เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ทุเรียน..ราชาแห่งผลไม้


กฤติยา ไชยนอก สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 110,330 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 30/07/2557
อ่านล่าสุด 3 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

แหม่...คำกล่าวนี้ไม่ถือว่าเกินไปจริงๆ เพราะเมืองไทยของเราไม่ว่าจะฤดูกาลไหน ก็มีของอร่อยๆ มาให้รับประทานกันได้ไม่ขาดปาก ยิ่งช่วงนี้ใครที่เดินตลาดติดแอร์ (ห้างสรรพสินค้า) ตลาดสด ตลาดเปียก ตลาดแห้ง หรือแม้กระทั่งตลาดเคลื่อนที่ (ก็รถขายผลไม้นั่นละ...อะ ยกมือดัก ควักมือเรียกกันได้...ไม่ซื้อไม่หาไม่ว่าอะไร...แต่ถ้าเรียกชิมแล้วไม่ซื้อนี่มีเคืองนะจ๊ะ...) ต่างก็ต้องได้เห็นความหลากหลายทางชีวภาพของผลไม้ไทยนานาชนิดเป็นแน่ ไม่ว่าจะเป็น เงาะ ลิ้นจี่ ชมพู่ มะม่วง มังคุด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทุเรียน” ที่ได้รับขนานนามว่า “King of fruits" หรือ “ราชาแห่งผลไม้” นั่นเอง 
ทุเรียน (Durio zibethinus Murray) หรือที่ฝรั่งเรียกว่า durian เป็นพืชในวงศ์ BOMBACACEAE พืชสกุลนี้เป็นไม้พื้นเมืองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตทุเรียนมากที่สุด รองลงมาคืออินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เนื้อและเมล็ดของทุเรียนมีคุณค่าทางอาหารสูง และให้พลังงานสูงเช่นกัน (ประมาณ 124 กิโลแคลอรี/100 ก.) เพราะอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน และมีแร่ธาตุหลายชนิด เช่น โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แคลเซียม นอกจากนี้ในเนื้อของทุเรียนยังมีสารประกอบซัลเฟอร์หรือกำมะถัน เช่น thiols, thioethers, ester และ sulphides ซึ่งทำให้ทุเรียนมีกลิ่นเฉพาะตัวที่รุนแรง (ซึ่งหลายๆ คนอาจไม่ชอบ) และสารสำคัญที่พบในทุเรียนคือสารในกลุ่ม คาโรทีนอยด์ ฟลาโวนอยด์ และโพลีฟีนอล 
สรรพคุณตาตำรายาไทยระบุว่า รากทุเรียน มีรสฝาดขมใช้แก้ไข้และแก้ท้องร่วง ใบทุเรียน มีรสขม เย็นเฝื่อน ใช้แก้ไข้ แก้ดีซ่าน ขับพยาธิ และทำให้หนองแห้ง เปลือกทุเรียน มีรสฝาดเฝื่อน ใช้รักษากลากเกลื้อน สมานแผล แก้น้ำเหลืองเสีย พุพอง แก้ฝี ตานซาง เนื้อทุเรียน มีรสหวาน ร้อน ใช้แก้จุกเสียดในท้อง ให้ความร้อนกับร่างกาย บำรุงกำลัง แก้โรคผิวหนัง ทำให้ฝีแห้ง และขับพยาธิไส้เดือน 
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า เนื้อทุเรียนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ลดไขมันในเลือด แต่ยังเป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่าสาร polysaccharide gel ที่ได้จากเปลือกทุเรียนมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด และเมื่อนำไปผสมในอาหารสัตว์ก็พบว่าสามารถช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและภูมิคุ้มกันให้กับกุ้งได้ และมีการนำสารดังกล่าวไปพัฒนาเป็นแผ่นฟิล์มปิดแผล ซึ่งพบว่าช่วยสมานแผลและลดการอักเสบได้เป็นอย่างดี 
หลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้างว่า “อย่ากินทุเรียนพร้อมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นะ” ว่าแต่ข้อเท็จ-จริงมันเป็นยังไงกันล่ะ และแล้วก็มีการศึกษาเพื่อพิสูจน์ความเชื่อนี้ค่ะ โดยพบว่าการกินของทั้งสองอย่างนี้พร้อมกัน จะมีผลทำให้เอนไซม์ aldehyde dehydrogenase ลดลง ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีหน้าที่เปลี่ยนสาร aldehyde ให้กลายเป็นสารอื่นแล้วถูกกำจัดออกจากร่างกายต่อไป (aldehyde เป็นสารพิษที่ได้จากกระบวนการเผาผลาญแอลกอฮอล์เป็นพลังงาน) ส่งผลให้สาร aldehyde เกิดการสะสมในร่างกาย และทำให้เกิดอาการหน้าแดง ชา วิงเวียน และอาเจียนนั่นเอง 
แม้จะมีการศึกษาว่าทุเรียนมีฤทธิ์ลดไขมันในเลือด แต่ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีแป้งและน้ำตาลสูง จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งต้องควบคุมปริมาณน้ำตาลและไขมันในเลือด สำหรับคนปกติเองก็ใช่ว่าจะกินทุเรียนได้แบบไม่จำกัดนะ ซึ่งทางกรมอนามัยเองก็มีการออกมาเตือนว่า การกินทุเรียน 4 - 6 เม็ด จะเทียบเท่าการดื่มน้ำอัดลม 2 กระป๋อง (พลังงานประมาณ 400 กิโลแคลอรี) และการกินทุเรียนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้ร่างกายเกิดความร้อนสูง เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการขาดน้ำได้ และแนะนำว่าไม่ควรกินเกิน 2 เม็ดกลาง หลังกินอาหารจานหลัก สำหรับคนธาตุไฟ การกินทุเรียนทำให้เกิดโรคร้อนในและเจ็บคอได้ง่าย วิธีป้องกัน คือ ดื่มน้ำผสมเกลือแกงครึ่งช้อนชา หรือดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อขับสารซัลเฟอร์และช่วยลดอาการร้อนในได้ 
ในเมื่อรู้คุณ รู้โทษ รู้ประโยชน์ และวิธีการรับประทานทุเรียนอย่างถูกต้องแล้ว จะรอช้าอยู่ไย เย็นนี้ก็จัดไปอย่าให้ขาด...“ป้าๆ เอาหมอนทองสวยๆ ลูกนึงจ้า...”

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 22 ฉบับที่ 3
  2. PROSEA: ทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันเฉียงใต้ 2 ไม้ผลและไม้ผลเคี้ยวมัน
  3. เอกสารประกอบการประชุม “Thai fruits-functional fruits” THAIFEX World of Food Asia 2010
  4. ข่าวประชาสัมพันธ์ส่วนกลาง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (Access: 30 มิ.ย. 2557) http://www.anamai.moph.go.th/ewt_news.php?nid=6586&filename=index


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ทุเรียน..ราชาแห่งผลไม้ 1 วินาทีที่แล้ว
แก้วมังกร 2 วินาทีที่แล้ว
สารกันราในขนมปัง 20 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้