เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


สมุนไพรสู้ลมหนาว


ภญ. กฤติยา ไชยนอก สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://3.bp.blogspot.com/-9ome9zcMuK4/UB...dicine.gif
อ่านแล้ว 14,951 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 26/01/2559
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


เดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวแดดออก เดี๋ยวมีหมอก เดี๋ยวน้ำท่วม 
โอ้ยยยยย!!! มันจะอะไรกันนักกันหนาเนี่ย!! 
บ่นไปก็เท่านั้น...ในสภาวะที่เอาแน่เอานอนอะไรกับสภาพภูมิอากาศไม่ได้เช่นนี้ การรู้จักป้องกันตนเองและเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดซินะ...เฮ้อ... 
เมื่ออากาศเย็นลง ก็อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย ซึ่งการรับประทานอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ หรืออาหารที่มีรสเผ็ดร้อน จะช่วยให้ร่างกายเกิดการปรับสมดุลและพร้อมรับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงนี้ได้ค่ะ และนับเป็นโชคดีของเราชาวไทยจริงๆ เพราะสมุนไพรไทยหลายชนิดมีรสเผ็ดร้อน อีกทั้งส่วนใหญ่ก็ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารไทยอยู่แล้ว ทั้งการใช้แบบเป็นพืชเดี่ยว หรือใช้ในรูปแบบของเครื่องเทศเพื่อใส่ในอาหารประเภทต่างๆ ซึ่งนอกจากรสเผ็ดร้อนแล้ว สมุนไพรเหล่านี้ยังมีสรรพคุณที่น่าสนใจอีกมากมายเลยค่ะ ไหนลองมาดูกันสิ รู้จักอะไรกันบ้างเอ่ย... 
 
