เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


รวงผึ้ง ... พรรณไม้ประจำรัชกาลที่ 10


กนกพร อะทะวงษา สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://www.royalparkrajapruek.org/img/up...ac6e18.jpg
อ่านแล้ว 26,895 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 05/03/2560
อ่านล่าสุด 2 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

พรรณไม้ประจำพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 คือต้นรวงผึ้ง (Schoutenia glomerata King subsp. peregrina (Craib) Roekm.) เนื่องด้วยดอกมีสีเหลืองซึ่งเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ และออกดอกตรงกับช่วงเดือนพระราชสมภพ 
 
ภาพจาก : http://www.chaoprayanews.com/wp-content/uploads/2016/12/2531.jpg 
ต้นรวงผึ้งจัดเป็นพืชถิ่นเดียว (endermic plant) ของประเทศไทย พบบริเวณป่าดิบเขา ที่ระดับความสูงประมาณ 1,000 ม.(1) มีชื่อสามัญว่า yellow star ทางภาคเหนือเรียก ดอกน้ำผึ้ง หรือรวงผึ้ง ส่วนภาคกล่างเรียกสายน้ำผึ้ง เป็นพืชในวงศ์ MALVACEAE(2) รวงผึ้งเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 8 เมตร เปลือกต้นสีเทาเข้ม ใบขนาด 4-12 x 3.5-5 ซม. ออกระนาบเดียวกัน รูปมนรี หรือขอบขนานปลายแหลม ฐานป้านและมักไม่สมมาตร ขอบใบเรียบ ใบแก่ค่อนข้างหนา สีเขียวเข้ม และเป็นมันด้านบน ด้านล่างสีอ่อนกว่า ขนสีน้ำตาลครีม รูปคล้ายดาว หลุดออกง่าย เส้นใบหลักออกจากฐานใบ 3 เส้น ก้านใบ 0.2-0.9 ซม. มีขนละเอียด ดอกสีเหลืองสด ขนาด 1.3-1.5 ซม. สมบูรณ์เพศ ดอกออกเป็นช่อสั้นๆ ไม่แตกแขนง ออกตามซอกใบ กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม 5 กลีบ เชื่อมกันใกล้ฐานเป็นรูปถ้วย อาจจะมีขนสีส้มอมน้ำตาลด้านนอก ไม่มีกลีบดอก เกสรตัวผู้จำนวนมาก เกสรตัวเมียปลายแยก 5 พู รังไข่กลม มีขนหนาแน่น ผลกลม มีขน และชั้นกลีบเลี้ยงขยายตามผลรองรับ ขนาด 0.5-1 ซม. ผลแห้งไม่แตก(3) 
ประโยชน์ของต้นรวงผึ้ง คือ ใช้เป็นไม้ประดับ ปลูกเพื่อความสวยงาม เพราะทรงพุ่มสวย ให้ร่มเงา ดอกบานนาน ออกดอกพร้อมกันทั้งต้น ติดทน และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ตลอดทั้งวัน มีช่วงออกดอกคือเดือนกรกฎาคม-ตุลาคมของทุกปี(1,4) 
นอกจากต้นรวงผึ้งแล้ว ในประเทศไทยพบพืชสกุล Schoutenia อีก 4 ชนิด ได้แก่ เมงครวน S. accrescens (Mast.) Merr. ฮับ S. curtisii Roekm. หงอนไก่ S. kunstleri King และแดงสะแง S. ovata Korth.(2,5) ซึ่งล้วนเป็นไม้ต้น มีเนื้อไม้แข็ง น้ำหนักดี นิยมนำไปสร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น ล้อเกวียน เป็นต้น(1,6) 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Phengklai C. Tiliaceae. In Flora of Thailand Vol. 6(1); 1993.
  2. เต็ม สมิตินันทน์. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ; 2557.
  3. ไซมอน การ์ดเนอร์, พินดา สิทธิสุนทร, วิไลวรรณ อนุสารสุนทร. ต้นไม้เมืองเหนือ : คู่มือศึกษาพรรณไม้ยืนต้น ในป่าภาคเหนือ ประเทศไทย. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ; 2543.
  4. ปิยะ เฉลิมกลิ่น. ไม้ดอกหอม เล่ม 2. กรุงเทพฯ: บ้านและสวน; 2540.
  5. Hartono R. A monograph of the genus Schoutenia Korth. (Tiliaceae). Reinwardtia. 1965; 7(2):91-138.
  6. Sosef MSM, Hong LT, Prawirohatmodjo S. (Editors). Plant resources of South East Asia No 5(3): Timber Trees: Lesser-Known Timbers. Leiden: Backhuys Publishers; 1998.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 2 วินาทีที่แล้ว
16 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้