Eng |
อาจารย์ ภญ. ลักขณา สุวรรณน้อย ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เคยงงกันบ้างไหมคะ ในใบรายงานการตรวจสุขภาพประจำปีของบางท่าน ในบางครั้งจะเห็นค่า CEA, CA-125, PSA, AFP ในรายงานด้วย ค่าเหล่านี้คืออะไร มาหาคำตอบกันค่ะ
โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับแรกในคนไทย และยังมีแนวโน้มการเกิดโรคมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ามะเร็งเป็นโรคที่ทุกคนหวาดกลัวและอยากหลีกหนีให้ไกลที่สุด ดังนั้นคงจะเป็นการดีไม่น้อย หากจะเรียนรู้วิธีป้องกัน หรือลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง หรืออย่างน้อยที่สุดคือการตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มแรกเพื่อการรักษาให้ได้อย่างทันท่วงที โดยในปัจจุบันนี้วิทยาการทางการแพทย์ทางการรักษาและตรวจคัดกรองมะเร็งมีความก้าวหน้าขึ้นเป็นอย่างมาก นอกจากแพทย์จะตรวจร่างกาย การตรวจทางรังสีวินิจฉัยแล้ว ยังมีการตรวจเลือดเกี่ยวกับสารบ่งชี้มะเร็งร่วมด้วยเมื่อมีข้อบ่งชี้
ภาพจาก : https://quodata.de/sites/default/files/shutterstock_291767978.jpg
สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor markers) คือสารที่หลั่งขึ้นจากการที่ร่างกายตอบสนองต่อเซลล์มะเร็ง หรืออาจเป็นสารที่เซลล์มะเร็งหลั่งขึ้นมาเอง สารบ่งชี้เหล่านี้หลายชนิดเซลล์ในภาวะปกติ หรือการมีสาเหตุอื่นๆ มากระตุ้นก็สามารถหลั่งออกมาได้ แต่มักหลั่งในปริมาณที่ไม่สูงนัก โดยมะเร็งแต่ละชนิดและแต่ละระยะของโรคจะมีความจำเพาะกับสารบ่งชี้ที่แตกต่างกันออกไป ประโยชน์ของสารบ่งชี้มะเร็งจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัย คัดกรอง พยากรณ์โรคมะเร็ง หรือติดตามผลการรักษาและสืบค้นการกลับเป็นซ้ำจากโรคมะเร็งได้ ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของสารบ่งชี้มะเร็งที่ตรวจในผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีเหตุปัจจัยอื่นๆ ที่อาจทำให้สารบ่งชี้เหล่านี้มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นมาได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับค่าเหล่านี้ค่ะ อย่าเพิ่งตกใจไปเสียก่อน