เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


หยุดคิดสักนิด…ก่อนคิดฝ่าไฟแดง


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง จากนักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 3 เพื่อประกอบการเรียนวิชาเภสัชจุลชีววิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://driversdictionary.files.wordpres...t_red1.png
อ่านแล้ว 935,387 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 01/11/2558
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ปัจจุบันมีคู่รักจำนวนไม่น้อยที่มีความสัมพันธ์แบบ "ฝ่าไฟแดง" การฝ่าไฟแดงก็คือ การมีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือน ซึ่งจากรายงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พบว่า สตรีวัยรุ่น ร้อยละ 2.4-4 และสตรีวัยผู้ใหญ่ร้อยละ 25-30 มีความสัมพันธ์ทางเพศขณะมีประจำเดือน โดยมีความเชื่อว่าการฝ่าไฟแดงนั้นทำให้ไม่ปวดประจำเดือนและเป็นการคุมกำเนิดทางอ้อม แต่หารู้ไม่ว่าการฝ่าไฟแดงนั้นอาจทำให้ตัวคุณและคู่รักเผชิญกับอันตรายที่คาดไม่ถึง 
ในช่วงมีประจำเดือน ร่างกายของผู้หญิงนั้นจะอ่อนแอกว่าปกติ ซึ่งมีสาเหตุมาจากขณะที่มีประจำเดือน ปากมดลูกจะเปิดออก เพื่อให้เลือดและเยื่อบุโพรงมดลูกออกมา ทำให้เชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องคลอดหรือที่มาจากการมีเพศสัมพันธ์มีโอกาสเข้าไปในมดลูกได้ และการที่เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น 
อีกเหตุผลหนึ่งคือ ภูมิต้านทานของร่างกายในช่วงการมีประจำเดือนต่อแบคทีเรีย รา และไวรัส จะทำงานได้ต่ำลง มีการตีพิมพ์ลงในวารสาร International Journal of Biological & Medical Research โดย Dr.Sadiqua และคณะ ทำการทดลองโดยนำผู้หญิงสุขภาพแข็งแรงมาทั้งหมด 40 คน ช่วงอายุตั้งแต่ 18-25 ปี และผู้หญิงเหล่านี้มีรอบเดือนปกติ (ประมาณ 28 วัน) พวกเขาได้ตรวจจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว ตลอดเดือนของผู้หญิงเหล่านั้น ซึ่งผลปรากฏว่า จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้หญิงช่วงมีประจำเดือนจะต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ช่วงมีประจำเดือนภูมิคุ้มกันจะลดลง เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งทำหน้าที่ในระบบภูมิคุ้มกันมีจำนวนลดลงนั่นเอง 
อย่างที่ทราบมาแล้วว่าในช่วงที่ผู้หญิงมีประจำเดือน ระบบภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอลง จากการรายงานของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าการฝ่าไฟแดง มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้นอย่างชัดเจนประมาณ 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงที่ผู้หญิงไม่มีประจำเดือน โดยเชื้อที่มีโอกาสติดจากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างการมีประจำเดือนแบบไม่ได้ป้องกัน ได้แก่ Neisseria gonorrhoeae ก่อโรคหนองใน, Candida albicans ทำให้เกิดเชื้อราในช่องคลอด, Human Immunodeficiency Virus (HIV) เชื้อก่อโรคเอดส์, Human Papilloma Virus (HPV) เชื้อก่อโรคหูดหงอนไก่กับมะเร็งปากมดลูก และ Herpes simplex virus (HSV) เชื้อก่อโรคเริม 
โดยปกติการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน ฝ่ายหญิงมีโอกาสติดเชื้อ HIV จากฝ่ายชายได้ 10 ใน 10000 คน แต่เมื่อมีเลือดและสารคัดหลั่งออกมาอย่างมาก อัตราการติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ในเลือดยังมีธาตุเหล็กที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเชื้อ HPV ส่วนโรคเริมเกิดจากเชื้อที่มีการถ่ายทอดง่าย แล้วพบว่ามักกลับเป็นซ้ำมากช่วงมีประจำเดือน เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ผู้ป่วยควรจะงดการมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราว 
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายคู่รักเลือกที่จะฝ่าไฟแดงเพราะคิดว่าเป็นการคุมกำเนิดอย่างหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องป้องกัน ไม่มีโอกาสตั้งครรภ์ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า เพศหญิงมีโอกาสตั้งครรภ์ได้เมื่อไข่ได้รับการผสมกับอสุจิแล้วไปฝังตัวที่ผนังมดลูก ซึ่งช่วงมีประจำเดือนเป็นช่วงที่เยื่อบุผนังมดลูกชั้นในสลายตัว มีระยะเวลา 4-7 วัน เรียกช่วงนี้ว่า “Menstrual phase” หลังจากช่วงประจำเดือนผนังมดลูกจะหนาตัวขึ้น จนถึงวันตกไข่ (วันที่ 14 ของรอบเดือน) หากไข่ไม่ได้รับการผสม จึงไม่ฝั่งตัวที่ผนังมดลูก ผนังมดลูกสลายตัวเป็นประจำเดือน โดยปกติแล้วรอบเดือนจะประมาณ 28 วัน 
