เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ปวดประจำเดือนกับยาตำรับประสะไพล


รองศาสตราจารย์ ภญ. รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://media.licdn.com/mpr/mpr/p/5/005/...48acad.jpg
อ่านแล้ว 117,216 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 16/09/2559
อ่านล่าสุด 8 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


อาการปวดประจำเดือน หมายถึงอาการปวดท้องหรือปวดหลัง ก่อนหรือระหว่างมีประจำเดือน เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้หญิง เป็นช่วงเวลาที่ทุกข์ทรมานมาก บางคนปวดมากจนไม่สามารถทำงานในช่วงระยะเวลานั้นของรอบเดือนเลยทีเดียว การใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) เป็นเพียงการบรรเทาอาการ และจำเป็นต้องใช้ทุกครั้งที่มีอาการปวด อาจพบอาการข้างเคียง เช่น ระคายเคืองทางเดินอาหาร ทำให้หลายคนมองหาทางเลือกอื่นจากตำรับยาไทย ซึ่งมีตำรับยาที่ใช้สำหรับแก้ปัญหาเรื่องประจำเดือน เพราะตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยนั้น ประจำเดือนเป็นระบบที่สำคัญของสุขภาพผู้หญิงที่ต้องเอาใจใส่ เป็นระบบที่ส่งผลต่อสุขภาพโดยองค์รวมในระยะยาว ความผิดปกติเกี่ยวกับประจำเดือนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ตำรับยาประสะไพลเป็นตำรับหนึ่งในยาที่รักษาเกี่ยวกับประจำเดือนที่มีการวิจัย ทั้งในด้านการออกฤทธิ์สนับสนุนการใช้ของแผนโบราณ ที่น่าสนใจ 
 
ยาตำรับประสะไพลคืออะไร 
ประสะไพล เป็นตำรับยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดประจําเดือน ระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ ขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร จัดเป็นหนึ่งในรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ สั่งจ่ายได้ และได้รับการบรรจุอยู่ในประกาศยาสามัญประจำบ้าน เพื่อให้เป็นยาที่ประชาชนสามารถเลือกใช้ได้เอง 
คำว่า”ประสะ” นำหน้าในชื่อตำรับ มีความหมายว่า สมุนไพรนี้เท่ายาทั้งหลาย ซึ่งในตำรับนี้หมายถึง เหง้าไพลแห้งเป็นตัวยาหลัก ให้ใช้น้ำหนักเท่ากับตัวยาอื่นๆรวมกัน หรือคำนวณเป็น 50 % และอีกครึ่งหนึ่งเป็นตัวยาอื่นๆ อีก 11 ชนิด รวมกันได้แก่ ขิงแห้ง เหง้าขมิ้นอ้อย ดีปลี ผิวมะกรูด เทียนดำ พริกไทย ว่านหอมแดง ว่านน้ำ กระเทียม เกลือ และ การบูร บดรวมกันป็นผง ละลายน้ำร้อนรับประทาน แต่ด้วยปัญหาเรื่องรสชาดและความเคยชินของคนรุ่นใหม่ จึงมีการอนุญาตผลิตเป็นยารูปแบบต่างๆ เช่น เม็ด แคปซูล ลูกกลอน เพื่อให้ใช้สะดวกมากขึ้น 
ยาตำรับประสะไพลออกฤทธิ์อย่างไร 
ตามหลักการแพทย์แผนไทย ยาตำรับประสะไพลประกอบด้วยตัวยารสร้อนฝาด เผ็ดร้อน และ ร้อนปร่า ทำให้ทั้งตำรับออกฤทธิ์ไปทางร้อน โดยมีตัวยารสฝาดช่วยสมาน คุมฤทธิ์ กำกับการทำงานของธาตุลม ทำให้มีการเคลื่อนไหวของธาตุลมดีขึ้น พอเหมาะและสมดุล สอดคล้องกับการวิจัยของไพลที่พบว่าทำให้กล้ามเนื้อเรียบลดการเกร็งตัว โดยการลดการสร้างสารพรอสตาแกลนดิน นอกจากนี้ยาตำรับยังส่งผลให้ความร้อนของเลือดเพิ่มขึ้น เลือดเหลวขึ้น จึงไหลได้ดีขึ้นตามหลักการทางฟิสิกส์ของของเหลวโดยทั่วไป ประเด็นนี้ยังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ 
จากการศึกษาเหง้าไพลที่เป็นตัวยาสำคัญ พบว่าในเหง้ามีสารออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ หลายชนิดได้แก่ สาร D, สาร DMPBD [(E)-1-(3,4 dimethoxyphenyl) butadiene], สาร TMPBD [(E)-4-(2,4,5-trimethoxyphenyl) but-1,3-dien], สาร cassumunaquinones, และสารสีเหลืองที่พบมากในเหง้าไพล เช่น cassumunins และน้ำมันหอมระเหย ทำให้เหง้าไพลมีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่ดีมาก นอกจากนี้พบว่า พืชอื่นๆ เช่น ขิงแห้ง พริกไทย ดีปลี เทียนดำ ว่านน้ำ หรือสาร curcuminoids จากขมิ้นอ้อย ก็มีรายงานฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยต้านการทำงานของเอนไซม์ COX-II (Cyclooxygenase II) ซึ่งทำให้ลดการอักเสบและลดอาการปวด 
 
