เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


มะเร็งตับ รู้เร็ว วินิจฉัยเร็ว รักษาหายได้


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คณิสส์ เสงี่ยมสุนทร ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://2nznub4x5d61ra4q12fyu67t-wpengin...ancer1.gif
อ่านแล้ว 66,216 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 21/02/2561
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ร่างกายของคนเรานั้นจะดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยการทำงานร่วมกันของอวัยวะสำคัญอยู่หลายชนิด หากเราพิจารณาถึงอวัยวะที่มีความสำคัญต่อชีวิต (vital organs) อวัยวะเหล่านี้ได้แก่ สมอง หัวใจ ไต ตับ และ ปอด ถ้าหากเกิดโรคหรือความผิดปกติกับอวัยวะเหล่านี้ เราจะไม่สามารถมีชีวิตอย่างปกติสุขได้ จากสภาพแวดล้อมและสังคมในปัจจุบัน อวัยวะที่รับบทหนักในการทำงานเพื่อรักษาสมดุลร่างกาย กำจัดสารพิษ หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางเคมีของยาให้ออกฤทธิ์ในการรักษาโรค ย่อมหนีไม่พ้น ตับ ที่ทำหน้าที่ครอบจักรวาลเหล่านี้ ตำแหน่งของตับจะอยู่บริเวณช่องท้องใต้ชายโครงด้านขวา หน้าที่ของตับที่สำคัญได้แก่ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด การสร้างและเก็บสะสมแป้งและไขมันเพื่อเป็นพลังงาน การสร้างกรดอะมิโนรวมทั้งวิตามิน ผลิตน้ำดี และการกำจัดของเสียในระบบไหลเวียนเลือด 
 
ภาพจาก : http://liverandpancreassurgeon.com/wp-content/uploads/2016/11/
primary-secondary-liver-cancer-surgeon-baltimore-md.jpg 
มะเร็งตับ (liver cancer) จะเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ในบริเวณตับมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างผิดปกติและพัฒนาเป็นมะเร็งในที่สุด หรืออาจเกิดจากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งจากอวัยวะอื่น ๆ มายังตับก็ได้ ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับจะไม่แสดงอาการจนกว่าก้อนมะเร็งจะมีขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นระยะที่ยากต่อการรักษา จากการรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่ามะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับที่ 6 จากมะเร็งทั้งหมด นอกจากนั้นยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากมะเร็งเป็นอันดับที่ 3 ในประเทศไทยจะพบอัตราการป่วยจากมะเร็งตับเป็นอันดับ 3 ในเพศชายและอันดับ 7 ในเพศหญิง 
มะเร็งตับมีอาการของโรคอย่างไรบ้าง ? 
เนื่องจากโรคมะเร็งตับจะไม่มีอาการบ่งบอกในระยะแรกเริ่ม จนกระทั่งก้อนมะเร็งพัฒนาจนเกิดพยาธิสภาพหรือความผิดปกติของหน้าที่ตับจึงจะพบอาการเหล่านี้ เช่น น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บช่องท้องส่วนบน โดยมักปวดบริเวณด้านขวา มีอาการบวมที่ช่องท้องหรือคลำพบก้อนใต้ชายโครงด้านขวาเนื่องจากตับโต ผิวหนังและตาเหลือง (ดีซ่าน) อุจจาระมีสีซีดลง อ่อนแรงและรู้สึกไม่สบายตัวและอาจมีไข้ 
ปัจจัยใดบ้างเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งตับ ? 
ปัจจัยที่อาจจะส่งเสริมต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ ได้แก่ ภาวะตับแข็งจากสาเหตุต่าง ๆ โดยปัจจัยที่พบได้บ่อย คือ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และตับแข็งจากการดื่มสุรา นอกจากนั้นแล้วภาวะตับแข็งอาจเกิดจากภาวะไขมันเกาะตับ ภาวะมีโลหะสะสมในตับเช่นเหล็กและทองแดง ภาวะภูมิคุ้มกันต่อต้านตับตนเอง การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน อะฟลาทอกซิน (aflatoxin) จากราที่พบในอาหารแห้ง เช่น ถั่วลิสง หรือ พริกป่นแห้ง ภาวะโรคเบาหวานและการได้รับสารกำจัดศัตรูพืช สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ 
ท่านใดบ้างควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับ ? 
วัตถุประสงค์ของการตรวจหาโรคมะเร็งตับในช่วงระยะเริ่มต้น เพื่อหวังให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที เพิ่มโอกาสในหายขาดจากโรคและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งให้ได้มากที่สุด โดยผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองได้แก่บุคคลเหล่านี้

