เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างไร ครอบคลุม คุ้มครอง คุ้มค่า?


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คณิสส์ เสงี่ยมสุนทร ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://sandyandrich.com/wp-content/uploa...eck-up.jpg
อ่านแล้ว 11,628 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 27/01/2562
อ่านล่าสุด 12 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


กระแสความตื่นตัวด้านการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงปราศจากโรคภัยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจด้านสุขภาพ (health business) เกิดขึ้นมากมาย ผู้อ่านหลายท่านอาจได้รับคำแนะนำให้ไปตรวจสุขภาพประจำปี ณ สถานพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง อาจได้รับชมสื่อโฆษณาแบบแผนการประกันสุขภาพที่รวมโปรแกรมตรวจสุขภาพ ชูโรงเป็นจุดขาย รวมถึงการได้รับการเชิญชวนไปตรวจในรายการต่าง ๆ เช่น โปรแกรมตรวจสุขภาพ 25 รายการ โปรแกรมเจาะเลือดตรวจคัดกรองมะเร็ง 10 รายการ หรือ การตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัย เพียงแค่เจาะเลือดวินิจฉัยมะเร็งได้ทุกโรค นอกจากนั้นอาจมีการโหมโฆษณาโดยมีนาฏกรรม (drama) เรียกความสนใจต่อผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ได้อย่างดี คู่กับวลีที่ว่า "ไม่มาตรวจคัดกรอง รู้ช้า รักษาไม่ได้" หลายครั้งผู้บริโภคเข้ารับการตรวจครบทุกรายการเป็นประจำ แต่ท้ายที่สุดกลับพบว่าเป็นโรคร้ายแรงในระยะท้าย ๆ ทั้งที่ในปีที่ผ่านมาตรวจไม่พบโรคใด ๆ ทำให้หลายท่านสงสัยว่า เรายังควรไปตรวจสุขภาพเป็นประจำหรือไม่ และ ควรตรวจสุขภาพอย่างไร ให้ ครอบคลุม คุ้มครอง คุ้มค่า ผมขอเชิญท่านผู้อ่านทุกท่านศึกษาได้จากบทความนี้ได้เลยครับ 
 
ภาพจาก : https://www.kentuckycare.net/wp-content/uploads/2018/10/places-to-get-a-physical-doctor-walk-in-clinic-Kentucky-annual-doctor-checkup.jpg 
ตรวจสุขภาพประจำปี จำเป็นหรือไม่ ตรวจเพื่ออะไร ? 
การตรวจสุขภาพประจำปีจัดว่ามีความจำเป็น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคในอนาคตและสามารถวางแผน ปรับลดปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องกันการเกิดโรค ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมวิถีการดำเนินชีวิต รวมทั้งชนิดและขนาดยาที่รับประทาน เป็นต้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การค้นหาโรคในระยะเริ่มต้น เพื่อหยุดยั้ง ป้องกัน รักษาโรคในระยะแรกได้ทันท่วงที เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคและมีชีวิตยืนยาว 
ตรวจสุขภาพประจำปี เราควรตรวจโรคอะไรบ้าง ? 
เมื่อเราย้อนมองผู้คนรอบข้างในสังคมไทย สาเหตุของการเสียชีวิตและทุพลภาพส่วนมากเกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตไม่แพ้กันคือ โรคมะเร็ง ดังนั้นการตรวจสุขภาพควรตรวจคัดกรองภาวะ สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง และ โรคเบาหวาน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และ การไม่ออกกำลังกาย โรคที่ควรทำการตรวจคัดกรองในการตรวจสุขภาพประจำปี ควรเป็นโรคที่พบได้บ่อย เมื่อพบเร็วสามารถรักษาให้หายขาดได้ และหากไม่รักษาในระยะเริ่มต้นอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว 
กรณีของโรคมะเร็ง ชนิดของมะเร็งที่ควรตรวจคัดกรองควรเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย และรักษาให้หายขาดได้เมื่อพบในระยะแรก โดยโรคมะเร็งที่แนะนำให้ตรวจคัดกรองในบุคคลทั่วไป คือ โรคมะเร็งเต้านมและโรคมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง โรคมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชาย และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในทั้งสองเพศ ในกรณีของโรคมะเร็งในอวัยวะอื่น ๆ นั้น แนะนำให้ตรวจในบุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งชนิดดังกล่าวเท่านั้น เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งตับในผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบีเรื้อรัง 
ตรวจสุขภาพประจำปี ท่านควรตรวจอย่างไรดี ? 
เนื่องจากสภาพชีวิตประจำวันแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน เช่น เพศ อายุ สถานที่ทำงาน การเดินทาง มลภาวะที่ได้รับ ย่อมส่งผลต่อการเกิดโรคที่แตกต่างกัน การตรวจสุขภาพประจำปีย่อมมีความแตกต่างกัน โดยปรับให้เหมาะกับสภาพและปัจจัยของผู้เข้ารับการตรวจ เช่น ช่วงอายุ ปัจจัยเสี่ยง ประวัติครอบครัว ซึ่งย่อมมีความแตกต่างกันไปในคนไข้แต่ละราย แนวทางการตรวจควรตรวจเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการหมั่นสำรวจความเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติของร่างกายตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะไม่มีการตรวจคัดกรองใดดีเท่ากับการใส่ใจดูแลสุขภาพด้วยตัวของท่านเอง 
ตรวจสุขภาพประจำปี เราควรตรวจด้วยวิธีการอย่างไรบ้าง ? 
แม้ว่าเทคโนโลยีการตรวจสารคัดหลั่งหรือการตรวจเลือดจะพัฒนาไปมากเพียงใด ก็ยังไม่สามารถนำมาใช้ตรวจคัดกรองโรคด้วยวิธีการเดียวได้ การตรวจสุขภาพที่แม่นยำเพื่อคัดกรองและป้องกันโรคต้องอาศัยวิธีการร่วมกันแบบผสมผสาน จากนั้นแพทย์จะนำผลที่ได้มาใช้ในการแปลผลการวินิจฉัยโรค ไม่สามารถใช้ผลการตรวจเลือดหรือผลการถ่ายภาพรังสีวินิจฉัยเพียงอย่างเดียวมาวินิจฉัยโรคได้ ดังนั้นขั้นตอนในการตรวจสุขภาพต้องประกอบด้วย

