Eng |
รองศาสตราจารย์ ภญ.รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
มะตูมซาอุ เป็นพืชที่นำเข้ามาประเทศไทยมานาน ในช่วงที่คนไทยเริ่มไปทำงานตะวันออกกลาง และนำกลับเข้าปลูกในประเทศไทยแถบอิสาน จนคนอิสานรู้จักกันดีใช้เป็นผักแกล้มลาบ ที่เรียกว่ามะตูมซาอุ เพราะเอาติดกลับมาจากประเทศซาอุดิอาระเบีย และ มีกลิ่นคล้ายมะตูม ปัจจุบัน มะตูมซาอุมีการเรียกชื่อกันมาหลากหลาย เช่น มะตูมแขก สะเดามาเลย์ สะเดาบาเรน ต่างประเทศรู้จักในชื่อ Brazilian pepper tree, Florida holly, Christmas berry หรือ Pepper tree
มะตูมซาอุ เป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกาใต้ อาร์เจนตินา ปารากวัย และ บราซิล คนไทยเรียกชื่อว่ามะตูม เพราะมีกลิ่นคล้ายมะตูม หรือเรียกว่าสะเดา เพราะใบคล้ายสะเดา แต่ในทางพฤกษศาสตร์แล้ว มะตูมซาอุ ไม่ได้เป็นพืชวงศ์เดียวกับมะตูม หรือสะเดา แต่อย่างใด ที่จริงแล้วมะตูมซาอุ เป็นพืชวงศ์เดียวกับมะม่วง (วงศ์ Anacardiaceae) และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Schinus terebinthifolius Raddi ลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ หรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 10 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่ม ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ใบอ่อนมีสีแดง ใบย่อยขอบหยัก ขอบเป็นหนามสั้นๆ กว้างยาวประมาณ 2.5x5 ซม. ดอกช่อ ยาวประมาณ 15 ซม. ดอกแยกเพศ อยู่ต่างต้น ดอกย่อยขนาดเล็ก สีขาวนวล ออกดอกทั้งปี ผลชนิดมีเนื้อแบบ drupe ผลอ่อนสีเขียวและเมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม และเปลือกแห้ง ติดเมล็ดคล้ายพริกไทย มีรสเผ็ดร้อน ชาวอเมริกาใต้ใช้ผลแทนพริกไทย
มะตูมซาอุ มีประโยชน์หรือไม่
ใบมะตูมซาอุ ไม่มีรายงานเรื่องสารอาหาร แต่จากลักษณะความกรอบ มันของใบ ทำให้การรับประทานใบมะตูมซาอุแบบดิบๆน่าจะมีกากเส้นใยอาหารประเภทไม่ละลายน้ำในปริมาณสูง ซึ่งเมื่อรับประทานแล้วมีกากมากทำให้ขับถ่ายได้ดี การใช้ยาแบบพื้นบ้านของประเทศทางอเมริกาใต้ ก็มีหลากหลาย เช่น ชาชงใบใช้รักษาอาการปวดข้อ และสูดดมรักษาหวัด ลดความดันโลหิต และ อาการซึมเศร้า ใบต้มน้ำรักษาอาการประจำเดือนไม่ปกติ ชาชงทำจากเปลือกต้น เป็นยาระบาย ยางเป็นยาระบาย และขับปัสสาวะ ทั้งต้น หรือ น้ำมันและชัน (oleoresin) ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อสำหรับทาแผลภายนอก รักษาแผล ห้ามเลือด แก้ปวดฟัน มีรายงานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ของส่วนต่างๆของมะตูมซาอุหลายอย่าง เช่น สารสกัดใบลดอาการปวด และลดความดันโลหิต เมื่อทดลองในสุนัขและหนู น้ำมันหอมระเหยจากใบและ เปลือกต้น มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคและเชื้อราบางชนิด เปลือกต้น สกัดด้วยแอลกอฮอล์สมานแผลในทางเดินอาหาร สารสกัดจากส่วนผลลดความดันโลหิตได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การกินมะตูมซาอุ แนะนำให้ใช้เป็นอาหารเท่านั้น เพราะไม่มีประสบการณ์การใช้เป็นยาในประเทศไทย และงานวิจัยที่กล่าวมาก็เป็นทดลองในสัตว์ ขนาดวิธีใช้ รวมถึงความเป็นพิษยังไม่ชัดเจน
