เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


รอบรู้เรื่องธาตุกัมมันตรังสี


ผศ.ดร.ภก.กิตติศักดิ์ ศรีภา ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 421,797 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 22/03/2554
อ่านล่าสุด 17 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ตอนนี้ข่าวที่เป็นที่สนใจคงไม่พ้นการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นหลังจากเกิดแผ่นดินไหว ตามด้วยสึนามิ ก็คงต้องแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ผมก็เชื่อมั่นว่าชาวญี่ปุ่นจะร่วมมือร่วมใจกันเพื่อทำให้ทุกอย่างกลับสู่สภาพเดิมได้ ขอเป็นกำลังใจให้ครับ

กลับมาเรื่องที่เป็นหัวข้อของเรา “รอบรู้เรื่องธาตุกัมมันตรังสี” ผมว่าหลายท่านคงพอจะทราบมาบ้างแล้ว แต่อาจจะไม่ทราบรายละเอียดมากนัก ตามปกติบนโลกของเรามีแร่ธาตุอยู่หลายชนิด ตามที่มีการค้นพบกัน เช่น โซเดียม (sodium [Na]) โพแตสเซียม (potassium [K]) หรือ กำมะถัน (sulfur [S]) เป็นต้น ธาตุเหล่านี้มักพบเป็นส่วนประกอบของสารเคมีต่างๆ ทั้งที่อันตรายและไม่อันตราย แต่จะมีธาตุอยู่กลุ่มหนึ่ง จะอยู่บริเวณตอนกลางและด้านล่างของตารางธาตุ ถ้าคนไหนเคยเรียนเคมี ม.ปลาย คงจำเรื่องตารางธาตุกันได้ ธาตุที่มีเลขอะตอมตั้งแต่ 83 ขึ้นไปจะมีคุณสมบัติพิเศษที่เรียกว่ามี ไอโซโทป (isotope) ที่ไม่คงตัว สามารถสลายตัวให้ กัมมันตภาพรังสี ธาตุที่เราได้ยินชื่อกันบ่อยๆ เช่น ยูเรเนียม (uranium, ใช้สัญลักษณ์ว่า U) หรือ พลูโตเนียม (plutonium, ใช้สัญลักษณ์ว่า Pu) แร่ธาตุเหล่านี้จะมีไอโซโทปที่ไม่เสถียรจะสลายตัวกลายเป็นธาตุที่เสถียรพร้อมๆกับปลดปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกมา (คำว่า ไอโซโทป เป็นศัพท์ที่รู้จักกันดีในหมู่นักเคมีฟิสิกส์ จะใช้ในกรณีที่ธาตุชนิดเดียวกันแต่มีมวลของอะตอมที่แตกต่างกัน)

กัมมันตภาพรังสีที่เกิดจากธาตุกัมมันตรังสีมีทั้งหมด 3 ชนิด คือ รังสีของอนุภาคแอลฟา (alpha, [α]) รังสีของอนุภาคแอลฟาเบต้า (beta [β]) และ รังสีแกมม่า (gamma [g])ถามว่ารังสีทั้งสามชนิดนี้ชนิดใดน่ากลัวที่สุด คงจะต้องตอบว่าน่ากลัวทั้งสามชนิดถ้าได้สัมผัสโดยตรง เพราะรังสีทั้งสามชนิดสามารถทำลายเนื้อเยื่อได้ แต่ถ้าพูดถึงอำนาจการทะลุทะลวงแล้วรังสีแกมม่ามีอำนาจทะลุทะลวงมากสุด ถัดไปเป็นรังสีเบต้า อำนาจทะลุทะลวงต่ำสุดคือแอลฟา แต่อย่างไรก็ตามรังสีทั้งสามชนิดไม่สามารถทะลุผ่านผนังคอนกรีตที่มีความหนามากๆได้ ดังนั้นถ้าต้องการหลบอันตรายจากรังสีเหล่านี้ท่านต้องหลบในห้องที่บุด้วยคอนกรีตหนาๆทั้งสี่ด้าน

เมื่อรู้จักชนิดต่างๆของกัมมันตภาพรังสีแล้ว เราลองมาดูตัวอย่างของการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสี เช่น ยูโรเนียม 234 ใช้สัญลักษณ์ว่า 234U (เลข 234 หมายถึง มวลของยูเรเนียมไอโซโทปชนิดนี้) ในธรรมชาติจะสลายตัวให้ thorium-230 (230Th) และ รังสีแอลฟา (α) เขียนเป็นสมการได้ดังนี้

หรือยูโรเนียม 238 (238U) เมื่อทิ้งไว้ตามธรรมชาติจะสลายตัวได้ธาตุตัวกลางหลายชนิดที่ยังคงสลายตัวให้กัมมันตภาพรังสี จนในที่สุดได้ธาตุตะกั่ว ใช้สัญลักษณ์ว่า 206Pbซึ่งคงตัว ไม่สลายกลายเป็นธาตุอื่นและปลดปล่อยกัมมันตภาพรังสีได้อีก

