Eng |
ภญ.กฤติยา ไชยนอก สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนที่ผ่านมานี้ เชื่อว่าเหล่าพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ คงได้มีโอกาสร่วมกันปลูกต้น “ดาวเรือง” ไว้ตามบ้าน อาคาร และสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ดอกสีเหลืองอร่ามของดาวเรืองได้บานสะพรั่งพร้อมกันในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญของคนไทยทุกคนที่จะได้ร่วมกันแสดงความจงรักภักดี และรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ และในการนี้ก็มีหลายๆ หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่พร้อมใจกันออกมาร่วมรณรงค์ แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ และให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกต้นดาวเรืองแก่ประชาชนกันอย่างมากมาย และในปัจจุบันดาวเรืองไม่ได้เป็นเพียงไม้ประดับหรือไม้ตัดดอกขายสำหรับทำพวงมาลัยเท่านั้น แต่ยังมีการใช้ดาวเรืองในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ด้วย เนื่องจากในดอกดาวเรืองมีสารสำคัญที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจมากมาย
ภาพจาก : https://ak8.picdn.net/shutterstock/videos/8965198/thumb/1.jpg?i10c=img.resize(height:160)
ดาวเรืองใหญ่ (Marigold) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tagetes erecta L. เป็นพืชในวงศ์ COMPOSITAE (ASTERACEAE) ดาวเรืองเป็นไม้ล้มลุก สูง 15 - 60 ซม. ใบประกอบแบบขนนก เรียงตรงข้าม ใบย่อยรูปวงรี ขอบใบหยักฟันเลื่อย ดอกช่อออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมี 2 ลักษณะ คือ ดอกไม่สมบูรณ์เพศอยู่รอบนอกจำนวนมากสีเหลืองหรือเหลืองส้ม ลักษณะคล้ายลิ้นบานแผ่ออก ซ้อนกันหลายชั้น ปลายม้วนลง ดอกสมบูรณ์เพศมีลักษณะเป็นหลอดเล็กๆ จำนวนมาก รวมกลุ่มอยู่บริเวณกลางช่อดอก ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก(1) สรรพคุณแผนโบราณระบุว่า ต้น ขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง แก้จุกเสียด ใบ แก้ฝีหนอง ดอก แก้ปวดฟัน แก้ตาเจ็บ บำรุงตับ ขับร้อน ขับลม ละลายเสมหะ แก้เวียนหัว แก้ตาแดงตาเจ็บเนื่องจากลมและไฟ แก้แผลมีหนอง ขับของเสีย(1) สารสำคัญที่พบในดอกดาวเรืองเป็นสารให้สีในกลุ่มแคโรทีนอยด์ คือ ลูทีน (lutein) พบประมาณ 88% และซีแซนทีน (zeaxanthin) พบประมาณ 5% ซึ่งทั้ง 2 ชนิดเป็นแคโรทีนอยด์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในร่างกายได้ (non-provitamin A carotenoids) เรียกกลุ่มย่อยนี้ว่า แซนโทฟิลล์ (xanthophylls)(2) นอกจากนี้ยังพบสารสำคัญในกลุ่ม flavonoids, terpenoids และ steriods(3 - 8) ซึ่งมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยามากมาย
การใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
การใช้ดอกดาวเรืองหรือสารสกัดจากดอกดาวเรืองเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ จะช่วยสัตว์มีสุขภาพดีและมีสีสันสวยงาม หากผสมในอาหารสัตว์ปีกจะทำให้ไข่แดงมีสีเข้มขึ้นและช่วยให้มีคุณค่าทางอาหารมากขึ้น(3 - 7, 9)
การใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
นอกจากการใช้สีที่ได้จากสารแคโรทีนอยด์เพื่อการแต่งสีในผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ว น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากดอกดาวเรืองยังถูกใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในน้ำหอมคุณภาพสูงต่างๆ ด้วย ซึ่งน้ำมันดังกล่าวนี้ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฆ่าเชื้อ ฝาดสมาน ขับน้ำนม และฆ่าแมลงด้วย(3 - 7) และการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าสารสกัดเมทานอล ส่วนสกัดของเอทิลอะซิเตด เอ็น-บิวทานอล และน้ำของดอกดาวเรืองมีฤทธิ์ปกป้องและช่วยบำรุงผิว โดยพบว่าสารสกัดต่างๆ เหล่านี้มีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไฮยาลูโรนิเดส (hyaluronidase) อีลาสเตส (elastase) และเมทริก เมตาโลโปรติเนส (MMP-1) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ย่อยโปรตีนในชั้นผิวหนัง ทำให้ผิวแห้งเหี่ยว ขาดความยืดหยุ่น และสารออกฤทธิ์ที่พบคือ กรดไซรินจิก (syringic acid) และเบต้า-อะไมริน (β-amyrin)(10)
