เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


เชื้อโรคในห้องสุขา


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง จากนักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 3 เพื่อประกอบการเรียนวิชาเภสัชจุลชีววิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://encrypted-tbn3.gstatic.com/image...HCS-A7EFEA
อ่านแล้ว 33,432 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 04/11/2558
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


สุขาเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคน สุขาที่ใช้กันอยู่ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นสุขาที่บ้าน หรือสุขาตามที่สาธารณะต่างๆ จะมีประชาชนกี่คนที่จะรู้ว่า เครื่องใช้หรือสุขภัณฑ์ที่เราใช้และพบได้เป็นประจำในสุขาจะมีจุลินทรีย์อย่างมากมาย ซึ่งหลายชนิดทั้งแบคทีเรีย รา ปรสิต รวมถึงไวรัส สามารถก่อโรคให้กับเราได้ 
จุลินทรีย์ที่พบได้จากสุขา โดยพบสะสมอยู่ตามตำแหน่งต่างๆ ที่ทุกคนที่เข้าไปใช้สุขาจะต้องสัมผัส เช่น ลูกบิดประตู ปุ่มกดชักโครก สายฉีดน้ำชำระ สบู่ล้างมือ เครื่องเป่ามือ หรือเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆที่วางไว้ประจำ เช่น แปรงสีฟัน หรืออุปกรณ์อื่น กรณีที่รวมอยู่กับห้องสุขา เช่น ฝักบัวอาบน้ำ เป็นต้น จุลินทรีย์พบจากตำแหน่งเหล่านั้น ได้แก่ 
ลูกบิดประตู 
ลูกบิดประตูเป็นสิ่งแรกที่เราต้องสัมผัสและเป็นช่องทางที่เชื้อสามารถแพร่กระจายสู่บุคคลอื่น เชื้อสำคัญที่พบ ได้แก่ Staphylococcus spp. ที่พบทั่วไปบนผิวหนัง เชื้อนี้ก่อโรคทางผิวหนังหรือสร้างสารพิษที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ บางชนิดเช่น Methicillin resistant Staphylococcus aureus (MRSA) เป็นเชื้อ S.aureus ที่ดื้อต่อยา Methicillin และมีชีวิตอยู่บนพื้นที่แห้งได้นานถึง 9 สัปดาห์ เชื้ออีกชนิดคือ Escherichia coli เป็นแบคทีเรียที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ และปะปนออกมากับอุจจาระ เป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการท้องร่วงและอาหารเป็นพิษ 
ชักโครก 
นอกจากที่รองนั่งชักโครก อีกที่หนึ่งที่มีการสะสมของจุลินทรีย์มากคือ ปุ่มกดชักโครก เชื้อที่พบได้แก่ S. aureus และเชื้อฟีคัลโคลิฟอร์ม (Faecal coliform bacteria) ซึ่งใช้เป็นตัวชี้วัดการปนเปื้อนอุจจาระ แบคทีเรียกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์ ถ้าเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดอาการถ่ายเป็นน้ำ เป็นมูกเลือด เช่น Escherichia coli, Enterobacter spp. เป็นต้น 
การกดชักโครกเป็นอีกสาเหตุหนึ่งในการแพร่กระจายจุลินทรีย์ โดยในปีค.ศ. 2012 Best และคณะ ได้ตีพิมพ์บทความถึงการกดชักโครกโดยไม่ปิดฝาครอบ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายแบคทีเรีย Clostridium difficile ที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วง และอาจนำไปสู่การอักเสบในลำไส้ได้ นอกจากนี้ยังพบว่า การกดชักโครกโดยไม่ปิดฝาครอบทำให้จุลินทรีย์ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศบริเวณรอบๆ ทำให้เชื้อสะสมอยู่ตามตำแหน่งต่างๆได้ ดังนั้น การปิดฝาครอบก่อนการกดชักโครกจึงสามารถช่วยให้ผู้ใช้สุขาและผู้ที่ต้องใช้สุขารายต่อๆไปลดความเสี่ยงหรือป้องกันการได้รับจุลินทรีย์ที่ไม่พึงประสงค์เหล่านั้นได้ 
สายฉีดน้ำชำระ 
สายฉีดน้ำชำระเป็นอีกหนึ่งจุดที่สะสมจุลินทรีย์ไว้มากจากการฉีดน้ำที่มีความแรง ผลการตรวจการปนเปื้อนในสุขาสาธารณะจากกระทรวงสาธารณะสุข พบว่าจุดที่มีเชื้อมากสุดคือบริเวณที่จับสายฉีดชำระเป็นเชื้อกลุ่มฟีคัลโคลิฟอร์มที่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง เช่น Escherichia coli เมื่อเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายจะส่งผลให้เกิดการถ่ายอุจจาระที่มีจำนวนมากกว่าปกติถึง 3 ครั้งขึ้นไปหรือถ่ายเป็นน้ำหรือเป็นมูกเลือด และรายงานจากข่าวประจำวันของศูนย์วิทยบริการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ของวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้เผยแพร่ถึงกรณีสุภาพสตรีผู้หนึ่งที่ใช้สุขาสาธารณะ และได้ใช้สายฉีดน้ำชำระ ทำให้ได้รับจุลินทรีย์และเกิดการลุกลามของเชื้อทำให้กรวยไต เกิดการอักเสบที่ตามรายงานกล่าวว่า ทำให้มีไข้สูง ปวดตรงบั้นเอวด้านขวาจากการติดเชื้อ ทำให้ต้องรักษาตัวนานถึง 10 วัน ทั้งนี้แพทย์สันนิษฐานว่าน่าจะมีเชื้อหลงเหลืออยู่ที่บริเวณสายฉีดน้ำ อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อให้ข้อมูลว่า ตนเคยมีประวัติการป่วยจากกรวยไตอักเสบ อาจทำให้มีโอกาสการติดเชื้อง่ายกว่าคนปกติ 