สรรพคุณและวิธีใช้ของยาประสะไพล 
แม้ว่า ยังไม่มีการทดลองทางคลินิก ที่พิสูจน์ว่าการใช้ยาตำรับแบบผงสามารถใช้สำหรับลดอาการปวดประจำเดือน แต่ข้อมูลการออกฤทธิ์ของสารที่มีอยู่ในส่วนประกอบของตำรับ ก็สามารถบอกได้ว่า ยาผงนี้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ ควบคู่กับการถูกคัดเลือกให้เป็นยาในบัญชียาสามัญประจำบ้าน และ บัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งเป็นการคัดเลือกจากยาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย จากข้อมูลการใช้จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 ราย และมีการใช้ในการแพทย์แผนไทยนานกว่า 10 ปี ก็น่าจะเป็นที่น่าเชื่อถือได้ในสรรพคุณ จากแนวคิดการแพทย์แผนไทย ยานี้มีสรรพคุณแก้อาการปวดประจำเดือน ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ซึ่งพบได้ในสตรีบางรายในช่วงระยะที่มีประจำเดือน และขับน้ำคาวปลาหลังคลอด แต่มีระยะเวลาการใช้ยาแตกต่างกันตามข้อบ่งใช้ จึงควรศึกษารายละเอียดก่อนใช้ดังนี้

ขนาดรับประทานยาชนิดผง หรือ ยาเม็ด หรือยาแคปซูล ครั้งละ 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
กรณีปวดประจําเดือนให้รับประทานก่อนมีประจําเดือน 2 - 3 วัน ไปจนถึงวันแรกและวันที่ 2 ที่มีประจําเดือน
กรณีระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติให้ใช้เป็นเวลา 3 - 5 วัน เมื่อระดูมาให้หยุดรับประทาน ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 1 เดือน
กรณีขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตรให้รับประทานจนกว่าน้ำคาวปลาจะหมดแต่ไม่เกิน 15 วัน

ข้อห้ามใช้และข้อควรระวัง 
เนื่องจากยานี้เป็นยาฤทธิ์ร้อน ซึ่งควรระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ที่มีประจำเดือนมาน้อยหรือมาไม่สม่ำเสมอ และต้องการใช้ยาเพื่อปรับประจำเดือนให้มาตามปกตินั้น ต้องระวังในกรณีที่ประจำเดือนไม่มาเนื่องจากตั้งครรภ์ ซึ่งอาจต้องตรวจสุขภาพเสียก่อน เพราะการใช้ยาจะทำให้เกิดอันตรายทั้งแม่และเด็กได้ นอกจากนี้ ยาประสะไพลยัง ห้ามใช้ในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • ห้ามใช้ในหญิงตกเลือดหลังคลอด หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีไข้
  • ห้ามรับประทานในหญิงที่มีระดูมากกว่าปกติ เพราะจะทําให้มีการขับระดูออกมามากขึ้น
  • ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ หรือไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้