กระเจียวแดง:หน่ออ่อนและดอกอ่อนมีรสเผ็ดร้อน ใช้รับประทานสด หรือลวกจิ้มน้ำพริก มีสรรพคุณช่วยขับลม 
กระชาย: รากและเหง้ามีรสเผ็ดร้อน ใช้ประกอบในอาหารประเภทผัดเผ็ดและแกงเผ็ด ต้นอ่อนรับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก มีสรรพคุณบำรุงกำหนัด ทำให้กระชุ่มกระชวย บำรุงกำลัง 
กระเทียม: หัวมีรสเผ็ดร้อน ใช้เป็นเครื่องเทศ มีสรรพคุณแก้จุกแน่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม ขับปัสสาวะ และแก้ไข้ ใบมีรสร้อนฉุน มีสรรพคุณแก้ไข้หวัด 
กะเพรา: ใบและยอดอ่อนมีรสเผ็ดร้อน ใช้ประกอบในอาหารประเภทผัดและแกง มีสรรพคุณขับลม แก้ปวดท้อง และแก้คลื่นไส้อาเจียน 
ขมิ้นชัน: เหง้ามีรสเผ็ดร้อน ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทแกง มีสรรพคุณแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ และช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร 
ข่า: เหง้ามีรสเผ็ดร้อน ใช้เหง้าแก่ในการปรุงรสและแต่งกลิ่นของเครื่องแกง เหง้าอ่อน ต้นอ่อน ดอกอ่อน ใช้รับประทานสด หรือลวกจิ้มน้ำพริก มีสรรพคุณช่วยขับลม แก้ปวดมวนท้อง 
ขิง: เหง้ามีรสเผ็ดร้อน ใช้ประกอบอาหารหลายประเภท และใช้ทำเป็นผักดอง เหง้าขิงมีสรรพคุณช่วยขับลม ขับเหงื่อ ขับเสมหะ และแก้คลื่นไส้อาเจียน 
ชะพลู: ส่วนใบมีรสเผ็ด นิยมนำใบอ่อนดิบมาห่อทำเมี่ยงคำ ใบอ่อน และยอดอ่อนสามารถนำมารับประทานสดหรือลวกจิ้มน้ำพริกได้ มีสรรพคุณในการแก้ปวดท้องจุกเสียด บำรุงธาตุ แต่การบริโภคชะพลูมีข้อควรระวัง เนื่องจากชะพลูมีสารออกซาเลทสูง อาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นนิ่ว 
ดีปลี: ผลแก่มีรสเผ็ดร้อน ใช้เป็นเครื่องเทศในอาหารประเภทแกงเผ็ด ช่วยดับกลิ่นคาว มีฤทธิ์ขับลม แก้ไอ ยอดอ่อนและผลอ่อนรับประทานเป็นผักสด 
ตะไคร้: ราก ลำต้น และเหง้ามีรสเผ็ดร้อน ใช้ปรุงแต่งกลิ่นรสอาหาร ดับกลิ่นคาว และเป็นส่วนผสมในเครื่องแกงต่างๆ มีสรรพคุณแก้ท้องอืด ขับลม และช่วยขับปัสสาวะ 
ผักแขยง: ใช้ทั้งต้นมีรสร้อน ในการปรุงอาหารประเภทแกงอ่อม หรือใช้รับประทานสดจิ้มกับแจ่ว ป่น ลาบ ก้อย มีสรรพคุณช่วยขับลม 
ผักไผ่: มีรสร้อน สรรพคุณช่วยขับลม ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสด หรือต้มให้สุกก่อน ผักไผ่มีกลิ่นหอมฉุนจึงสามารถช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้ 
พริกขี้หนู: ผลมีรสเผ็ดร้อน มีสรรพคุณขับลม ขับปัสสาวะ แก้ไข้หวัด ขับเหงื่อและช่วยให้เจริญอาหาร ยอดอ่อนใช้ลวกเป็นผักแกล้มกับน้ำพริกหรือนำไปปรุงอาหารประเภทแกง ผลใช้ปรุงอาหารหลายประเภท และทำให้อาหารมีรสชาติอร่อยยิ่งขึ้น 
พริกไทย: เมล็ดอ่อนและเมล็ดแก่มีรสเผ็ดร้อน เมล็ดใช้ปรุงอาหารประเภทผัดเผ็ด มีสรรพคุณแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ 
มะกรูด: ผลสดและใบสดใช้ปรุงอาหาร ดับกลิ่นคาว ผิวมะกรูดมีสรรพคุณเป็นยาขับลม แก้ปวดท้อง นอกจากนี้น้ำมะกรูดยังมีวิตามินซีช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันด้วย 
แมงลัก: ใบมีรสเผ็ดร้อน ใช้ปรุงอาหาร แต่งกลิ่นอาหาร และใช้เป็นผักเคียง สรรพคุณแก้ไข้หวัด และขับลม 
สะระแหน่: มีรสเผ็ด เย็น ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสด หรือใช้ในการแต่งกลิ่นอาหารให้น่ารับประทาน ใบสะระแหน่ต้มเป็นน้ำชาดื่มเพื่อช่วยขับเหงื่อ และช่วยระบายความร้อนได้ 
โหระพา: ใบมีรสเผ็ดร้อน ใช้ปรุงอาหาร แต่งกลิ่นอาหาร และใช้เป็นผักเคียง มีสรรพคุณแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ 
โอ้...เยอะจริงๆ นะเนี่ย เห็นไหมคะว่าสมุนไพรส่วนใหญ่เป็นพืชผักที่เรารู้จักและรับประทานกันเป็นประจำอยู่แล้ว ราคาก็ไม่แพง แถมยังหาง่ายอีกต่างหาก 
ดังนั้นการดูแลตัวเองด้วยพืชสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อนสำหรับต่อสู้กับลมหนาวที่กำลังเข้ามานี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ว่าแล้วก็ผัดเผ็ดปลาดุกใส่กระชายกับพริกไทยอ่อนเยอะๆ สักจานไหมคะ

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Rabinowich L and Shibolet O. BioMed Research Internationa. lVolume 2015 (2015), Article ID 168905, 14 pageshttp://dx.doi.org/10.1155/2015/168905 access 6 October 2015
  2. http://livertox.nih.gov/Phenotypes_Fatty.html (United States National Library of Medicine) access 6 October 2015
  3. Kneeman JM, Misdraji J and Corey KE. Therap Adv Gastroenterol. 2012 May; 5(3): 199–207
  4. รองศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ http://www.thailiverfoundation.org/th/cms/detail.php?id=28 access 6 October 2015
  5. Patel and Sanyal. Clin Liver Dis 2013:17;533–546

-->



บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


สมุนไพรสู้ลมหนาว 1 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้