เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยารักษาโรคเบาหวาน ใช้อย่างไร


รองศาสตราจารย์ ดร. ภ.ญ. บุษบา จินดาวิจักษณ์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 151,297 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 08/11/2553
อ่านล่าสุด 2 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


 

โรคเบาหวานเป็นโรคที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินสุลินได้ในปริมาณที่สูงพอที่จะจัดการเก็บน้ำตาลจากเลือดเข้าเซลล์เพื่อทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดกลับสู่ค่าปกติ ผู้ป่วยจึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด แต่ก็สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ โดยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และใช้ยา เพียงเท่านี้ผู้ป่วยก็จะมีชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขเหมือนคนทั่วไป ในเรื่องการใช้ยา มียาอยู่ 2 ประเภทได้แก่ ยารับประทาน และยาฉีดอินสุลิน

ยารับประทานรักษาโรคเบาหวานยังแบ่งออกได้อีก 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มยาที่กระตุ้นการทำงานของตับอ่อนให้สร้างอินสุลิน กลุ่มยาที่ส่งเสริมการทำงานของอินสุลิน โดยลดการสร้างน้ำตาลจากตับและทำให้น้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้มากขึ้นและกลุ่มยาที่ขัดขวางการดูดซึมน้ำตาลจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ยาทั้ง3กลุ่มมีวิธีรับประทานต่างกันไป บางชนิดต้องรับประทานก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง บางชนิดต้องรับประทานพร้อมอาหารและ บางชนิดต้องรับประทานหลังอาหาร อย่างไรก็ตาม ข้อที่สำคัญคือ การรับประทานยาจะต้องตรงเวลา และไม่ขาดยา

 

กลุ่มยารักษาโรคเบาหวานวิธีใช้
กลุ่มยาที่กระตุ้นการทำงานของตับอ่อนให้สร้างอินสุลิน 
  • ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย เช่น กลิปีไซด์ กลิคาไซด์ ไกลเบนคลาไมด์เป็นต้น
รับประทานก่อนอาหาร30 นาทีวันละ 1-2 ครั้ง
  • ยากลุ่มรีพาไกลไนด์
รับประทานก่อนอาหาร 30 นาทีวันละ 2-4 ครั้ง
กลุ่มยาที่ส่งเสริมการทำงานของอินสุลิน 
  • เม็ทฟอร์มิน
รับประทานหลังอาหาร 15-30นาที วันละ 2-3 ครั้ง
  • ยากลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอน เช่น โรสิกลิตาโซน ไพโอกลิตาโซน
รับประทานหลังอาหาร15-30นาที วันละ 1-2 ครั้ง
กลุ่มยาที่ขัดขวางการดูดซึมน้ำตาลจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด 
  • เอคาร์โบสและ โวกลิโบส ยากลุ่มนี้จะลดระดับน้ำตาลได้เล็กน้อย จึงใช้ร่วมกับยากลุ่มอื่น
รับประทานพร้อมกับอาหารคำแรก วันละ 3 ครั้ง


 

นอกจากยารับประทานลดระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว ยาฉีดอินสุลินก็เป็นยาที่ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด ใช้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณต้นขา หรือหน้าท้อง วันละ 1-4 ครั้งก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง ควรหมุนเวียนเปลี่ยนที่ฉีดเข้าใต้ผิวหนังแทนการฉีดซ้ำที่เดิมแต่ยังคงอยู่ในบริเวณผิวหนังเดียวกัน เช่นฉีดบริเวณต้นขา ก็เปลี่ยนตำแหน่งแทงเข็มโดยให้ยังคงอยู่ที่บริเวณต้นขา

อินสุลินมีทั้งชนิดที่เป็นน้ำใสและน้ำขุ่น หากต้องใช้ทั้ง 2 ชนิด ผู้ป่วยต้องใช้กระบอกฉีดยาดูดอินสุลินชนิดน้ำใสก่อน แล้วจึงดูดยาอินสุลินชนิดน้ำขุ่น เข้ามาผสมในกระบอกฉีดยาเดียวกัน จากนั้นจึงนำไปฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ข้อสำคัญคือ อินสุลินที่ยังไม่เปิดใช้ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นที่ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง เมื่อจะใช้จึงนำออกมาจากตู้เย็น และนำไปคลึงระหว่างฝ่ามือทั้งสองข้างเพื่อให้อินสุลินมีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิกาย ก่อนนำไปฉีด ดังนั้นถ้าไปโรงพยาบาลและรับยาฉีดอินสุลิน จึงต้องแช่ในกระติกน้ำแข็งระหว่างเดินทางจากโรงพยาบาลกลับมาบ้าน เพราะยาฉีดอินสุลินหากโดนความร้อนจัดจะเสื่อมสภาพและใช้ไม่ได้อีกต่อไป สำหรับอินสุลินที่เปิดใช้แล้วสามารถวางไว้นอกตู้เย็นได้หากอุณหภูมิไม่สูงมาก แต่ต้องใช้ขวดนั้นให้หมดภายใน 30 วัน

ด้วยเหตุที่ผู้ป่วยต้องฉีดอินสุลินทุกวัน จึงมีการพัฒนารูปแบบยาฉีดอินสุลินให้อยู่ในกระบอกฉีดยาสำเร็จรูปที่มีหน้าตาคล้ายปากกา หลอดยาบรรจุอินสุลินมีปริมาตร 3 ซีซี จะติดอยู่ในปากกา ผู้ป่วยเพียงเปลี่ยนเข็มฉีดยาใหม่ทุกครั้งก่อนฉีด และไม่จำเป็นต้องเก็บปากกาอินสุลินไว้ในตู้เย็นเนื่องจากปริมาณอินสุลินในปากกาไม่มาก สามารถใช้ได้หมดภายในเวลาประมาณ 7-10 วันหรือไม่เกิน 1 เดือน นอกจากนี้ยังสะดวกในการพกพาติดตัวอีกด้วย อย่างไรก็ตามต้องไม่ทิ้งปากกาอินสุลินไว้ในรถที่จอดกลางแดด เพราะจะทำให้อินสุลินเสื่อมสภาพได้

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้