เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ลูกตัวเหลือง เรื่องไม่เล็กของเด็กเปลี่ยนสี


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คณิสส์ เสงี่ยมสุนทร ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://images.parents.mdpcdn.com/sites/p...962860.jpg
อ่านแล้ว 166,656 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 31/03/2560
อ่านล่าสุด 10 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ความสุขและความปลาบปลื้มใจในชีวิตของคุณพ่อคุณแม่คือการได้ยลโฉมลูกน้อยครั้งแรกในชีวิตและพบว่าร่างกายของลูกน้อยสมบูรณ์แข็งแรงไม่พบความผิดปกติใด แต่หลังจากนั้นสองสามวันถัดมาคุณพ่อคุณแม่มือใหม่หรือแม้แต่มืออาชีพหลายคนอาจพบภาวะตัวเหลืองในลูกน้อยและเกิดความวิตกกังวลอย่างมาก แม้ว่าภาวะตัวเหลืองในทารกอาจมิใช่เรื่องใหม่ไกลตัวอีกต่อไป เนื่องจากเป็นภาวะที่พบได้บ่อยและมีนักวิชาการหลายท่านอธิบายไว้ แต่ผู้เขียนขอเลือกภาวะนี้มาอธิบายซ้ำอีกครั้งในภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับแฟนานุแฟนของ “คลังความรู้สู่ประชาชน” คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลครับ 
 
ภาพจาก : http://images.parents.mdpcdn.com/sites/
parents.com/files/styles/width_300/public/images/p_iStock_000005962860.jpg 
ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดคืออะไร ? 
ภาวะตัวเหลือง เกิดจากมีสารสีเหลืองที่เรียกว่า “บิลิรูบิน” ในเลือดสูงกว่าปกติ บิลิรูบินนี้เกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลาในร่างกายของคนปกติ บิลิรูบินในเลือดจะผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ตับให้อยู่ในรูปที่ละลายน้ำมากขึ้นและถูกกำจัดออกจากร่างกายทางปัสสาวะและอุจจาระ 
ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดมีกี่ประเภท อะไรบ้าง ? 
ภาวะตัวเหลือง เป็นปัญหาสำคัญเนื่องจากพบได้มากถึงร้อยละ 50 ของทารกแรกคลอดและอาจจะพบมากขึ้นเมื่อทารกคลอดก่อนกำหนด นอกจากนั้นแล้วภาวะตัวเหลืองในทารกยังแบ่งเป็น 2 ชนิดหลักได้ดังนี้

  1. ภาวะตัวเหลืองปกติ (physiologic jaundice) ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาจะมีจำนวนของเม็ดเลือดแดงมากกว่าและมีอายุสั้นกว่าของผู้ใหญ่เพราะทำหน้าที่รับออกซิเจนผ่านทางสายรกที่ส่งผ่านมาจากเลือดของแม่ เมื่อทารกคลอดจากครรภ์ของแม่จะเริ่มหายใจด้วยปอด เม็ดเลือดแดงชนิดเดิมของทารกจะแตกสลายและเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารบิลิรูบินมากกว่าปกติจนเกินกว่าความสามารถในการกำจัดของร่างกาย เพราะตับของทารกยังทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้การกำจัดบิลิรูบินด้วยตับยังไม่สมบูรณ์ ทารกจึงเกิดภาวะตัวเหลืองจากการสะสมของสีบิลิรูบิน ทารกที่มีภาวะตัวเหลืองปกติจะสามารถหายเองได้ในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์และไม่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของทารก
  2. ภาวะตัวเหลืองผิดปกติหรือตัวเหลืองเนื่องจากเป็นโรค (pathologic jaundice) มีสาเหตุหลายประการดังต่อไปนี้
    1. เกิดภาวะการบกพร่องเอนไซม์ G6PD (Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase) ส่งผลทำให้เกิดการสะสมของอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ จะพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง
    2. เกิดจากหมู่เลือดของแม่กับลูกไม่เข้ากัน เช่น แม่ที่มีหมู่เลือด Rh ลบกับลูกหมู่เลือด Rh บวก หรือ แม่ที่มีหมู่เลือดโอกับลูกที่มีหมู่เลือดเอบี มีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้นในลูกคนที่สอง เนื่องจากร่างกายแม่จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อหมู่เลือดที่ไม่เข้ากันกับทารก อย่างไรก็ตามสาเหตุนี้พบได้น้อยในประเทศไทย
    3. ภาวะตัวเหลืองที่สัมพันธ์กับการดื่มนมแม่ พบในทารกที่ได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียว สามารถแบ่งได้เป็นสองลักษณะอาการย่อยคือ 1. ทารกได้รับนมแม่ปกติ พัฒนาการด้านน้ำหนักตัวขึ้นดี ส่วนมากจะพบภาวะตัวเหลืองชัดเจนในช่วงท้ายสัปดาห์แรกเป็นต้นไป และ 2. ทารกได้รับนมแม่น้อยกว่าปกติ น้ำหนักตัวน้อยไม่เป็นไปตามพัฒนาการ พบในทารกที่แม่ขาดประสบการณ์ในการให้นม เช่นท่าอุ้มให้นมลูกไม่ถูกต้อง หรืออาจเกิดจากปัจจัยของตัวทารกเอง เช่นคลอดก่อนกำหนดหรือมีภาวะดูดนมยาก ภาวะลิ้นติด
    4. สาเหตุที่พบน้อยแต่มีความเสี่ยงสูง เช่น
      • เกิดภาวะตับอักเสบ อาจพบอาการอื่นร่วมกับอาการตัวเหลืองด้วย เช่น อาการไข้ ไม่ดูดนม ซึม ท้องโตเนื่องจากตับโต
      • เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด อาจพบอาการเหล่านี้ร่วมกับภาวะตัวเหลือง เช่น มีไข้ ชัก ซึม ไม่ดูดนม ท้องอืด
      • ภาวะพร่องไทรอยด์แต่แรกเกิด ทารกที่มีภาวะตัวเหลืองจากสาเหตุนี้จะมีอาการนานกว่า 2 สัปดาห์ ในบางครั้งอาจมีภาวะกระหม่อมกว้างกว่าปกติ สะดือจุ่น ลิ้นโตคับปาก แต่ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ปกติแล้วทารกทุกรายจะได้รับการตรวจเลือดเพื่อคัดกรองภาวะพร่องไทรอยด์ตั้งแต่แรกเกิด
      • ภาวะท่อหรือทางเดินน้ำดีตีบตันหรือโป่งพอง จะแสดงอาการของโรคที่สำคัญคือ ตัวเหลืองร่วมกับอุจจาระมีสีซีด ปัสสาวะมีสีเข้ม เนื่องจากไม่สามารถขับบิลิรูบินออกทางน้ำดีได้

