วิธีนี้ การระเหยความร้อน (evaporation) โดยการขับเหงื่อ มีประสิทธิภาพสูงสุดในการระบายความร้อนออกจากร่างกาย แต่กรณีที่อุณหภูมิของอากาศใกล้เคียงกับอุณหภูมิของร่างกาย วิธีนี้จะมีประสิทธิภาพน้อยที่สุด ซึ่งเห็นได้ว่า ในผู้ป่วยโรคลมร้อนทั่วไปไม่มีเหงื่อออก แต่วิธีการนำความร้อน (conduction) จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ดังนั้นการเช็ดตัวด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิของร่างกาย สามารถระบายความร้อนได้ดี จึงช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายได้
เมื่ออากาศร้อน นอกจากร่างกายตอบสนองโดยมีการสร้างเหงื่อมากขึ้นแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาอื่นๆอีก เช่น อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น เลือดไหลเวียนไปที่ผิวหนังเพิ่มขึ้นแต่มีเลือดไหลเวียนที่อวัยวะภายในลดลง ทำให้มีโอกาสที่จะขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญ ได้แก่ สมอง หัวใจ ตับและไต ส่งผลให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่ใช้ยาบางชนิด เช่น ยาที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว ยาปิดกั้นเบตา ยาต้านฮีสตามีน ยาขับปัสสาวะ และยาธัยรอยด์ มีผลให้เลือดไปที่ผิวหนังลดลง ทำให้การระบายความร้อนลดลง จึงมีโอกาสเกิดโรคลมร้อนง่ายขึ้น
โรคลมร้อนหรือโรคลมแดด ทำให้เกิดความผิดปกติต่างๆ ดังนี้
- ระบบประสาทส่วนกลาง อุณหภูมิที่สูงขึ้นในร่างกายทำให้เกิดภาวะของสมองบวม สมองขาดเลือด และเมแทบอลิสมผิดปกติ จึงมีผลให้ระบบประสาทส่วนกลางทำงานผิดปกติ ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ทำให้มีอาการสับสน กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เดินเซ ชักเกร็งและหมดสติ ที่สำคัญในรายที่รุนแรงหรือไม่ได้รับการรักษาอาจมีความพิการทางระบบประสาทอย่างถาวร
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคลมร้อน มีภาวะขาดน้ำ (dehydration) มีปริมาตรของเลือดในร่างกายน้อย (hypovolemia) และมีการคลายตัวของหลอดเลือดส่วนปลาย ทำให้ความดันโลหิตต่ำ อัตราการเต้นของหัวใจเร็วผิดปกติ บางรายพบว่ามีการเต้นไม่เป็นจังหวะร่วมด้วย และอาจพบผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ซึ่งความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ และความดันโลหิตต่ำ ทำให้อันตรายการถึงแก่ชีวิตได้
- โลหิตวิทยา ผู้ป่วยโรคลมร้อน มีภาวะขาดน้ำ มีปริมาณส่วนน้ำเลือดในร่างกายน้อย ทำให้เลือดข้น (polycythemia) ซึ่งจะส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย พบว่าเมื่ออุณหภูมิกายสูงช่วง 42-44 องศาเซลเซียส มีผลกระทบต่อเมแทบอลิสมของเซลล์และการทำงานของเอนไซม์ ได้แก่กระตุ้นให้เกร็ดเลือดทำงาน ทำให้เกิดลิ่มเลือดเล็กๆกระจายทั่วไปในหลอด
- ระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยโรคลมร้อนทั้งสองประเภท มีอัตราการหายใจเร็วผิดปกติ โดยในผู้ป่วยโรคลมร้อนจากการออกกำลังกาย จะเริ่มด้วย respiratory alkalosis ต่อมาเป็นภาวะเลือดเป็นกรด (metabolic acidosis) พบกรดแลคติกในเลือดสูง และเนื้อเยื่อถูกทำลายอย่างถาวร แต่ในผู้ป่วยโรคลมร้อนทั่วไปจะเกิด respiratory alkalosis อย่างเดียวเท่านั้น ในรายที่รุนแรงของโรคลมร้อนหรือโรคลมแดด ทั้งสองประเภทพบว่ามีปอดบวม เนื้อเยื่อปอดตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยง รวมถึงอาจเกิดภาวะกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับยาสงบระงับ (sedation) และใส่ท่อเข้าหลอดลมร่วมกับการใช้เครื่องช่วยหายใจ
- ระบบทางเดินอาหาร ลำไส้และตับถูกทำลายเนื่องจากความร้อนโดยตรงและจากการมีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงน้อยลง มีการเพิ่มการซึมผ่านของลำไส้เพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้สารพิษผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้ ส่งผลให้เกิดการตอบสนองต่อการอักเสบอย่างรุนแรง ส่วนตับถูกทำลาย พบอาการดีซ่านและเอนไซม์ตับสูงขึ้น อาจเกิดภาวะตับวาย ซึ่งแม้ว่าพบน้อย แต่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างมาก
- ระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยโรคลมร้อนหรือโรคลมแดด มีภาวะขาดน้ำ มีปริมาตรของเลือดในร่างกายน้อย ทำให้ปัสสาวะน้อย มีการสลายของกล้ามเนื้อลาย (rhabdomyolysis) และภาวะลิ่มเลือดกระจายทั่วไปในหลอดเลือด (disseminated intravascular coagulation; DIC) ส่งผลให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน จึงสามารถตรวจพบระดับครีอะตีนิน ไคเนส สูง ในผู้ป่วยโรคลมร้อนทั้งสองประเภท และพบว่าโอกาสเกิดไตวายเฉียบพลันในผู้ป่วยโรคลมร้อนจากการออกกำลังกายมากกว่าในผู้ป่วยโรคลมร้อนทั่วไป
- อิเล็กโทรไลท์ปริมาณอิเล็กโทรไลท์ในเลือดผิดปกติ ได้แก่ ในระยะเริ่มแรก ระดับโพแตสเซียม ฟอสเฟตในเลือดต่ำ ต่อมาเมื่อเนื้อเยื่อถูกทำลายมากขึ้น จะพบระดับของแคลเซียมในเลือดต่ำและฟอสเฟตในเลือดสูง
การป้องกัน
เรียนรู้อันตรายของโรคลมหรือโรคลมแดด ปัจจัยเสี่ยง และปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันตนเองรวมทั้งบุคคลในครอบครัว ดังนี้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายในสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำบ่อยๆ โดยไม่รอให้กระหายน้ำ และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน หลวมๆไม่รัดแน่น ควรเป็นเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องอยู่กลางแดด ไม่ออกกำลังกายในที่มีอากาศร้อนเป็นเวลานาน
- เฝ้าระมัดระวังดูแลเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง ให้อยู่ในที่มีอากาศถ่ายเท และปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการเกิดโรคลมร้อน
การปฐมพยาบาล
เมื่อพบผู้ป่วยโรคลมร้อนหรือโรคลมแดด ควรช่วยเหลือดังนี้
- เคลื่อนย้ายเข้าในที่ร่ม นอนราบและยกเท้าสูงทั้งสองข้าง
- คลายเสื้อผ้าให้หลวม ไม่รัดแน่น
- รีบช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกายผู้ป่วย ด้วยการเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น เพื่อลดอุณหภูมิกายโดยเร็ว
- นำส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว สามารถโทร 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