ในเรื่องธาตุกัมมันตรังสียังมีอีกคำศัพท์หนึ่งที่ควรรู้คือ ค่าครึ่งชีวิต หรือ haft life (h1/2) หมายถึงระยะเวลาในการสลายตัวของสารกัมมันตรังสีจนเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของปริมาณเริ่มต้น เช่น ไอโอดีน 131 มีค่าครึ่งชีวิตประมาณ 8 วัน ถ้ามี ไอโอดีน 131 อยู่ 1 กรัม เมื่อเวลาผ่านไป 8 วันก็จะสลายตัวเหลือไอโอดีนอยู่ 0.5 กรัม และเมื่อผ่านไปอีก 8 วัน ก็จะเหลือ 0.25 กรัม ดังนั้นธาตุกัมมันตรังสีใดมีค่าครึ่งชีวิตสั้น ธาตุเหล่านั้นก็จะสลายตัวได้ง่าย มีอันตรายได้น้อยกว่าธาตุที่มีค่าครึ่งชีวิตที่ยาวนาน

สำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเตาปฏิกรณ์ปรมาณูซึ่งเป็นที่นิยมมากในประเทศพัฒนาแล้วหลายๆประเทศ จะใช้ปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่เรียกว่าปฏิกิริยาฟิชชั่น (fission) ทำได้โดยการยิงนิวตรอนพลังงานต่ำ (ถือว่าเป็นพลังงานรูปแบบหนึ่ง) ไปยังธาตุ ยูเรเนียม 235 (235U) หรือ 238 (238U) ซึ่งนิยมใช้เป็นเชื้อเพลิงปรมาณู จากนั้นจะเกิดสารกัมมันตรังสีตัวใหม่ประมาณ 34 ตัว เช่น barium(141Ba),krypton(92Kr), strontium (93Sr), xenon (140Xe) เป็นต้น iodine-131 (131I) และ cesium-137 (137Cs) ก็จัดเป็นธาตุกัมมันตรังสีที่เป็นผลผลิตที่เกิดจากปฏิกิริยาฟิชชั่นของเตาปฏิกรณ์ปรมาณู นอกจากนี้ยังมีการปลดปล่อยกัมตภาพรังสี พลังงาน และนิวตรอนตัวใหม่ ซึ่งนิวตรอนตัวใหม่ที่เกิดขึ้นก็จะวิ่งชนยูเรเนียมต่อไปกลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ไม่รู้จบ ดังนั้นจึงเกิดการผลิตพลังงานอย่างมหาศาล ซึ่งถ้ามีการควบคุมพลังงานนี้ได้ ก็จะสามารถนำพลังงานนี้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมาย เช่น การผลิตกระแสไฟฟ้า โดยทั่วไปจะใช้แท่งควบคุมนิรภัยเพื่อใช้ควบคุมปฏิกิริยาภายในเตา จะเห็นได้ว่าพลังงานที่เกิดขึ้นจะอยู่ในรูปของความร้อน ดังนั้นส่วนประกอบสำคัญสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกอย่างคือระบบระบายความร้อน (coolant)โดยจะใช้ อากาศ น้ำ โลหะเหลวปนสารอินทีย์ หรือของไหลอื่นๆ เป็นตัวช่วยระบายความร้อน ดังนั้นถ้าระบบนี้มีปัญหาอาจจะทำให้แกนกลางของการเกิดปฏิกิริยาเกิดการหลอมละลายและเกิดการปลดปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกมาในที่สุด นอกจากนี้ในเตาปฏิกรณ์ยังมีส่วนประกอบของฉากป้องกันรังสี (shielding) เพื่อป้องกันอนุภาครังสีต่างๆเล็ดลอดออกมาจากเตาปฏิกรณ์ วัสดุที่นิยมใช้ เช่น เหล็ก คอนกรีตหนา เป็นต้น

ถ้าเราได้สัมผัสกับกัมมันตภาพรังสีที่ควบคุมไม่ได้ เช่น เกิดอุบัติเหตุโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด หรือระเบิดนิวเคลียร์ แล้วเราอยู่ในบริเวณที่กัมนตภาพรังสีเดินทางไปถึง อันตรายที่เกิดขึ้น คือ อนุภาครังสี หรือรังสีพวกนี้จะมีผลต่อเซลล์ในร่างกาย ถ้าได้รับปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าได้รับปริมาณน้อยๆก็อาจทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งได้

แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการนำกัมมันตภาพรังสีมาใช้ประโยชน์อย่างมากมาย ในกรณีนี้จัดเป็นกัมมันตภาพรังสีที่ควบคุมได้ให้อยู่ในปริมาณที่ปลอดภัย เช่น ไอโอดีน 131 ใช้รักษามะเร็งหรือติดตามความผิดปกติ

ที่ต่อมไทรอยด์ โคบอลล์ 60 ใช้ถนอมอาหารโดยใช้รังสีแกมม่าฆ่าเชื้อที่มากับอาหาร ใช้คาร์บอน 14 ในการคำนวณหาอายุของวัตถุโบราณ เป็นต้น

 

 

 

 

 

ที่มา

  1. Jurs MS. Nuclear chemistry. In Jurs MS eds. 2nd Chemistry, the molecular science. Belmont: Thomson Learning Inc., 2005: 964-1001.
  2. เคมีนิวเคลียร์ ใน เคมีเล่ม 2 ทบวงมหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร: อักษรเจริญทัศน์, 2541: 223-266.
แหล่งอ้างอิง/ที่มา


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 1 นาทีที่แล้ว
ยาตีกัน 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้