เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ลำโพง : ไม้ประดับมีพิษ


พิชานันท์ ลีแก้ว สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 54,974 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 11/11/2558
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


จากกรณีที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับเด็กนำดอกลำโพงขาวมารับประทานและเกิดอาการชักเกร็งและหมดสติ จนต้องหามส่งโรงพยาบาลไปแล้วนั้น แท้จริงแล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของรายงานปัญหาที่เกิดจากพิษของต้นลำโพงขาว ทางสำนักงานข้อมูลสมุนไพรได้มีการรวบรวมรายงานความเป็นพิษของต้นลำโพงขาวในคนพบว่า ที่ผ่านมามีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ได้รับพิษจากการบริโภคทั้งโดยความตั้งใจและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้นจึงอยากเผยแพร่และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและความเป็นพิษของต้นลำโพงขาว เพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้และตระหนักถึงพิษภัยที่เกิดจากการบริโภคพืชชนิดนี้ 
ต้นลำโพงขาวเป็นพืชในสกุล Datura มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Datura metel L. ในประเทศไทยจะพบอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ ลำโพงขาว (Datura metel L. var. metel) และลำโพงกาสลัก (Datura metel L. var. fastuosa (Bernh.) Danert) ซึ่งทั้ง 2 สายพันธุ์จะมีลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือ ต้นลำโพงขาวจะมีต้นสีเขียว ดอกสีขาว และลำโพงกาสลักจะมีต้นสีแดงเกือบดำ ดอกสีม่วงเป็นชั้นๆ สามารถพบได้ทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ที่รกร้างว่างเปล่าไปจนถึงป่าดิบเขา ทั้งลำโพงขาวและลำโพงกาสลักมีสรรพคุณตามตำรายาพื้นบ้านคล้ายกันคือ รากใช้ฝนกับน้ำทาแก้อาการปวดบวม ใบตำพอกฝี แก้ปวดบวมอักเสบ ดอกนำมาหั่นตากแดดให้แห้งผสมกับยาสูบ ใช้สูบแก้อาการหอบหืด เมล็ดคั่วให้หมดน้ำมันใช้ปรุงเป็นยาแก้ไข้ (1) 
 
สารสำคัญที่พบในต้นลำโพง เป็นสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ โดยส่วนใหญ่คือ สาร (-)-scopolamine ซึ่งสูงถึง 75% ของสารอัลคาลอยด์ทั้งหมด รองลงไปจะเป็น (-)-hyoscyamine, (-)-norhyoscyamine, (-)-norscopolamine, hydroxyl-6-(-)-hyoscyamine และ meleloidine สามารถพบสารกลุ่มนี้ได้ทุกส่วนของต้นลำโพง โดยในส่วนใบจะมีอยู่ประมาณ 0.2 - 0.6% ส่วนดอก 0.1 - 0.8% และในเมล็ด 0.2 - 0.5% และสารกลุ่มนี้ไม่สามารถถูกสลายได้ด้วยความร้อน (1-2) 
สาร (-)-hyoscyamine ที่พบในต้นลำโพงมีฤทธิ์ anticholinergic ปัจจุบันจึงถูกใช้เป็นยาคลายอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการปวดเกร็งในช่องทางเดินอาหาร และบรรเทาอาการปวดเกร็งของโรคนิ่วในไต ส่วนสาร (-)-scopolamine มีฤทธิ์ทั่วไปคล้าย (-)-hyoscyamine แต่ต่างกันตรงที่ สาร (-)-scopolamine จะมีฤทธิ์ กดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางด้วย จึงมักใช้ในการแก้อาการปวดอันเกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและเป็นองค์ประกอบของยาชา ช่วยระงับความรู้สึกในการทำให้สลบ ที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันคือใช้เป็นยากันเมารถ เมาเรือ หรือเหตุจากการเคลื่อนไหวอื่นๆ (3) การได้รับยาเหล่านี้มากเกินขนาดที่กำหนด หรือการนำส่วนใดๆ ของต้นลำโพงมาบริโภคดังที่ปรากฏเป็นข่าวไม่นานมานี้ จะสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือความเป็นพิษต่อระบบประสาทได้ โดยมีอาการที่แสดงออกมาคือ สายตาพร่ามัว ปากแห้ง กระหายน้ำมาก ม่านตาขยาย ตาสู้แสงไม่ได้ ผิวหนังร้อนแดง มีผื่นแดงตามใบหน้า คอ และหน้าอก ไข้ขึ้นสูง อาจสูงถึง 42.8 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ความรู้สึกสับสน การทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ วิกลจริต เพ้อคลั่ง เคลิ้มฝัน มีอาการทางจิตและประสาท ในเด็กเล็กอาจเกิดการชัก ชีพจรเต้นอ่อนแต่เร็ว และมีแนวโน้มที่จะเต้นไม่เป็นจังหวะ ปัสสาวะไม่ค่อยออก ท้องผูก ในกรณีที่เป็นรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการไม่รู้สึกตัว โคม่า หายใจช้าและ ตัวเขียว (4) 
วิธีการรักษาพิษที่เกิดจากต้นลำโพงคือ 

  1. รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล เพื่อทำการล้างท้อง แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ก็ให้ยาระบาย และยาทำให้อาเจียน
  2. ในรายที่มีการตื่นเต้นมากควรให้ยาสงบระงับ morphine แต่ในการใช้ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะ morphine ออกฤทธิ์กดศูนย์ควบคุมการหายใจ และอัลคาลอยด์ในกลุ่ม atropine ก็ออกฤทธิ์กดศูนย์ควบคุมการหายใจด้วย ในขั้นสุดท้ายแทนที่จะไปแก้พิษก็กลับจะไปเพิ่มพิษให้สูงขึ้น
  3. ให้ยากลุ่ม cholinergic และอาจให้ barbiturate ร่วมด้วยหากมีอาการชัก
  4. ควรให้ผู้ป่วยอยู่ในที่มืด นอนพักในห้องพักและอาจจะต้องหยอดตาด้วย Pilopine และหมั่นเช็ดตัวเพื่อลดไข้
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. สุธรรม อารีกุล. องค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย เล่ม 1-3. เชียงใหม่: มูลนิธิโครงการหลวง, 2552.
  2. วีณา จิรัจฉริยากูล และ อ้อมบุญ ล้วนรัตน์, กองบรรณาธิการ. ยาจากสมุนไพร. กรุงเทพฯ: Text and Journal Corporation, 2533.
  3. de Padua LS, Bunyapraphatsara N, Lemmens RHMJ (Editors). 1999. Plant Resources of South-East Asia No. 12(1). Medicinal and poisonous plants 1. Backhuys Publishers, Leiden, the Netherlands. 711 pp.
  4. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร [homepage on the Internet]. Expert System for Diagnosis and Treatment of Toxic Symptoms of Thai Poisionous Plants (TPEX) : ลำโพงขาว [cited 2015 Oct 15]. Available from: http://www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/toxic_plant.asp?gr=G28&pl=0588&id=1


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ลำโพง : ไม้ประดับมีพิษ 1 วินาทีที่แล้ว
การเดินเพื่อสุขภาพ 16 วินาทีที่แล้ว
ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 34 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้