สบู่ล้างมือ 
สบู่ล้างมือในสุขาสามารถเป็นแหล่งสะสมจุลินทรีย์ได้ จากการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยอาริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าสบู่เหลวชนิดกล่องเปิดฝาแบบเติมมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่ถึงร้อยละ 25 โดย ร้อยละ 65 ของเชื้อที่พบคือเชื้อฟีคัลโคลิฟอร์ม เช่น E. coli ซึ่งการปนเปื้อนเชื้อ เกิดขึ้นขณะที่มีการเปิดฝา กล่องเพื่อเติมสบู่นั่นเอง ในขณะที่สบู่เหลวในบรรจุภัณฑ์แบบปิด หรือเมื่อใช้น้ำยาหมดแล้วทิ้ง กลับไม่พบเชื้อปนเปื้อน 
สบู่ที่ผสมด้วยสารต้านจุลินทรีย์ คือผสมด้วย Triclosan ที่ออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย โดยที่สารนี้ จะให้ผลดีเมื่อใช้ความเข้มข้นสูง โดยทั่วไปในสบู่ จะมีสารดังกล่าวร้อยละ 0.1 ถึง 0.45 ของน้ำหนักต่อปริมาณ ดังนั้น การใช้สบู่ต้านแบคทีเรียในการทำความสะอาดผิว จึงไม่สามารถลดจำนวนจุลินทรีย์ได้อย่างสมบูรณ์ 
เครื่องเป่ามือ (Hand dryer) 
เครื่องเป่ามือเป็นอุปกรณ์ในสุขาอีกหนึ่งอย่างที่เราสามารถพบได้ทั่วไปตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งเรามักจะใช้เป่ามือกันอยู่เป็นปกติ แต่เราไม่รู้เลยว่าเครื่องเป่ามือนี้สามารถเป็นแหล่งสะสมและกระจายจุลินทรีย์ได้อย่างดี นักวิทยาศาสตร์จาก University of Leeds ได้ทำการทดลองโดยให้ใช้เครื่องเป่ามือในสุขา จากนั้นเก็บตัวอย่างอากาศรอบๆที่เป่ามือและถัดจากบริเวณนั้นประมาณ 1-2 เมตร พบว่าอากาศบริเวณเครื่องเป่ามือแบบใช้ลมแรงเป่า (Jet air dryer) มีแบคทีเรียมากกว่าอากาศบริเวณเครื่องเป่ามือแบบใช้ลมร้อน (Warm air dryer) 4.5 เท่า และมากกว่าบริเวณที่ใช้กระดาษเช็ดมือถึง 27 เท่า เนื่องจากปริเวณนี้ไม่มีอากาศเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อ ตัวอย่างเชื้อที่พบเช่น Staphylococcus haemolyticus, Micrococcus luteus, Brevundimonas diminuta, Bacillus cereus, Pseudomonas alcaligenes เป็นต้น ในปี 2012 Huang และคณะ ได้สรุปว่าควรนำการใช้กระดาษเช็ดมือในสถานที่ที่ต้องการสุขอนามัยสูง เช่น โรงพยาบาลและคลินิก 
ฝักบัวอาบน้ำ 
จากการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ฝักบัวเป็นแหล่งซุกซ่อนแบคทีเรียที่ไหลมาตามสายน้ำลงสู่ใบหน้าและร่างกาย โดยพบ Mycobacteria avium ซึ่งจะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการไอแหบ หายใจลำบาก เรื้อรังและหมดแรง ซึ่งเชื้อชนิดนี้จะเป็นอันตรายต่อผู้ที่มีโรคทางพันธุกรรมที่ก่อให้เกิดโรคในปอด ทางเดินอาหารและผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง นอกจากนี้ยังพบ Acinetobacter guillouiae, Acidovorax temperans, Campylobacter spp; Legionella spp., Sphingomonas paucimobilis, Stenotrophomonas maltophilia โดยการใช้ฝักบัวโลหะจะช่วยลดและหลีกเลี่ยงจากจุลินทรีย์เพราะว่าจุลินทรีย์เติบโตในวัสดุประเภทนี้ได้ยาก 
แปรงสีฟัน 
แปรงสีฟันเป็นของใช้ส่วนตัวที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในช่องปาก โดยแปรงสีฟันสามารถสะสมจุลินทรีย์ได้มากที่สุด ถ้าวางใกล้กับชักโครกมากเกินไป เ เมื่อเวลาเรากดชักโครกโดยไม่ได้ปิดฝาครอบ จุลินทรีย์สามารถแพร่กระจายไปในอากาศรอบๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นในเรื่องการกดชักโครก และการทำความสะอาดแปรงสีฟันหลังการใช้งานที่ไม่พอเพียง จะทำให้มีเศษอาหาร แบคทีเรีย และน้ำลายสะสมอยู่ เมื่อนำแปรงสีฟันลักษณะข้างต้นมาใช้ จุลินทรีย์ก็จะเข้าสู่ร่างกายของเรา ตัวอย่างเชื้อที่พบ เช่น Escherichia coli, Enterococcus faecalis, Klebsiella pneumoniae, Lactobacillus spp., Porphyromonas gingivalis, Pseudomonas aeruginosa, Staphylococcus spp., Streptococcus spp., Treponema denticola รวมถึงรา Candida albicans เป็นต้น 
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่ามีจุลินทรีย์แฝงตัวอยู่ในสุขามากมาย ซึ่งบางชนิดสามารถก่อให้เกิดโรคร้ายแรงได้ ดังนั้นเราควรจะมีการป้องกันตนเองจากเชื้อเหล่านี้ เช่น

