เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ฟ้ารั่ว ฝนปรอย กับโรคเมลิออยโดสิส


ผู้ช่วยอาจารย์ เภสัชกร ธีรวิชญ์ อัชฌาศัย ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://cdn.dribbble.com/users/523762/sc...g_girl.jpg
อ่านแล้ว 13,922 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 05/07/2560
อ่านล่าสุด 3 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ปัจจุบันนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่หน้าฝน ทำให้มีฝนตกชุกทั่วประเทศไทยและก่อให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ แต่นอกจากปัญหาน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นแล้ว โรคภัยไข้เจ็บก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่มักจะตามมาในหน้าฝนเช่นกัน หนึ่งในโรคที่สำคัญคือ โรค เมลิออยโดสิส (Melioidosis) 
 
ภาพจาก : https://us.123rf.com/450wm/Tawng/Tawng1303/Tawng130300009/
18587465-editable-illustration-of-people-on-a-city-street-walking-through-rain-with-umbrellas.jpg?ver=6 
เมลิออยโดสิส (Melioidosis) หรือที่รู้จักกันในโรคเมลิออยด์ เป็นโรคติดเชื้อที่พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักพบการระบาดเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูฝน อีกทั้งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคปอดบวมในชุมชน (community-acquired pneumonia) และภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่นภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (septicemia) ที่ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตสูงถึง 70% อีกด้วย 
ใน ปี 2560 นี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานพบผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ จำนวนมากถึง 1,393 ราย ทั่วประเทศไทย และในจำนวนนั้นพบผู้เสียชีวิตถึง 18 ราย โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ จังหวัดอุบลราชธานีพบ 97 ราย ตามมาด้วยจังหวัดศรีสะเกษพบ 86 ราย 
เชื้อก่อโรค 
โรคเมลิออยด์ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ Burkholderia pseudomallei ซึ่งเป็นแบคทีเรีย แกรมลบรูปแท่ง เชื้อนี้มี 2 สายพันธุ์ คือ Arabinose positive (Ara+) และ Arabinose negative (Ara-) แต่ สายพันธุ์ที่มีรายงานการก่อโรคในประเทศไทยคือ สายพันธุ์ Arabinose negative ซึ่งพบได้ในดิน น้ำ และสัตว์หลายชนิด เช่น โค กระบือ แพะ โดยแบคทีเรียชนิดนี้มีระยะฟักตัวในผู้ป่วยที่มีอาการเฉียบพลันตั้งแต่ 1-21 วัน แต่พบเฉลี่ยอยู่ที่ 9 วัน 
การติดต่อ 
เชื้อ B. pseudomallei สามารถเข้าสู่ร่างกายคนผ่านทางผิวหนังที่สัมผัสกับดินหรือน้ำที่เป็นแหล่งรังโรค โดยไม่จำเป็นต้องมีแผลหรือรอยขีดข่วน แต่ในกรณีที่มีการสัมผัสดินและน้ำเป็นเวลานานหรือมีบาดแผลในบริเวณที่สัมผัสจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดโรคมากขึ้น เชื้อ B. pseudomallei ยังสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานอาหารที่มีดินปนเปื้อน หรือดื่มน้ำที่ไม่ได้ผ่านการกรรมวิธีฆ่าเชื้อที่เหมาะสม และผ่านทางการหายใจซึ่งเกิดจากการหายใจนำฝุ่นดิน หรือลมฝนที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไปในปอด โรคนี้โดยปกติไม่ติดต่อจากคนสู่คน แต่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้โดยการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือรับประทานสัตว์ที่เป็นโรค 
ปัจจัยเสี่ยง 
ผู้ที่จำเป็นต้องสัมผัสดินและน้ำเป็นระยะเวลานาน เช่นชาวนา และเกษตรกร จะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคเมลิออยด์สูง นอกจากนั้นผู้ที่มีโรคเรื้อรังอันเป็นสาเหตุให้มีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่นผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง ผู้ที่ได้รับยากดภูมิต้านทาน จะมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเมลิออยด์เช่นกัน 