ภาวะตัวเหลืองส่งผลร้ายต่อทารกอย่างไร ? 
หากภาวะตัวเหลืองในทารกยังคงดำเนินต่อไปเนื่องจากระดับของบิลิรูบินในเลือดสูงมาก บิลิรูบินจะเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อสมองและก่อให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาท เรียกว่า เคอร์นิกเทอรัส (kernicterus) ถ้าหากเกิดขึ้นเฉียบพลัน ทารกจะมีอาการซึม ดูดนมน้อยลง ตัวอ่อนปวกเปียก หรือ อาจเกิดอาการเกร็งหลังแอ่น ชัก มีอาการไข้ และอาจร้องไห้เสียงแหลม หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ในระยะเวลา 6-12 เดือนต่อมา ทารกจะมีการเคลื่อนไหวผิดปกติของร่างกายและแขนขา การได้ยินและการเคลื่อนไหวของลูกตาผิดปกติ พัฒนาการล่าช้า ระดับสติปัญญาลดลง ถ้าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในทารกแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แม้ว่าจะลดระดับของบิลิรูบินจนเข้าสู่ภาวะปกติ 
ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดวินิจฉัยได้อย่างไร ? 
เนื่องจากภาวะตัวเหลืองส่งผลร้ายต่อทารกหลายประการ คุณพ่อคุณแม่สามารถทำการตรวจสอบทารกเบื้องต้นได้โดยปฏิบัติตามขั้นตอนสองวิธีข้างต้น ดังนี้

  1. ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้กดเบาๆ ที่ผิวหนังของทารกพร้อมกับแยกนิ้วออกจากกันเพื่อรีดเลือดออกจากเส้นเลือดฝอยในบริเวณที่จะสังเกตสีผิวที่แท้จริง ควรตรวจในบริเวณที่มีแสงสว่างเพียงพอและเริ่มจากใบหน้า เนื่องจากทารกจะเริ่มเกิดภาวะตัวเหลืองจากใบหน้า หน้าอก ท้อง แขน ขา หน้าแข้ง ฝ่ามือและผ่าเท้า อย่างไรก็ตามการตรวจสีผิวของทารกอาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้เพราะขึ้นอยู่กับลักษณะการแยกสีผิวเดิมของทารกและไม่สามารถตรวจได้ถ้าทารกมีสีผิวคล้ำมาก
  2. การตรวจสภาพทางร่างกายของทารกในระบบต่าง ๆ ว่ามีความผิดปกติร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ท้องบวม การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ หรือมีอาการไข้ ชัก ร่วมกับสีผิวที่ผิดปกติ
  3. การวัดระดับบิลิรูบิน เมื่อผ่านการตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วยสองวิธีการแล้ว กุมารแพทย์จะสั่งตรวจยืนยันระดับของบิลิรูบินในเลือดของทารกบางราย เนื่องจากการตรวจทางผิวหนังอาจจะได้ค่าสูงหรือต่ำกว่าในเลือด
  4. การเจาะเลือดเพื่อหาสาเหตุของภาวะตัวเหลือง วิธีนี้จะใช้วินิจฉัยสาเหตุที่เฉพาะลงไป เช่น การติดเชื้อในตับ ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ภาวะพร่องไทรอยด์ หรือแม้แต่ภาวะทางเดินน้ำดีตีบเป็นต้น