  1. ควรเก็บเครื่องใช้ในสุขาให้ห่างจากชักโครก หรือเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด
  2. ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังการเข้าสุขาทุกครั้ง
  3. หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องเป่ามือ โดยใช้กระดาษชำระเช็ดมือแทน
  4. ทำความสะอาดสุขาและอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสุขาที่เหมาะสมเป็นประจำ
  5. ควรปิดฝาครอบก่อนกดชัดโครก เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของจุลินทรีย์

และที่สำคัญพวกเราทุกคนควรมีจิตสำนึกที่ดีในการใช้ห้องสุขาทุกครั้ง 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Aiello AE, Larson EL, Levy SB. Consumer Antibacterial Soaps: Effective or Just Risky? Clin Infect Dis. 2007; 45:S137–47.
  2. Best EL, Redway K. Comparison of different hand drying method the potential for airborne-microbe dispersal and contamination. J Hospital Infect. 2015, 89: 215-217.
  3. Best EL, Sandoe JAT, Wilcox MH. Potential for aerosolization of Clostridium difficile after flushing toilets: the role of toilet lids in reducing environmental contamination risk. J Hospital Infect. 2012, 80: 1-5.
  4. Chattman M, Maxwell SL, Gerba CP. Occurrence of Heterotrophic and Coliform Bacteria in Liquid Hand Soaps From Bulk Refillable Dispensers in Public Facilities. J Environ Health. 2011; 73(7):26-29.
  5. Huang C, Ma W, Stack S. The Hygienic Efficacy of Different Hand-Drying Methods: A Review of the Evidence. Mayo Clin Proc. 2012;87(8):791-798.
  6. Lee Y. An evaluation of microbial and chemical contamination sources related to the deterioration of tap water quality in the household water supply system. Int J Environ Res Public Health. 2013; 10: 4143-4160.
  7. Zapka CA, Campbell EJ, Maxwell SL, Gerba CP, Dolan MJ, Arbogast JW, Macinga DR. Bacterial Hand Contamination and Transfer after Use of Contaminated Bulk-Soap-Refillable dispensers. App Environ Microbiol. 2011;77(9): 2898–2904.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


เชื้อโรคในห้องสุขา 1 วินาทีที่แล้ว
ยาดมมีอันตรายหรือไม่ 19 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้