ดังนั้นหญิงที่มีรอบเดือนปกติสม่ำเสมอ การมีเพศสัมพันธ์ในวันแรกของการมีประจำเดือนจะมีโอกาสตั้งครรภ์ต่ำ และหากมีเพศสัมพันธ์ในวันท้ายๆ ของการมีประจำเดือน ต้องดูว่าช่วงมีประจำเดือนกี่วัน หากนานถึง 7 วัน แล้วมีเพศสัมพันธ์ในวันสุดท้าย อสุจิซึ่งอายุ 3-5 วัน อาจมีอายุได้ถึงวันที่ไข่ตก เพราะแม้วันตกไข่จะห่างจากช่วงการมีประจำเดือน แต่ก็สามารถตกไข่ก่อนหรือหลังได้บวกลบ 2 วัน จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ได้ 
แต่สำหรับผู้หญิงบางคนมีรอบเดือนไม่สม่ำเสมอหรือผิดปกติ เช่น มีรอบเดือนสั้นกว่าปกติ อย่างเช่น 21 วันหรือ 24 วัน ช่วงระหว่างการมีประจำเดือนจนกระทั่งตกไข่จะลดลง หากมีเพศสัมพันธ์ในวันท้ายของการมีประจำเดือนก็มีโอกาสที่อสุจิจะมีอายุถึงวันที่ตกไข่แล้วเกิดการปฏิสนธิได้ดังนั้นจึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ 
นอกจากนี้ หญิงที่อยู่ในช่วงใกล้หมดประจำเดือนมักจะมีรอบเดือนผิดปกติ ซึ่งเคยมีกรณีการตั้งครรภ์ ในวัยนี้จากการมีเพศสัมพันธ์ในขณะมีประจำเดือน ขณะเดียวกันก็มีผู้หญิงบางคนยังเข้าใจผิดว่าเลือดที่ไหลออกมาจากช่องคลอดเป็นประจำเดือน ทั้งที่จริงอาจเป็นความผิดปกติในช่องคลอด เช่น การอักเสบของปากมดลูก การติดเชื้อในช่องคลอดหรืออาจมีสาเหตุจากการที่มีรอยโรค เช่น ติ่งเนื้อ (polyp) ก้อนหรือแผลบริเวณปากมดลูก ซึ่งหากไปมีเพศสัมพันธ์ก็มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้ด้วยเช่นกัน 
หากถามว่าเราฝ่าไฟแดง จะมีโอกาสตั้งครรภ์หรือไม่ ถ้าเราแน่ใจว่ามีรอบเดือนปกติสม่ำเสมอ เลือดที่ไหลออกมานั้นเป็นเลือดประจำเดือนจริงๆ ไม่ใช่เลือดที่ออกเพราะสาเหตุอื่น การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงมีประจำเดือนมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์น้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้สูงมากเช่นกัน 
ดังนั้นหากต้องการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างการมีประจำเดือน ควรมีการป้องกันการติดเชื้อ จากเชื้อที่ติดต่อได้ง่ายทางการมีเพศสัมพันธ์ ทั้ง HIV และ HPV โดยควรให้ฝ่ายชายสวมถุงยางอนามัยเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ Human Immunodeficiency Virus (HIV) และ Human Papilloma Virus (HPV) การป้องกันอีกทางหนึ่งคือฉีดวัคซีน HPV (Human Papillomavirus Vaccine) ซึ่งป้องกันไวรัสที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก 
ปัจจุบันวัคซีน HPV มี 2 ชนิด คือ Quadrivalent vaccine (ชนิดไวรัส 4 สายพันธุ์ คือ 6, 11, 16 และ 18) และ Bivalent vaccine (ชนิดไวรัส 2 สายพันธุ์ คือ 16 และ 18) โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 70-75 ของโรคมะเร็งปากมดลูก เกิดจากสายพันธุ์ 16 และ 18 ดังนั้นสามารถเลือกใช้ได้ทั้งสองชนิด ควรฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-26 ปี แต่อย่างไรก็ตามการป้องกันเป็นเพียงการลดความเสี่ยงเท่านั้น และป้องกันไม่ได้ทุกเชื้อ ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างการมีประจำเดือน 
สำหรับคู่รักที่เลือกมีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือน เพราะเห็นว่าเป็นการคุมกำเนิดทางอ้อม เรายังมีวิธีคุมกำเนิดอีกหลายทางที่ดีกว่า ทั้งการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวและแบบถาวร การคุมกำเนิดแบบชั่วคราวทำได้โดยให้ฝ่ายหญิงรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด (pills) ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency contraception) ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดออกฤทธิ์นาน การใช้ห่วงอนามัย (Intrauterine Device) หรือการนับวัน (rhythm method) สำหรับฝ่ายชาย วิธีที่นิยมมากที่สุดก็คือการสวมถุงยางอนามัย ส่วนการคุมกำเนิดแบบถาวร วิธีที่นิยมก็คือการทำหมัน สามารถทำได้ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง 
สุดท้ายนี้ เมื่อคุณและคู่รักเห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างมีประจำเดือนมีข้อเสียมากมาย ไม่ได้ช่วยคุมกำเนิดได้อย่างสมบูรณ์อย่างที่หลายคนเข้าใจ อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในเมื่อคุณมีทางเลือกอื่นแล้ว อย่าฝ่าไฟแดงจะดีที่สุด เพราะ...ไฟแดงแปลว่าหยุด หยุดทั้งบนถนนและบนเตียง  
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=900
  2. http://www.biomedscidirect.com/download/IJBMRF2012514/13/study of immune
  3. http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/173 ความรู้เรื่องวัคซีนHPV
  4. http://americanpregnancy.org/getting-pregnant/can-get-pregnant-period/
  5. สรีรวิทยาของระบบสืบพันธุ์หญิงและการคุมกำเนิด: สรีรวิทยา ระบบสืบพันธุ์.เพ็ญโฉม พึ่งวิชา: ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ , 2558


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 1 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้