  1. ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีเรื้อรัง หรือ มีญาติสายเลือดตรงเป็นมะเร็งตับ
  2. ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบชนิดซีเรื้อรังและตรวจพบพยาธิสภาพของเนื้อตับว่ามีพังผืดมาก
  3. ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี เพศชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และเพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
  4. ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการตับแข็ง โดยการเกิดมะเร็งตับไม่ขึ้นอยู่กับสาเหตุการเกิดภาวะตับแข็ง

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับมีกี่วิธี อะไรบ้าง ? 
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับที่นิยมในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 4 วิธีดังนี้

  1. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computer tomography) เป็นวิธีการถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซเรย์ (CT scan) จากหลาย ๆ มุมของร่างกายคนไข้ในเครื่องตรวจ จากนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์จะนำภาพที่ได้มาประมวลผลและสร้างเป็นภาพตัดขวางที่มองเห็นอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ส่วนใหญ่ต้องอาศัยการฉีดสารทึบรังสีเพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนมากขึ้น เพื่อทำให้การวินิจฉัยแม่นยำ ข้อควรระวังในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ คือ ผู้ป่วยจะได้รับรังสีจากการทำเอกซเรย์และสารทึบแสงที่ฉีดเข้าร่างกายอาจส่งผลต่อการทำงานของไต จึงไม่ควรใช้วิธีนี้ในผู้ป่วยโรคไตและไม่ควรตรวจบ่อยถ้าไม่จำเป็น
  2. การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging) หรือ MRI เป็นวิธีการตรวจโดยอาศัยสนามแม่เหล็กพลังงานสูงในการสร้างภาพของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย เนื่องจากตับมีขนาดใหญ่จึงสามารถตรวจเห็นความผิดปกติด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้อย่างชัดเจน ข้อดีของวิธีตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าคือไม่มีรังสีตกค้างในร่างกาย อีกทั้งสารทึบแสงที่ใช้ไม่ส่งผลเสียต่อไต แต่ข้อจำกัดของวิธีนี้คือต้องใช้เวลาในการตรวจนาน เสียงเครื่องตรวจดังรบกวนผู้ป่วย และไม่สามารถทำการตรวจผู้ป่วยที่มีการฝังโลหะอยู่ในร่างกายได้
  3. การตรวจด้วยเครื่องความถี่สูงหรืออัลตร้าซาวด์ (ultrasonography) วิธีนี้จะอาศัยการให้พลังงานคลื่นเสียงความถี่สูงส่งไปยังอวัยวะเป้าหมายที่ต้องการตรวจ และตรวจจับคลื่นเสียงสะท้อนกลับมาสร้างเป็นภาพ สามารถตรวจได้ง่ายและไม่เป็นอันตราย การตรวจอัลตร้าซาวด์ตับจะสามารถมองเห็นก้อนหรือความผิดปกติที่ตับได้โดยไม่ต้องอาศัยสารทึบแสงเหมือนการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะไม่สามารถระบุลักษณะของก้อนได้อย่างชัดเจนว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ ดังนั้นหากตรวจพบก้อนด้วยวิธีอัลตร้าซาวด์แล้ว จะต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยโรคด้วยวิธีอื่น ๆ อีกครั้ง
  4. การตรวจสารบ่งชี้โรคมะเร็งตับ (liver tumor marker) สารบ่งชี้มะเร็งคือสารที่เซลล์มะเร็งสร้างขึ้นและปลดปล่อยเข้าสู่ระบบไหลเวียนในร่ายกาย สารเหล่านี้สามารถตรวจพบได้ในเลือด สารคัดหลั่ง และเนื้อเยื่อต่าง ๆ การตรวจพบระดับสารบ่งชี้มะเร็งในระดับสูง อาจหมายถึงการมีเซลล์มะเร็งบางชนิดในร่างกาย แต่อย่างไรก็ตามค่าสารบ่งชี้มะเร็งไม่ได้มีความจำเพาะทุกครั้ง เช่นค่าสารบ่งชี้มะเร็งสูงอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ และในบางครั้งผู้ที่เป็นมะเร็งอาจตรวจพบค่าสารบ่งชี้มะเร็งในปริมาณที่ต่ำก็ได้

การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับจะนิยมตรวจ ค่าอัลฟาฟีโตโปรตีน (alpha-fetoprotein, AFP) เป็นค่าที่ใช้ในการบ่งชี้ที่ค่อนข้างจำเพาะกับมะเร็งตับและใช้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งตับเบื้องต้นได้ อย่างไรก็ตามภาวะอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกาย เช่น ตับอักเสบจากสาเหตุต่าง ๆ ภาวะการตั้งครรภ์ มะเร็งอัณฑะบางชนิด สามารถทำให้ค่าอัลฟาฟีโตโปรตีนในเลือดสูงขึ้นได้ ถ้าหากผู้เข้ารับการตรวจไม่พบก้อนในตับ แต่มีค่าอัลฟาฟีโตโปรตีนสูงจะยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นมะเร็งตับ 
หากท่านเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งตับจะมีวิธีเฝ้าระวังอย่างไร ? 
สำหรับท่านที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งตับควรเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยคลื่นความถี่สูงหรืออัลตราซาวด์ บริเวณช่องท้องส่วนบนเป็นประจำทุก ๆ 6 – 12 เดือน และควรตรวจค่าสารบ่งชี้มะเร็งตับ อัลฟาฟีโตโปรตีน ในเลือดร่วมด้วย หากเมื่อท่านตรวจคัดกรองแล้วพบก้อนในตับจากวิธีอัลตราซาวด์ แพทย์จะส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อวินิจฉัยก้อนว่าเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือเป็นมะเร็ง หากผู้ตรวจคัดกรองพบอัลฟาฟีโตโปรตีนในเลือดสูง โดยไม่พบก้อนจากการอัลตราซาวด์ให้ผู้ป่วยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและตรวจหาค่าอัลฟาฟีโตโปรตีนซ้ำอีกครั้งภายในระยะเวลา 3 – 4 เดือน และหากค่ายังสูงอยู่ควรตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อตรวจหาก้อนในตับอย่างละเอียด 
หากผู้อ่านท่านใดมี พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือ ญาติ เป็นผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอับเสบชนิด บี หรือ ซี เป็นโรคตับแข็ง หรือดื่มสุราเป็นประจำ มีอายุมากกว่า 40 ปี ในเพศชาย หรือ มากกว่า 50 ปี ในเพศหญิง หรือมีญาติร่วมสายเลือดเป็นมะเร็งตับ บุคคลเหล่านี้ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งตับด้วยวิธีการอัลตราซาวด์บริเวณช่องท้องส่วนบน พร้อมทั้งเจาะเลือดตรวจค่าอัลฟาฟีโตโปรตีนทุก ๆ 6 เดือน อย่าลืมนะครับ โรคมะเร็งตับ รู้เร็ว วินิจฉัยเร็ว รักษาได้ เพื่อสุขภาพที่ดีของท่านผู้อ่านเองและบุคคลที่คุณรัก สวัสดีครับ 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. https://www.cancer.org/cancer/liver-cancer/detection-diagnosis-staging.html
  2. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/liver-cancer/diagnosis-treatment/drc-20353664
  3. https://www.nhs.uk/conditions/liver-cancer/diagnosis/
  4. https://www.medicinenet.com/liver_cancer_hepatocellular_carcinoma/article.htm
  5. รู้ทันโรคมะเร็ง ผ่าตัดได้หายขาด ก่อนตับจะป่วย รู้ก่อนป้องกันได้ อ.นพ.ชุติวิชัย โตวิกกัย 99 ปี ศัลยศาสตร์ศิริราช “สุขภาพน่ารู้สู่ประชาชน” 2559
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้