เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


หญ้าปักกิ่ง


รองศาสตราจารย์ ดร. วีณา จิรัจฉริยากูล ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 121,524 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 28/04/2556
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

 
หญ้าปักกิ่ง เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว วงศ์ Commelinaceae ชื่อวิทยาศาสตร์ Murdannia loriformis (Hassk.) Rolla Rao et Kammathy ถิ่นกำเนิดของหญ้าปักกิ่งอยู่ในแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ปัจจุบันมีการปลูกหญ้าปักกิ่งทั่วไปในประเทศไทย หญ้าปักกิ่งสูงประมาณ 10 ซม. ใบเดี่ยว เกลี้ยง เรียงสลับ ใบออกเป็นกระจุกใกล้ราก แผ่นใบเป็นแถบกว้าง 1.5-2.0 ซม. ยาว 15-20 ซม. ใบที่ปลายยอดสั้นกว่า ขอบใบและกาบใบเป็นขนครุย (ciliate) ช่อดอกอยู่ที่ยอดตามซอก เป็นช่อแยกแขนงแน่น วงใบประดับมีลักษณะคล้ายใบแต่เล็กกว่า ก้านดอกโค้งเล็กน้อย ใบประดับโปร่งแสงมีขนาดประมาณ 4 มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่หรือรี ขนาดประมาณ 3 มม. กลีบดอกสีน้ำเงินหรือม่วงน้ำเงิน ร่วงง่าย เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 2 อัน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 3 อัน ก้านชูอับเรณูมีขน รังไข่ยาว 1 มม. ก้านเกสรเพศเมีย ยาว 3 มม. ผลเป็นแคปซูลยาว 3-4 ซม. รูปไข่ แต่ละช่อง (locule) มี 2 เมล็ด 
ยาจีนใช้หญ้าปักกิ่งบรรเทาอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจและขับพิษ ส่วนในประเทศไทย ผู้ป่วยมะเร็งประเภทต่างๆ ดื่มน้ำคั้นจากส่วนเหนือดินของหญ้าปักกิ่งรักษาตนเอง เพื่อช่วยยืดชีวิตและลดผลข้างเคียงจากการรักษาแผนปัจจุบันมานานกว่า 30 ปี งานวิจัยหญ้าปักกิ่งได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2532-2537) องค์การเภสัชกรรม (พ.ศ. 2542-2543) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (พ.ศ. 2546) มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และเงินบริจาคจากภาคเอกชน ก่อให้เกิดองค์ความรู้ด้านการต้านมะเร็งของหญ้าปักกิ่ง สารที่แสดงฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งในหญ้าปักกิ่ง คือ กลัยโคสฟิงโกไลปิด (Glycosphingolipid) ที่มีชื่อว่า G1b ซึ่งเป็นกลุ่มไขมันที่มีขั้วเป็นองค์ประกอบของเซลล์ผิว กลัยโคสฟิงโกไลปิดมีหน้าที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน พบว่า กลัยโคสฟิงโกไลปิดของเซลล์มะเร็งแตกต่างจากเซลล์ปกติ จึงคาดว่า นอกจากฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งโดยตรงต่อเซลล์มะเร็งเต้านม ปอด ลำไส้ใหญ่และตับ ระดับปานกลางในหลอดทดลอง G1b อาจมีฤทธิ์ปรับระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งจากการทดลองเบื้องต้นพบว่า G1b เพิ่มอัตราส่วนของ CD 3, 4 : CD 3, 8 ที่ผิวของเซลล์เม็ดเลือดขาวเพาะเลี้ยงในวันที่ 3 และ 7 จากการตรวจความเป็นพิษเฉียบพลันและความเป็นพิษกึ่งเรื้อรังของน้ำคั้น พบว่ามีความปลอดภัย

การเตรียมน้ำคั้นหญ้าปักกิ่ง 
การเตรียมน้ำคั้นหญ้าปักกิ่ง หญ้าปักกิ่งส่วนเหนือดิน 100-120 กรัม นำไปแช่น้ำเกลือหรือน้ำด่างทับทิม 10 – 15 นาทีและล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปคั้นน้ำ ด้วยเครื่องปั่นแยกกาก น้ำคั้นที่ได้เทผ่านผ้าขาวบาง และบีบน้ำคั้นออกจากกาก จะได้น้ำคั้นประมาณ 60 มลลิลิตร ให้แบ่งดื่มก่อนอาหารเช้า-เย็น ดื่มติดต่อกัน 7 วัน แล้วหยุด 4 วัน เพื่อป้องกันการรับประทานเกินขนาด การเตรียมน้ำคั้นหญ้าปักกิ่งสามารถเตรียมให้ใช้ได้ 2-3 วัน โดยเก็บรักษาน้ำคั้นไว้ในตู้เย็น

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


หญ้าปักกิ่ง 2 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้