การใช้ในอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ดอกดาวเรืองเป็นดอกไม้ที่สามารถนำมารับประทานได้ ซึ่งอาจนำมาโรยในสลัด ทำเป็นเมี่ยงดอกไม้ ยำดอกไม้ หรือนำมาชุบแป้งทอด นอกจากนี้ยังนิยมนำน้ำคั้นจากส่วนดอกที่มีสีเหลืองส้มมาแต่งสีให้กับอาหาร เครื่องดื่ม และขนมของหวานต่างๆ เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับการนำดอกดาวเรืองมาใช้กับอาหารก็คือ ควรเป็นดอกดาวเรืองที่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงหรือเป็นดอกดาวเรืองที่ปลูกเอง เพื่อหลีกเลี่ยงสารพิษจากยาฆ่าแมลงที่อาจปนเปื้อนมาได้ นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้เพื่อการบำรุงสายตาซึ่งมีส่วนประกอบของสารลูทีนและซีแซนทีนด้วย เนื่องจากลูทีนและซีแซนทีนมีบทบาทสำคัญในการปกป้องดวงตา โดยเชื่อว่าสารประกอบทั้งสองนี้ทำหน้าที่เป็นสารต้านออกซิเดชันเพื่อป้องกันเซลล์รับแสง (photoreceptor cells) จากอนุมูลอิสระที่เซลล์สร้างขึ้นเนื่องมาจากมีปริมาณออกซิเจนสูง (oxygen tension) และจากการถูกแสง
นอกจากนี้ยังเชื่อว่าสารประกอบทั้งสองนี้มีหน้าที่ในการกรองคลื่นแสงสีฟ้าที่เป็นคลื่นแสงที่มีพลังงานสูง โดยมีการประมาณว่าจะสามารถกรองคลื่นแสงสีฟ้าลงได้ถึง 40% ก่อนที่แสงจะตกถึงแมคูลา (macula) ซึ่งเป็นจุดโฟกัสของดวงตา ทั้งนี้เนื่องจากลูทีนและซีแซนทีนจะมีแถบดูดกลืนแสง (absorption bands) อยู่ที่ใกล้ๆ ส่วนปลายของแถบสีที่คนมองเห็น (visible spectrum) คือส่วนปลายที่เป็นสีฟ้าถึงสีม่วง ทำให้มีคุณสมบัติในการกรองคลื่นแสงสีฟ้าได้ดี ดังนั้นจะสามารถลดสภาวะความเครียดออกซิเดชันต่อจอประสาทตาได้อย่างมีนัยสำคัญ แม้จะไม่มีการกำหนดปริมาณลูทีนที่ควรได้รับต่อวัน (Dietary Recommended Intake (DRI)) แต่มีการศึกษาว่าขนาดที่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อกระจก (cataract) และโรคจอประสาทตาเสื่อม (age-related macular degeneration (AMD)) ได้คือ ⩾6 มก./วัน (2)
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจ
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของดอกดาวเรืองมีเป็นจำนวนมาก โดยพบว่าดาวเรืองมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ(3 - 8, 11 - 13) ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งหลายชนิด(11) มีฤทธิ์ขับพยาธิตัวกลม Caenorhabditis elegans และยับยั้งการวางไข่ของพยาธิดังกล่าว(14) ต้านอาการซึมเศร้า(15 - 16) ช่วยให้หลับ คลายความกังวล(16) ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด(3 - 7, 12 - 13) ต้านเบาหวาน (ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase และ α-amylase) ลดไขมัน (ยับยั้งเอนไซม์ pancreatic lipase)(8) ฆ่าแมลง กำจัดยุง ต้านอักเสบ และบรรเทาปวด(3 - 7) แม้ว่าการศึกษาทั้งหมดจะยังอยู่ในระดับเซลล์และหลอดทดลอง แต่ก็นับว่าดอกดาวเรืองและสารสำคัญต่างๆ มีแนวโน้มที่ดีในการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยบรรเทาอาการของโรคต่างๆ ได้ในอนาคต
แม้พ่อจะไม่ได้อยู่กับเราแล้ว แต่คำสอนของท่านจะยังคงอยู่ตลอดไป เพื่อให้เราทุกคนได้น้อมนำมาปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งตนเอง ผู้อื่น และประเทศชาติของเราค่ะ