เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


เชื้อโรคในแหล่งน้ำธรรมชาติ


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง จากนักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 3 เพื่อประกอบการเรียนวิชาเภสัชจุลชีววิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://fotonin.com/data_images/out/24/94...l-park.jpg
อ่านแล้ว 36,730 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 08/11/2558
อ่านล่าสุด 11 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ปัจจุบันความนิยมของสถานที่ท่องเที่ยวคลายร้อนมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ทะเล น้ำตก แก่ง รวมถึง สวนน้ำที่สร้างขึ้นมา ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทยมีสวนน้ำเปิดให้บริการเป็นจำนวนมาก เมื่อพูดถึงการท่องเที่ยวตามแหล่งน้ำ ผู้คนจะนึกถึงแต่ ความสนุกสนาน ความเย็นสบาย และความสดชื่น แต่จะมีสักกี่คนที่นึกถึงความสะอาด และปลอดภัยของตนเอง โดยทั่วไปสวนน้ำในแต่ละแห่งมีระบบฆ่าเชื้อที่ได้มาตรฐาน คือระบบคลอลีน ระบบเกลือ และระบบโอโซน แต่สำหรับการท่องเที่ยวตามแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงสวนน้ำที่ไม่มีระบบรักษาความสะอาดที่ได้มาตรฐาน หรือแม้กระทั่งสวนน้ำที่มีผู้คนไปใช้บริการเป็นจำนวนมาก อาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคที่เราไม่คาดคิด ทำให้ติดเชื้อก่อโรคต่างๆได้หลังจากการเล่นน้ำ รายงานการติดเชื้อจากสวนน้ำส่วนมากพบในต่างประเทศส่วนในประเทศไทยมีรายงานน้อย หนึ่งในเชื้อที่ติดจากสวนน้ำเหล่านั้นคือ Naegleria fowleri ที่มีอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นเราควรมาทำความรู้จักกับเชื้อและอาการต่างๆ ที่เราอาจได้รับจากเชื้อในแหล่งน้ำ เพื่อให้รู้เท่าทันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น 
ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคจากแหล่งน้ำธรรมชาติหรือในสวนน้ำที่ไม่มีระบบรักษาความสะอาดที่ได้มาตรฐาน สามารถจำแนกอาการเป็นกลุ่ม ได้ดังนี้

  1. กลุ่มอาการระบบทางเดินอาหาร ได้แก่
    • อาการท้องร่วง ถ่ายเป็นน้ำ มีไข้ อาจติดเชื้อแบคทีเรีย Salmonella spp. ถ้ามีอาการปวดท้องเกร็งร่วมด้วยอาจเกิดจากการติดเชื้อปรสิต Cryptosporidium spp.
    • อาการท้องร่วง ถ่ายเป็นมูกเลือด มีไข้ อาจติดเชื้อแบคทีเรีย Shigella spp.
    • อาการท้องร่วงคล้ายน้ำซาวข้าว อาจติดเชื้อ Escherichia coli
    • อาการท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง อ่อนเพลีย อาจติดเชื้อไวรัส เช่น Norovirus
  2. กลุ่มอาการติดเชื้อทางผิวหนัง
    • ผิวหนังเป็นตุ่มสีเนื้อ ไม่คันและไม่เจ็บ ขนาดประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ตรงกลางอาจมีจุดบุ๋มคล้ายสะดือ อาจติดเชื้อ หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum
      การรักษาเบื้องต้น: สามารถหายได้เอง หรือใช้ยาที่มีส่วนผสมของ salicylic acid หรือยาที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น ยา imiquimod ในกรณีที่ต้องการให้ผลการรักษาดีขึ้น
    • อาการคันเป็นจุดๆบนผิวหนัง มีผื่นแดงซึ่งจะรุนแรงบริเวณใต้ร่มผ้าหรืออาจมีอาการติดเชื้อบริเวณหูส่วนกลางร่วมด้วย อาจติดเชื้อ Pseudomonas aeruginosa การรักษาเบื้องต้น: สามารถหายได้เอง หรืออาจใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีติดเชื้อที่หูส่วนกลาง
    • ตาแดงเฉียบพลันอาจเป็นตาแดงข้างใดข้างหนึ่งก่อน น้ำตาไหล เยื่อบุตาบวม ต่อมน้ำเหลืองหน้าหูโต เคืองตาเล็กน้อย มีไข้ มองแสงจะปวดตา อาจติดเชื้อ adenovirus 
      การรักษาเบื้องต้น: ประคบเย็น หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่นและขยี้ตา กรณีใช้ยายาปฏิชีวนะไม่ควรใช้ยาที่มีส่วนผสม steroid เพราะจะทำให้แผลหายช้า
    • โรคฉี่หนู ระยะแรกมีไข้สูง ระยะที่สองเกิดอาการปวดหัวอย่างรุนแรง คอเคล็ด มีตุ่มที่ผิวหนัง กล้ามเนื้อและตา อาจติดเชื้อ Leptospira interrogans ซึ่งพบมากตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือหลังจากอุทกภัย
  3. โรคจากการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ มีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะเป็นเลือด อาจติดเชื้อตระกูล Legionella sp.
  4. โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Hepatitis A มีอาการไข้สูง ปวดหัวมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ปัสสาวะเป็นสีเข้ม ตัวเหลืองตาเหลือง เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน

ส่วน N. fowleri เป็น โปรโตซัวจำพวกอะมีบา ซึ่งอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำอุ่นที่มนุษย์สร้างขึ้น มีวงจรชีพด้วยกันทั้งหมด 3 ระยะ ได้แก่ ระยะ Cysts ระยะ trophozoite และระยะ flagellate 
ระยะที่ N. fowleri สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์คือระยะ trophozoite และ flagellate โดยการติดเชื้อเกิดจากน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ เข้าทางจมูกทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย เช่น การสำลัก โดยเชื้อสามารถเคลื่อนที่ไปยังระบบประสาท ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบ primary amebic meningoencephalitis (PAM) ซึ่งเป็นโรคทางระบบประสาทส่วนกลางได้ โดยอาการจะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ 
ระยะที่ 1: อาการจะเริ่มใน 1-9 วันหลังการติดเชื้อ ปวดหัว มีไข้ มึนหัว และอาเจียน 
ระยะที่ 2: เกิดอาการโคม่า เห็นภาพหลอน คอแข็ง ไม่รู้สึกตัว ชัก มักเสียชีวิตภายใน 1-18 วันหลังติดเชื้อ เนื่องจากเชื้อเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง โดย N. fowleri จะกินเนื้อสมองทำให้การทำงานในระบบประสาทส่วนกลางไม่ทำงาน 
ระยะแรกของโรคนี้มีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่อาการเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและรุนแรง ทำให้รักษาไม่ทันการ จึงมีอัตราการเสียชีวิตสูงโดยพบว่าผู้รอดชีวิตจากการติดเชื้อนี้เพียง 3 ใน 133 คน ซึ่งการรักษานั้นยังไม่แน่ชัด มักให้ยาชื่อ Miltefosine ร่วมกับยาอื่น เป็นเวลา 28 วัน 
ยา Miltefosine นั้นเดิมเป็นยารักษามะเร็งเต้านมและโรคลิชมาเนีย ซึ่งจากการทดลองพบว่า ยาตัวนี้มีฤทธิ์ต้าน protozoa ตระกูล Balamuthia Acanthamoeba และ N. fowleri 
ถึงแม้ว่า N. fowleri สามารถก่อโรครุนแรง แต่โอกาสติดเชื้อมีน้อย เนื่องจากเชื้อไม่ทนต่อน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีนตามสระว่ายน้ำ และ โมโนคลอรามีน ทำให้มีความเสี่ยงน้อยที่จะติดเชื้อชนิดนี้จึงไม่เป็นที่น่าวิตกกังวลมากนัก แต่หากมีอาการตามความข้างต้นหลังจากการเล่นน้ำแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที 
การป้องกันสำหรับผู้ที่ลงเล่นน้ำไม่ควรกลืนหรือหายใจให้น้ำเข้าทางจมูกและปาก ก่อนลงสระควรล้างตัวให้สะอาด และไม่ปล่อยสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย ลงสระ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นเพื่อลดโอกาสติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อ เพื่อสุขอนามัยที่ดี  
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. พบชัย งามสกุลรุ่งโรจน์, วรรณี กัณฐกมาลากร, ไอยฤทธิ์ ไทยพิสุทธิกุล, ภัทรชัย กีรติสิน. จุลชีววิทยา การแพทย์. กรุงเทพฯ : วี.เจ. พริ้นติ้ง, 2556.
  2. อรอนงค์ พริ้งศุลกะ. จุลชีววิทยาการแพทย์: แบคทีเรียก่อโรค. กรุงเทพฯ: จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์, 2556.
  3. “อันตรายจากโรคในสระว่ายน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.doctor.or.th/ask/detail/7492.
  4. “Naegleria”. [online]. availaible : http://www.cdc.gov/parasites/naegleria/pathogen.html.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


4 วินาทีที่แล้ว
ยาหอม กับคนวัยทำงาน 15 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้