เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ไม้กฤษณา (ไม้หอม): ไม้ทรงคุณค่า ตอนที่ 1


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภก. วิเชษฐ์ ลีลามานิตย์ ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 137,108 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 23/09/2557
อ่านล่าสุด 8 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ไม้กฤษณาหรือไม้หอม เป็นไม้ทรงคุณค่ามาแต่โบราณ มีการนำมาใช้ประกอบทางยาในแพทย์ ในแถบทวีปเอเชีย และการนำมาใช้เพื่อให้เกิดกลิ่นหอมเพื่อการบำบัดหรือทำให้เกิดสุนทรียภาพทางอารมณ์ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรู้จักกันดีในนาม “Aromatherapy” 
 
ปัจจุบันความต้องการไม้กฤษณาที่มีคุณภาพสูง ในทางท้องตลาดทวีความรุนแรง จึงทำให้มีการแอบลักลอบตัดไม้กฤษณาจากป่าจนแทบสูญพันธุ์ จนปัจจุบันได้มีการปลูกไม้กฤษณาขึ้นมากมายในเชิงพาณิชย์ทั่วทั้งประเทศไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย 
ในตอนที่ 1 นี้ เรามาทำความรู้จักลักษณะทั่วไปของกฤษณากันก่อน ว่าเหตุใดไม้ชนิดนี้ จึงมีราคาแพง และในตอนที่ 2 เราจะมาศึกษาถึงคุณสมบัติทางยาและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของไม้กฤษณา 
ลักษณะของไม้กฤษณา 
ชื่อพื้นเมือง กฤษณา (ภาคตะวันออก) กายูการู กายูกาฮู กายูดึงปู (มาเลเซีย ปัตตานี) ไม้หอม (ภาคตะวันออก ภาคใต้) อครุ, ตคร (บาลี) ติ่มเฮียง (ไม้หอมที่จมน้ำ) (จีน), เซงเคง (ภาษากะเหรี่ยง), สีเสียดน้ำ(บุรีรัมย์), ตะเกราน้ำ(จันทบุรี), ไม้พวงมะพร้าว (ภาคใต้), gaharu, kikaras, mengkaras (อินโดนีเซีย), gaharu, tengkaras, karas (มาเลเซีย), agar (พม่า), Eagle Wood, Aglia, Lignum Aloes, Agarwood, Calambac, Akyaw, Aloewood, Calambour (อังกฤษ), Sasi (Assamese), Chen Xiang (จีน) 
ชื่อวงศ์ Thymelaeaceae Genus: Aquilaria 
ประเทศไทยพบ 4 ชนิด คือ Aquilaria baillonil, A. crassna Pierre, A. malaccensis Lamk. (ชื่อพฤกษศาสตร์พ้อง A. agallocha Roxb.) และชนิดใหม่ที่ถูกค้นพบโดย Dr. Ding Hau คือ A. subintegra Ding Hau 
ถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์ 
พบในเอเชีย อินเดีย ทิเบต ภูฐาน พม่า จีน ตลอดแหลมมลายู เกาะสุมาตรา บอร์เนียวและฟิลิปปินส์กฤษณาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูงตั้งแต่ 18-21 เมตร ขึ้นไป 
ลักษณะของเนื้อไม้ 
ลักษณะของเนื้อไม้กฤษณาจะมีทั้งเนื้อไม้ปกติและเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา ซึ่งคนไทยรู้จักจำแนกความแตกต่างมาตั้งแต่โบราณแล้ว ดังกล่าวถึงในมหาชาติคำหลวงสมัยอยุธยา ตอนต้น พ.ศ. 2025 ว่ามีทั้งไม้กฤษณาขาว (เสตครู) และ กฤษณาดำ (ตระคัร) ซึ่งมีเนื้อไม้หอม 
ส่วนเนื้อไม้ที่มีน้ำมันกฤษณา จะมีสีดำ หนัก และจมน้ำ คุณภาพของเนื้อไม้ ขึ้นอยู่กับการสะสมของน้ำมันกฤษณาภายในเซลล์ต่างๆ ของเนื้อไม้ องค์ประกอบทางด้านเคมี ของน้ำมันหอมระเหยจากกฤษณา ประกอบด้วยสารที่เป็นยางเหนียว (Resin) อยู่มาก สารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม คือ Sesquiterpene alcohol มีหลายชนิดคือ Dihydroagarofuran, β-Agarofuran, α-Agarofan, Agarol, Agarospirol, Eudesmane, Valencane, Eromophilane, Vetispirane และสารพวกอนุพันธุ์ของ Chromome น้ำมันกฤษณานี้เองที่ทำให้ไม้กฤษณามีกลิ่นหอม และมีราคาแพงอย่างมหาศาล 
คุณภาพของเนื้อไม้กฤษณา ในประเทศไทย สามารถแบ่งเป็น 4 เกรดดังนี้