  1. การซักประวัติโดยละเอียด
  2. การตรวจร่างกายตามระบบ
  3. การรายงานผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  4. การอ่านผลภาพรังสีวินิจฉัยตามข้อมูลปัจจัยเสี่ยงที่ได้รับจากผู้ป่วย

ด้วยเหตุนี้หากผู้อ่านท่านใดได้รับข้อมูลจากนักธุรกิจสุขภาพว่า เพียงแค่เจาะเลือดครั้งเดียว สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็ง 10 ชนิดได้ ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากขาดการซักประวัติครอบครัวหรือปัจจัยเสี่ยงการเป็นมะเร็งชนิดต่าง ๆ ในกรณีเดียวกัน แพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยโรคเบาหวานได้ด้วยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั่วร่างกายโดยไม่มีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด 
ตรวจสุขภาพประจำปี เรายังควรตรวจอยู่หรือไม่ ? 
เรายังควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ แต่อาจไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี โดยเฉพาะท่านผู้อ่านที่อายุน้อยและไม่มีปัจจัยเสี่ยงใด ๆ สามารถเว้นระยะการตรวจเป็น ทุก ๆ 2-3 ปี แต่สำหรับบางท่านที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งตับ เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี อาจจะต้องตรวจถี่ขึ้นกว่าคนปกติทั่วไปปีละหลายครั้ง และควรได้รับการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์บริเวณช่องท้องในทุก 6 เดือน ท่านผู้อ่านสามารถอ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง มะเร็งตับ รู้เร็ว วินิจฉัยเร็ว รักษาหายได้ ดังนั้นความถี่ในการตรวจจะมีความแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย 
ตรวจสุขภาพประจำปี ไม่เคยเจออะไร ? ไฉนเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย ? 
วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดต่าง ๆ มีความแตกต่างกันอย่างมาก แพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีการตรวจคัดกรองที่เหมาะสมกับมะเร็งชนิดนั้น ๆ มะเร็งบางชนิดสามารถตรวจคัดกรองได้ด้วยวิธีตรวจร่างกายปกติ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งปากมดลูก มะเร็งบางชนิดต้องอาศัยการตรวจทางรังสีวินิจฉัย เช่น มะเร็งตับอาศัยวิธีการตรวจอัลตร้าซาวด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ มะเร็งทางเดินอาหารส่วนต้นและลำไส้ใหญ่ต้องอาศัยการส่องกล้องร่วมกับการซักประวัติครอบครัวและตรวจร่างกาย หากเลือกวิธีการตรวจที่ไม่เหมาะสม ถึงอย่างไรก็ตรวจไม่พบ ในกรณีของการเอกซเรย์ปอดเพื่อตรวจหามะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นเป็นประจำแล้วไม่พบ แต่กลับป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เนื่องจากการตรวจเอกซเรย์ปอดทั่ว ๆ ไปมีโอกาสพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นน้อยมาก ในปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดจะใช้วิธีการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบรังสีต่ำ (low dose CT scan) จึงจะได้ผลการตรวจที่แม่นยำ 
ตรวจสุขภาพประจำปี ทุ่มทุนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั้งตัว ตรวจทุกค่าบ่งชี้มะเร็ง จำเป็นหรือไม่ ? 