กรณีที่มีปัญหาหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวยา ควรปรึกษาเภสัชกร หรือ แพทย์แผนไทย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน ทำให้การใช้ยามีประสิทธิผลดี และปลอดภัย สมดังเจตนารมณ์ของการแพทย์แผนไทยที่ช่วยให้สุขภาพดีอย่างยั่งยืนด้วยยาไทยอย่างไรก็ดี อาการปวดประจำเดือนมีได้หลายสาเหตุ หากมีอาการปวดรุนแรง หรือเป็นนานมากกว่าปกติ หรือ ใช้ยาแล้ว ไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อตรวจวินิจฉัย และได้รับการรักษาอื่นๆที่เหมาะสมต่อไป 
การพัฒนายาตำรับโดยใช้สารสกัด 
มีการพัฒนาตำรับยาประสะไพลเป็นสารสกัด โดยใช้สารสกัดด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ 40% และ 70% พบว่าสารสกัดทั้ง 2 ชนิด มีฤทธิ์ลดอาการอักเสบ สารสกัดเอทิลแอลกอฮอล์ 70% แสดงฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของมดลูกที่กระตุ้นด้วย acetylcholine, prostaglandin หรือ oxytocin และลดอาการอักเสบ โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ COX-II เป็นหลัก และไม่พบความเป็นพิษเฉียบพลันและ พิษกึ่งเรื้อรังในสัตว์ทดลอง และต่อมา ได้นำสารสกัดตำรับด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ 70% ที่ควบคุมปริมาณสาร DMPBD ไม่น้อยกว่า 4% และแสดงค่า IC50 ของฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ COX-II ไม่เกิน 30 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร มาทดลองทางคลินิก 2 รายงาน ด้วยวิธี double blind randomized control trial การศึกษาแรกเปรียบเทียบการใช้ยาแคปซูลประสะไพลในอาสาสมัคร 32 ราย ใช้สารสกัด 400 มิลลิกรัม และยา mefenamic acid จำนวน 27 ราย ใช้ยา 500 มิลลิกรัม วันละ 3 เวลา ก่อนมีประจำเดือน 3 วัน และรับประทานต่อจนครบ 5 วัน เมื่อใช้ยาครบ 3 รอบเดือน พบว่าอาสาสมัครที่กินยาประสะไพลมีอาการปวดประจำเดือน ไม่แตกต่างกับกลุ่มที่กินยา mefenamic acid ซึ่งพบข้างเคียงได้แก่อาการจุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ แต่กลุ่มที่ได้รับยาประสะไพลมีเพียง 1 ราย มีอาการเรอได้กลิ่นไพล และเมื่อหยุดยาแล้ว 1 เดือน อาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับยาประสะไพลมีอาการปวดน้อยลง อีกรายงานหนึ่งที่ใช้สารสกัดและวิธีการให้ยาแบบเดียวกัน แสดงให้เห็นว่า ผู้เข้ารับการทดลอง 103 ราย เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยา mefenamic acid 500 มิลลิกรัม จำนวน 104 ราย เมื่อใช้ไป 6 รอบเดือน ทั้งสองกุล่มมีประสิทธิผลลดอาการปวดประจำเดือนได้พอๆกัน และไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง จะเห็นได้ว่าสารสกัดยาประสะไพลมีผลต่อการลดอาการปวดประจำเดือน ได้ดีเท่ากัที่มีมาตรฐานบยา mefenamic acid จากข้อมูลการวิจัยทั้งหมด จะเห็นได้ว่าสารสกัดยาตำรับประสะไพลมีฤทธิ์ลดอาการปวดประจำเดือนได้ ทั้งในสัตว์ทดลอง และทางคลินิก ซึ่งสามารถพัฒนาต่อเป็นยาที่มีมาตรฐานที่ดีต่อไป 
ความลับของการบดสมุนไพรรวมกันทั้งตำรับตามองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนไทย 