  • เกรด 1 ชาวบ้านเรียกว่าไม้ลูกแก่น มีน้ำมันกฤษณาสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วเนื้อไม้ ทำให้มีสีดำ มีราคาแพงมากประมาณ 15,000 - 20,000 บาทต่อกิโลกรัม มีน้ำหนักเป็น 1.01 เท่าของน้ำ จึงจมน้ำ
  • เกรด 2 มีกลิ่นหอมและมีน้ำมันสะสมรองจากเกรด 1 สีจะจางออกทางน้ำตาล มีราคาประมาณ 8,000 – 10,000 บาทต่อกิโลกรัม มีน้ำหนักเบากว่าน้ำ บางครั้งเรียกว่าไม้ตกตะเคียน
  • เกรด 3 มีกลิ่นหอมและมีน้ำมันสะสมรองจากเกรด 2 มีราคาประมาณ 1,000 – 1,500 บาทต่อกิโลกรัม มีน้ำหนักเป็น 0.62 เท่าของน้ำ เบากว่าน้ำจึงลอยน้ำ
  • เกรด 4 มีกลิ่นและน้ำมันสะสมอยู่น้อย ใช้กลั่นน้ำมันหอมระเหย มีราคาประมาณ 400-600 บาทต่อกิโลกรัม มีน้ำหนักประมาณ 0.39 เท่าของน้ำ จึงลอยน้ำ ชนิดนี้ชาวบ้านจะเรียกว่า ไม้ปาก ส่วนเนื้อไม้ปกติที่ไม่มีน้ำมันกฤษณาสะสมอยู่ จะมีน้ำหนักเพียง 0.3 เท่าของน้ำ

การตรวจคุณภาพของไม้กฤษณา ทำได้โดยการทิ้งท่อนไม้ลงในน้ำ ถ้าท่อนไม้จมน้ำจะมีคุณภาพดีเลิศเรียกว่า “Gharki” ชนิดนี้เนื้อไม้มีสีดำ กลิ่นหอมมาก ถ้าท่อนไม้เริ่มลอยปริ่มน้ำ ชนิดนี้มักมีสีน้ำตาลอ่อน หรือน้ำเงินเข้ม เป็นไม้กฤษณาคุณภาพรองลงมาเรียกว่า “Neem Gharki” ถ้าท่อนไม้ลอยน้ำ เป็นไม้กฤษณาคุณภาพต่ำ ที่เรียกว่า “Samaleh” เมื่อเผาเนื้อไม้จะไม่พบกลิ่นหอมเลย ดังนั้นไม้กฤษณาสีดำเกรด 1 จึงมีราคาที่สูงลิ่วและมีความต้องการในท้องตลาดเป็นอย่างมาก 
สารสำคัญที่พบในน้ำมันกฤษณาได้แก่ Essential oils ชนิดต่างๆเช่น Agarol; Agarospiol; Agarofuran; Dihydroagarofuran เป็นต้น 
แหล่งซื้อขายไม้กฤษณา 
ไม้กฤษณาที่มีคุณภาพดีจะมีพ่อค้ามาซื้อถึงแหล่งปลูก ส่วนน้ำมันกฤษณามีแหล่งค้าขายหลักที่ซอยนานา หลังจากนั้นก็จะมีการส่งออกไปตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งรับซื้อใหญ่สุด และประเทศสิงคโปร์ เพื่อจำหน่ายไปประเทศในแถบตะวันออกกลางอีกที 
การปลูกไม้กฤษณาเพื่อให้ได้น้ำมัน 
จะเห็นได้ว่าราคาของไม้กฤษณาอยู่ที่ตัวน้ำมัน การที่จะปลูกให้ได้ไม้กฤษณาผลิตน้ำมันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม้กฤษณาที่ผลิตน้ำมันส่วนใหญ่ต้องมีอายุมากกว่า 10 ปี และต้องอาศัยเทคนิคบางประการที่จะต้องกระตุ้นให้ไม้กฤษณาตกน้ำมัน ดังนั้นแม้ไม้กฤษณาจะมีราคาแพงและมีความต้องการในท้องตลาดทั้งในและต่างประเทศ เกษตรกรชาวสวนควรระมัดระวังในการลงทุน เพราะกว่าจะคืนทุนอาจต้องใช้เวลานาน 10 ปี ดังนั้นเกษตรกรต้องมั่นใจว่ามีสายป่านที่ยาวมากพอ 
การซื้อขายน้ำมันกฤษณาในท้องตลาด 
น้ำมันกฤษณาขายเป็นหน่วยที่เรียกว่าโตร่า (Tora) หนึ่งโตร่าประมาณ 12.5 ซีซี ราคาโดยทั่วไปประมาณ 2,400-5,000 บาทต่อโตร่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำมัน

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. เฉลิมชัย สมมุ่ง วิเชษฐ์ ลีลามานิตย์ ไม้กฤษณา (ไม้หอม) แก้ปัญหาความยากจนของคนไทย บริษัท ดาต้า เปเปอร์ แอนด์ พริ้นท์ จำกัด กรุงเทพฯ


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


มะระขี้นก 1 นาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว
ว่านชักมดลูก 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้