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดรักษาได้อย่างไร ? 
แม้ว่าภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดจะพบได้บ่อยและอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองของทารก แต่ภาวะนี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการลดระดับของบิลิรูบินในเลือดด้วยวิธีมาตรฐานที่นิยมใช้ดังนี้

  1. การส่องไฟรักษา คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจเข้าใจผิดว่าหลอดไฟธรรมดาสามารถรักษาภาวะตัวเหลืองได้ แต่แท้จริงแล้วหลอดไฟที่ใช้ในการรักษาเป็นหลอดไฟชนิดพิเศษที่มีความยาวคลื่นแสงเหมาะสมกับการรักษาเท่านั้น หากระดับของบิลิรูบินในเลือดสูงเกิน 12-15 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร ต้องนำทารกมาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเท่านั้นเพราะไม่สามารถใช้หลอดไฟที่มีอยู่ตามบ้านหรือแสงแดดในการรักษาภาวะตัวเหลืองได้
  2. การถ่ายเลือดร่วมกับการส่องไฟรักษา ถ้าหากระดับของบิลิรูบินในเลือดสูงมากจนอาจจะเกิดการสะสมในเนื้อเยื่อสมอง หรือแสดงอาการเฉียบพลันทางสมองเบื้องต้นแล้ว ควรใช้วิธีการถ่ายเลือดร่วมกับวิธีการส่องไฟรักษาเพื่อลดระดับของบิลิรูบินในร่างกายของทารกได้อย่างทันท่วงที
  3. การรักษาด้วยยา ยาที่สามารถรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดได้คือยาชีววัตถุ เช่น อิมมูโนโกลบูลินชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous immunoglobulin)

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรดูแลลูกน้อยที่มีภาวะตัวเหลืองอย่างไร ?

  1. หากพบทารกมีภาวะตัวเหลืองตั้งแต่แรกคลอด คุณหมอจะทำการรักษาตามวิธีมาตรฐานอยู่แล้วและอาจจะมีการนัดตรวจติดตาม บทบาทของคุณพ่อคุณแม่มือใหม่เพียงแค่พาลูกน้อยมาตรวจตามที่คุณหมอนัด
  2. หากลูกน้อยเริ่มแสดงอาการตัวเหลืองหลังจากกลับไปอยู่บ้าน ให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการเบื้องต้น เพื่อตรวจสอบว่าทารกตัวเหลืองคือไม่ตามวิธีข้างต้น หากพบว่ามีอาการตัวเหลืองเพิ่มขึ้นควรนำลูกมาตรวจที่โรงพยาบาลทันที
  3. สังเกตสีของอุจจาระหรือปัสสาวะของทารก หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น อุจจาระมีสีซีด หรือ ปัสสาวะมีน้ำตาลเข้มควรมาพบแพทย์อย่างทันท่วงที
  4. อาการหรือความผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีไข้ ซึม ไม่ดูดนม หรือท้องอืด ควรพาลูกน้อยมาพบแพทย์ทันที
  5. เลี้ยงทารกด้วยน้ำนมแม่ หากคุณแม่มือใหม่ประสบปัญหาในการให้นมลูกน้อย เช่น ลูกดูดนมยาก ลูกดูดนมน้อยหรือยังให้นมลูกไม่ถูกต้อง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ในสถานพยาบาลเพื่อเสริมพัฒนาการที่ดีของทารก


 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/1238_1.pdf
  2. http://www.msdmanuals.com/professional/pediatrics/metabolic,-electrolyte,-and-toxic-disorders-in-neonates/neonatal-hyperbilirubinemia
  3. http://www.parents.com/baby/care/jaundice/understanding-jaundice/
  4. ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด รศ.พญ.โสภาพรรณ เงินฉ่ำ 99 ปี ศัลยศาสตร์ศิริราช “สุขภาพน่ารู้สู่ประชาชน” 2559


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


แกงเลียง อาหารเป็นยา 7 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว
ยาไอซ์ (Ice) 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้