ตามปกติทางการแพทย์แผนไทยจะระบุให้เตรียมตำรับยาผงโดยการบดสมุนไพรรวมกัน ซึ่งเป็นการบดขณะที่สมุนไพรแห้งแล้ว คนรุ่นใหม่หลายคนคิดว่าการบดรวมขณะแห้งไม่น่าจะเกิดปฏิกิริยาใดใด ดังนั้นจึงมีการบดสมุนไพรแต่ละชนิดให้บดเป็นผงละเอียดแยกจากกัน แล้วค่อยมาผสมรวมภายหลัง ด้วยเครื่องผสม จากการศึกษา พบว่าในช่วงระหว่างการบดวัตถุดิบรวมกัน มีการทำปฏิกิริยาระหว่างไพลและเทียนดำ ได้สารใหม่ จากสาร D ในเหง้าไพล และกรดไขมันในเทียนดำ เกิดสารใหม่ (artifacts) ที่เป็น ester 3 ชนิด ได้แก่ สาร (E)-4-(3,4-dimethoxyphenyl) but-3-en-1-yl linoleate, สาร (E)-4-(3,4-dimethoxyphenyl) but-3-en-1-yl oleate และสาร (E)-4-(3,4-dimethoxyphenyl) but-3-en-1-yl palmitate ในขณะเดียวกัน ปริมาณสาร D ค่อยๆ ลดลง สอดคล้องกับการเพิ่มปริมาณ artifacts เมื่อศึกษาการเก็บผงยาผสมแล้วในที่แห้ง ไม่มีความชื้น จะเกิด artifacts อย่างต่อเนื่อง จนถึง ๗๓ วัน และสารนี้ยังคงอยู่นานถึง 1 ปี (งานวิจัยเก็บข้อมูลเพียง 1 ปี ดังนั้น จึงควรศึกษาเพิ่มเติมว่า สารกลุ่มนี้ยังคงอยู่ต่ออีกเท่าไร จึงจะสลายตัว) พบว่าหากเก็บผงยาในที่มีความชื้นเกินกว่ากำหนด การเกิด artifacts จะลดลง และพบว่า artifacts นี้ทำให้การดูดซึมสาร D ดีขึ้น จัดเป็นการช่วยในการออกฤทธิ์ของยา จะเห็นได้ว่าการบดสมุนไพรรวมกัน จะแตกต่างจากการบดแยกและนำมาผสมกันภายหลัง ดังนั้นการปรุงยาประสะไพล เพื่อให้ออกฤทธิ์ดี เหมือนเช่นยาโบราณ ควรจะบดรวมกันด้วยเหตุผลดังกล่าว และต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อควบคุมคุณภาพอย่างเหมาะสมต่อไป 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Prasan Tangyuenyongwatana, Wandee Gritsanapan. Standardization of Prasaplai, a Thai traditional preparation for antidysmenorrhea. Botanics: Targets and Therapy 2016; 6: 1–9.
  2. Prasan Tangyuenyongwatana, Wandee Gritsanapan. Prasaplai: An essential Thai traditional formulation for primary dysmenorrhea treatment. TANG 2014; 4(2): e10.
  3. Kamalashiran C, Lekskulchai O. The comparative study of the efficacy and side effect of Prasaplai extract versus Mefenamic acid on relieving primary dysmenorrhea: A clinical phase II trials. Thammasart Medical Journal. 2012;12:749–756.
  4. Sriyakul K, Kietinun S, Pattaraarchachai J, Ruangrungsi N. A comparative double-blinded randomized study: The efficacy of Prasaplai herbal extract versus Mefenamic acid in relieving pain among primary dysmenorrheal patients. The Open Complementary Medicine Journal 2012; 4: 16-21.
  5. Prasan Tangyuenyongwatana, Wandee Gritsanapan. An appropriate solvent for the preparation of Prasaplai extract. Songklanakarin Journal of Science & Technology 2009; 31(5): 527.
  6. Chakchai K. Formulation and satisfaction assessment of Prasaplai in primary dysmenorrhea patient at primary care center. Mahasarakham University 2009.
  7. Prasan Tangyuenyongwatana, Jariya Kowapradit, Praneet Opanasopit, and Wandee Gritsanapan. Cellular transport of anti-inflammatory pro-drugs originated from a herbal formulation of Zingiber cassumunar and Nigella sativa Chinese Medicine 2009; 4: 19.
  8. มงคลศิลป์ บุญเย็น การศึกษาการตั้งตำรับและความคงตัวของยาเม็ดและยาแคปซูลจากสารสกัดตำรับประสะไพลเพื่อใช้แก้ปวดประจำเดือน. วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขา วิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาดมมีอันตรายหรือไม่ 31 วินาทีที่แล้ว
ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้