เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


น้ำมันมะพร้าว กับ การลดน้ำหนัก


ภญ.ธนิกา ปฐมวิชัยวัฒน์ ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านแล้ว 455,598 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 10/06/2553
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

น้ำมันมะพร้าว (coconut oil) คือน้ำมันที่ได้จากการสกัดแยกน้ำมันจากเนื้อผลของต้นมะพร้าว (Cocos nucifera L.) ซึ่งเป็นพืชในตระกูลปาล์ม (Arecaceaeหรือ Palmae) ผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวที่จำหน่ายในท้องตลาดและได้รับความสนใจในขณะนี้ คือ virgin coconut oil ซึ่งหมายถึงน้ำมันมะพร้าวที่ใช้วิธีการสกัดแยกจากเนื้อมะพร้าวโดยไม่ผ่านกระบวนการที่ใช้ความร้อนสูงและไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปทางเคมี วิธีที่ใช้ในการเตรียม virgin coconut oil เช่น วิธีบีบเย็น เป็นต้น

องค์ประกอบหลักของน้ำมันมะพร้าวเป็นกรดไขมันอิ่มตัว (มากกว่า 90%จากปริมาณกรดไขมันทั้งหมด) แต่กรดไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่ที่พบในน้ำมันมะพร้าวนั้นเป็นกรดไขมันที่มีขนาดโมเลกุลปานกลาง (medium chain fatty acid) เช่น กรดลอริก(lauric acid) ซึ่งเมื่อรับประทานและถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะถูกเผาผลาญได้ดี จึงถูกสะสมในเนื้อเยื่อไขมัน(adipose tissue)ได้น้อยกว่ากรดไขมันที่มีขนาดโมเลกุลยาว (long chain fatty acid) เช่น กรดไลโนเลอิก (linoleic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่พบมากในน้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น (1, 2)

จากคุณสมบัติดังกล่าวของน้ำมันมะพร้าว ส่งผลให้น้ำมันมะพร้าวได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในการรับประทานเพื่อช่วยลดความอ้วน จากรายงานการศึกษาทางคลินิก (randomised, double-blind, clinical trial) ในประเทศบราซิล (3)ทำการทดสอบเปรียบเทียบผลระหว่างกลุ่มที่รับประทานน้ำมันมะพร้าวและกลุ่มที่รับประทานน้ำมันถั่วเหลืองในผู้หญิงที่มีภาวะอ้วนลงพุง (abdominal obesity) มีอายุระหว่าง 20-40 ปี (กลุ่มละ 20 คน) รับประทาน 30 มล.ต่อวัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ระหว่างการทดสอบผู้ทดสอบทุกคนจะได้รับอาหารพลังงานต่ำ (hypocaloric diet) และออกกำลังกาย 4 วัน/สัปดาห์ หลังสิ้นสุดการทดลองพบว่า น้ำมันมะพร้าวไม่ทำให้น้ำหนักตัวและ body mass index (BMI) เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับก่อนเริ่มการทดลอง เมื่อดูผลการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในเลือดพบว่า กลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะพร้าวไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับคลอเลสเตอรอลรวมและไขมันตัวร้าย (LDL) แต่มีระดับไขมันตัวดี (HDL) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.03 ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับน้ำมันถั่วเหลือง มีระดับคลอเลสเตอรอลรวมและไขมันตัวร้าย (LDL) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.45และ 23.48 ตามลำดับ และมีระดับไขมันตัวดี (HDL) ลดลงร้อยละ 12.62 เมื่อเทียบกับก่อนเริ่มการทดลอง อย่างไรก็ตามระดับไตรกลีเซอไรด์ของทั้งสองกลุ่มไม่เปลี่ยนแปลง

แม้การศึกษานี้จะแสดงให้เห็นว่าน้ำมันมะพร้าวไม่ได้มีผลต่อการลดลงของน้ำหนักตัวของกลุ่มทดลอง และไม่ทำให้ระดับไขมันที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (คลอเลสเตอรอลรวม ไขมันตัวร้าย(LDL) และไตรกลีเซอไรด์) เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มระดับไขมันตัวดี(HDL) ที่ช่วยลดอัตราการเกิดโรคดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ทำการทดสอบในกลุ่มคนจำนวนน้อย และระยะเวลาที่ทดลองก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ (12 สัปดาห์) นอกจากนั้นการได้รับอาหารพลังงานต่ำและการออกกำลังกายสม่ำเสมอ(4 วัน/สัปดาห์) ก็นับเป็นปัจจัยร่วมสำคัญที่อาจส่งเสริมให้ผลการทดลองเป็นไปในทางที่ดีจึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อดูผลของน้ำมันมะพร้าวต่อการลดน้ำหนักและการสะสมของระดับไขมันดังกล่าวในระยะยาว ดังนั้นจากข้อมูลที่มีในขณะนี้จึงยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าน้ำมันมะพร้าวมีผลต่อการลดน้ำหนักหรือจะส่งผลดีต่อระดับไขมันที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และหากจะให้แนะนำถึงหนทางที่ดีและปลอดภัยที่สุดในขณะนี้สำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักก็คงจะหนีไม่พ้นการควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
1.  Marten B, Pfeuffer M, Schrezenmeir Jr. Medium-chain triglycerides. International Dairy Journal. 2006;16(11):1374-82. 2.  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. มะพร้าว. วารสารพืชปลูกพื้นเมืองไทย. 2548 กรกฎาคม;1(3). 3.          Assuncao ML, Ferreira HS, dos Santos AF, Cabral CR, Jr., Florencio TM. Effects of dietary coconut oil on the biochemical and anthropometric profiles of women presenting abdominal obesity. Lipids. 2009Jul;44(7):593-601.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ไขมันทรานส์ 17 วินาทีที่แล้ว
สับปะรด : ผลไม้รักษาโรค 29 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้