ท่านผู้อ่านบางท่านอาจตั้งข้อสังเกตส่วนตัวว่า ดิฉัน หรือ กระผม ยอมทุ่มทุน ขอตรวจวินิจฉัยครบทุกรายการจะได้พบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจะดีหรือไม่ ผู้เขียนขอตอบท่านเหล่านี้ว่า การตรวจหาค่ามะเร็งในเลือดที่ได้ยินตามโฆษณาจากนักธุรกิจสุขภาพ มีผลบวกและผลลบลวงสูงมาก ซึ่งสามารถอธิบายอย่างง่ายว่า การตรวจพบว่ามีค่าบ่งชี้มะเร็งสูงผิดปกติไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นมะเร็งชนิดนั้น ๆ และผลการตรวจค่าบ่งชี้มะเร็งที่ปกติ ไม่ได้รับประกันว่าท่านจะไม่เป็นมะเร็ง ทั้งนี้การตรวจได้ค่าบ่งชี้มะเร็งสูงผิดปกติ อาจสร้างความวิตกกังวลต่อผู้ป่วย และ นำไปสู่การสืบค้นข้อมูลอย่างตื่นตระหนก อาจทำให้ท่านมาพบกับบทความนี้โดยบังเอิญก็เป็นได้ ผู้ป่วยอาจเสียเวลาและรายจ่ายในการตรวจเพิ่มเติมและเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนในการตรวจเพิ่มเติมได้ ในปัจจุบันยังไม่มีค่าบ่งชี้มะเร็งในเลือดชนิดใด ๆ ที่ให้ผลแม่นยำในการตรวจคัดกรองมะเร็ง หากท่านต้องการเลือกวิธีการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ท่านต้องยอมรับกับผลกระทบที่ตามมาหลายประการ เช่น การได้รับสารรังสีในปริมาณมาก อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง และ ในบางท่านต้องได้รับสารทึบรังสี สารเหล่านี้มีความเป็นพิษต่อไต อาจเกิดภาวะไตวายในผู้ป่วยที่มีโรคไต ท้ายที่สุดรอยโรคที่พบจากการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์อาจไม่ใช่มะเร็งเสมอไป นอกจากนั้นมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่สามารถตรวจได้ในระยะเริ่มตันด้วยวิธีดังกล่าวนี้ 
ท้ายที่สุดนี้ การมีสุขภาพที่ดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ จะเกิดขึ้นได้ ไม่จำเป็นต้องทุ่มทุนทรัพย์เสมอไป เพียงแค่ท่านผู้อ่าน ศึกษาองค์ความรู้ด้านสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ การตรวจสุขภาพเป็นประจำ ยังคงมีความจำเป็นในการดูแลรักษาสุขภาพเพราะสามารถค้นหาปัจจัยเสี่ยงของโรค ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดโรค การให้ภูมิคุ้มกันโรคจากวัคซีน ยา หรือ สารเคมี ผู้อ่านควรเลือกโปรแกรมการตรวจสุขภาพอย่างรู้ทันท่วงที เพื่อลดความวิตกกังวลและผลข้างเคียงที่จะตามมาได้ครับ ควรเลือกการตรวจสุขภาพประจำปีใน แนวทาง ครอบคลุม คุ้มครอง คุ้มค่า เพื่อสุขภาพที่ดีของท่านผู้อ่านเองและบุคคลที่ท่านรัก สวัสดีครับ 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. https://myblue.bluecrossma.com/healthy-living/screening-guidelines-adults
  2. https://owlcation.com/stem/How-To-Understand-Your-Blood-Tests-Biochemistry
  3. https://www.cancer.net/navigating-cancer-care/diagnosing-cancer/tests-and-procedures/tumor-marker-tests
  4. https://www.cancer.gov/about-cancer/diagnosis-staging/diagnosis/tumor-markers-fact-sheet
  5. ตรวจสุขภาพประจำปี ดีหรือไม่? อ.นพ.สุปรีชา อัสวกาญจน์ 99 ปี ศัลยศาสตร์ศิริราช “สุขภาพน่ารู้สู่ประชาชน” 2559


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง 3 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้