ใบมะตูมซาอุ มีพิษหรือเปล่า
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า มะตูมซาอุ เป็นพืชวงศ์เดียวกับมะม่วง พืชในวงศ์นี้มีทั้งพืชที่รับประทานได้ ใช้เป็นผักได้แก่ ยอดมะม่วงหิมพานต์ มะม่วง และพืชที่เป็นพิษ เช่น รักหลวง เนื่องจากมีสารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น urushiol และ cardol เป็นต้น พืชในวงศ์นี้ส่วนใหญ่พบสารที่เป็นกรดในน้ำยางใสจากใบและลำต้น แต่ความเป็นพิษมากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของสารที่พบ จะเห็นได้ว่า ยางมะม่วง ก็มีสารกลุ่มนี้แต่พบความเป็นพิษน้อยมาก เรายังกินมะม่วงโดยเฉพาะมะม่วงดิบ หรือกินยอดมะม่วงหิมพานต์ดิบได้ จากรายงานวิจัยและบทความของต่างประเทศ ยางของมะตูมซาอุ มีสาร urushiol และ cardol เช่นเดียวกัน แต่ความเป็นพิษต่ำ อย่างไรก็ดียางก็อาจทำให้เกิด การแพ้ แบบเป็นผื่นแดง อักเสบ บวม จากการสัมผัสได้เช่นเดียวกัน ส่วนดอกและผลอาจทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจ การกินผลอาจทำให้อาเจียน มีรายงานว่า ในเมล็ดมีสารกลุ่ม triterpene ที่ทำให้ระคายเคืองทางเดินอาหาร ท้องเสีย และ อาเจียน เป็นอันตรายกับนก อาจทำให้นกที่กินผลไม้นี้เข้าไปเป็นอัมพาต แต่ข้อมูลจากบางแหล่งระบุว่าไม่เป็นอันตรายต่อนก นอกจากนี้การทำลายซากส่วนของพืชเมื่อตัดแต่งกิ่งห้ามใช้วิธีเผา เพราะจะทำให้เกิดกลิ่น ควันที่ระคายเคือง รายงานความเป็นพิษเหล่านี้เป็นไม่เคยพบรายงานความเป็นพิษ ในประเทศไทย เนื่องจากเป็นพืชวงศ์เดียวกับมะม่วง มีสารอยู่ในกลุ่มเดียวกัน จึงตั้งข้อสังเกตได้ว่า ถ้าแพ้ยางมะม่วง ก็น่าจะแพ้ยางของต้นนี้ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น หากคนที่ยังไม่เคยกินมะตูมซาอุ แต่กังวลว่า ตนเองจะแพ้หรือไม่ ให้สังเกตุจากการแพ้ยางมะม่วง จากการทานมะม่วงดิบ หรือมะม่วงอ่อน ถ้ามีความรู้สึกคัน แสบ ริมฝีปาก บางครั้งผิวไหม้ ทำให้ขอบริมฝีปากกลายเป็นสีดำ นั่นเป็นลักษณะที่แพ้ยางมะม่วง ซึ่งก็ต้องหลีกเลี่ยงไม่กิน ไม่สัมผัส อย่างไรก็ดี สำหรับเคยรับประทานพืชชนิดนี้แล้วแล้วมีอาการแสบปาก คันคอ ก็คืออาการแสดงของการระคายเคืองที่เกิดจากยางได้เช่นเดียวกัน สำหรับคนที่ไม่เคยมีอาการดังกล่าว ก็สามารถรับประทานได้ โดยใช้เฉพาะส่วนใบ และยอดอ่อน เท่านั้น การรับประทานเป็นผักสด ให้ล้างและแช่น้ำจนยางออกมากที่สุด และให้รับประทานพอควร ไม่มากเกินไป
สรุปได้ว่าการกินใบมะตูมซาอุแบบสด จะทำให้เพิ่มกากใยอาหาร ขับถ่ายได้ดี แต่ควรระวังในการสัมผัสยาง โดยล้างผักให้สะอาด และแช่น้ำนานๆก่อนนำมารับประทาน