อาการ 
โรคนี้สามารถทำให้เกิดอาการและอาการแสดงได้หลายรูปแบบและไม่มีอาการเฉพาะชัดเจน ดังนั้นผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค หรือมีปัจจัยเสี่ยงควรระมัดระวัง และสังเกตอาการของตนเอง โดยผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการไข้ติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ และต่อมาอาจเกิดอาการรุนแรงแตกต่างกันไปขึ้นกับตำแหน่งของอวัยวะที่เกิดโรค โดยอาการรุนแรงที่พบได้บ่อยได้แก่ อาการไข้สูงจากการติดเชื้อในกระแสเลือด (septicemia) อาการไอมีเสมหะ เจ็บหน้าอกจากการติดเชื้อที่ปอดเฉียบพลัน (acute pneumonia) อาการปัสสาวะแสบขัดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (urinary tract infection) อาการติดเชื้อในข้อหรือการเกิดฝีตามผิวหนัง และอวัยวะภายในซึ่งพบได้บ่อยในตับ ม้าม และต่อมน้ำเหลือง 
การวินิจฉัยและการรักษา 
เนื่องจากตัวโรคนี้มีไม่มีอาการจำเพาะ และมีอาการใกล้เคียงกับโรคติดเชื้ออื่นๆดังนั้นการวินิจฉัยจึงมีความสำคัญ โดยผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ระบาด และสงสัยว่าเป็นโรคเมลิออยด์ ควรได้รับการวินิจฉัยยืนยันโดยแพทย์ ด้วยวิธีการเพาะเชื้อจากเลือด และสิ่งส่งตรวจอื่นๆ เช่น ปัสสาวะ และเสมหะ แต่ในบางกรณีแพทย์อาจทำการวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายโรคตามเกณฑ์การวินิจฉัย แม้ไม่มีผลเพาะเชื้อยืนยัน ในส่วนของการรักษาโรคเมลิออยด์ เนื่องจากตัวโรคสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ดังนั้นการรักษาโรคนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาต้านจุลชีพชนิดฉีดอย่างรวดเร็วภายใต้การดูแลของแพทย์ และควรได้รับยาต้านจุลชีพชนิดรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรค 
การป้องกันการติดเชื้อ 
การป้องกันการติดเชื้อสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นต้องทำงานที่สัมผัสกับดินหรือน้ำ ควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง และกางเกงขายาวร่วมด้วย และควรทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลังเสร็จงาน นอกจากนั้นยังควรรับประทานอาหารและน้ำที่สุกสะอาดรวมถึงไม่ทานอาหารที่อาจมีการปนเปื้อนของดินหรือน้ำที่ไม่สะอาด อีกทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับลมฝุ่น หรือการลมฝนในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อ เพราะภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้มีความรุนแรง ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง ๕๐๖ Meliodosis. [cite 2017 June 30]. Available from: http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/506wk/y60/d72_2560.pdf
  2. Limmathurotsakul D, Wongrattanacheewin S, Teerawattanasook N, et al. Increasing incidence of human melioidosis in northeast Thailand. Am J Trop Med Hyg 2010; 82:1113-4.
  3. Smith MD, Angus BJ, Wuthiekanun V, et al. Arabinose assimilation defines a nonvirulent biotype of Burkholderia pseudomallei. Infect Immun. 1997 Oct;65(10):4319-21.
  4. Foong YC, Tan M, Bradbury RS. Melioidosis: a review. Rural and Remote Health. [cited 2017 June 30] 2014; 14: 2763. Available: http://www.rrh.org.au/articles/subviewnew.asp?ArticleID=2763
  5. Centers for Disease Control and Prevention. Melioidosis. [cited 2017 June 30]. Available from: https://www.cdc.gov/melioidosis/


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ตกขาว .. รักษาอย่างไร 33 วินาทีที่แล้ว
ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 37 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้