เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


การละลายและการแตกตัวของยาเม็ด เหมือนหรือต่างกัน


อาจารย์ ดร.ภญ. วารี ลิมป์วิกรานต์ ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 65,275 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 14/04/2556
อ่านล่าสุด 16 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

“การละลาย กับ การแตกตัวของยาเม็ดเหมือนกันหรือไม่ครับอาจารย์” 
“ไม่เหมือนกันคะ การละลายก็คือละลาย กับ การแตกตัวก็คือการแตกตัว คนละเรื่องกันคะ” ดูจะตอบแบบกำปั้นทุบดินไปหน่อยในตอนแรก แต่เมื่ออธิบายต่อไปนักศึกษาก็เข้าใจในที่สุด 
คำว่า “ละลาย” คือการที่ของแข็งละลายในตัวทำละลายเช่น น้ำ จนได้สารละลายใส 
คำว่า “แตกตัว” นั่นหมายถึงการที่เม็ดยาแตกออก ไม่คงเป็นเม็ด
เมื่อรับประทานยาเข้าไป ยาเม็ดจะเกิดการแตกตัว ซึ่งการแตกตัวของยาเม็ดจะเร็วหรือช้าขึ้นกับคุณสมบัติและปริมาณตัวยาต่างๆ เช่น สารช่วยแตกตัว สารช่วยยึดเกาะที่ใช้ในตำรับ เมื่อยาเม็ดแตกตัวแล้วตัวยาสำคัญจะละลายและถูกดูดซึมได้ การดูดซึมเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของตัวยา จะเห็นได้ว่าทั้งการแตกตัวและการละลายนั้นมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ยาเม็ด ในเภสัชตำรับจึงได้กำหนดมาตรฐานเพื่อควบคุมคุณภาพของยาเม็ดไว้ทั้งเรื่องการแตกตัวและการละลาย ภายใต้หัวข้อการทดสอบเรื่องการแตกตัว (Disintegration) และ การละลาย (Dissolution) ซึ่งสรุปสั้นๆ ได้ดังต่อไปนี้ 
การทดสอบการแตกตัวจะใช้เครื่องมือดังรูปที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยอ่างน้ำควบคุมอุณหภูมิ, ภาชนะใส่ของเหลว, ชุดตะกร้าซึ่งเป็นหลอดแก้วใส 6 หลอดรูปทรงกระบอกปลายด้านบนเปิดและด้านล่างมีตะแกรงติดอยู่ และมอเตอร์เพื่อดึงชุดตะกร้าให้เคลื่อนที่ขึ้นลง ในการทดสอบจะใส่ของเหลว (โดยทั่วไปคือน้ำ) ลงในภาชนะใส่ของเหลว ควบคุมอุณหภูมิให้ได้ 37+2 องศาเซลเซียสโดยอ่างน้ำควบคุมอุณหภูมิ จากนั้นประกอบชุดตะกร้า เมื่อได้อุณหภูมิตามที่กำหนด ใส่ยาเม็ดลงในแต่ละหลอดๆ ละ 1 เม็ด เปิดมอเตอร์ จับเวลาตามที่เภสัชตำรับกำหนดและดูว่าเมื่อครบเวลา ยาเม็ดทั้ง 6 เม็ดแตกตัวหมดหรือไม่ ถ้าไม่มีเหลือบนตะแกรงเลย ถือว่ายานั้นผ่านการทดสอบตามมาตรฐานเภสัชตำรับ 
ส่วนการทดสอบการละลายนั้น เครื่องมือมีหลายแบบขึ้นกับแต่ละตำรับยากำหนด โดยทั่วไปการทดสอบการละลายมักใช้เครื่องมือแบบที่ 2 (Apparatus 2 = Paddle apparatus) ดังรูปที่ 2 วิธีการทดสอบจะใช้ยาเม็ด 6 เม็ด (1 เม็ด/ภาชนะ) หย่อนลงในภาชนะที่บรรจุตัวกลางการละลายที่เตรียมไว้ อุณหภูมิ 37+0.5 องศาเซลเซียส ส่วนปริมาตร ชนิดของตัวกลางการละลาย และความเร็วรอบของใบพัดที่หมุนนั้นขึ้นกับข้อกำหนดของแต่ละตำรับ ทำการสุ่มตัวอย่างตามเวลาที่กำหนด แล้วคำนวณหาปริมาณตัวยาที่ละลายออกมาได้ ยาเม็ดจะผ่านการทดสอบการละลายได้เมื่อยาเม็ดนั้นๆ สามารถละลายยาออกมาได้ในปริมาณและเวลาที่กำหนด 
จากการทดสอบทั้งสองที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ยาเม็ดที่จำหน่ายในท้องตลาดมีคุณภาพมาตรฐานตามเภสัชตำรับเรื่องการแตกตัวและการละลายแล้ว 
 

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. The United States Pharmacopeial Convention. The United States Pharmacopeia 36th Revision – The National Formulary 31th Revision. Volume 1. Maryland: United Book Press, Inc., 2012.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


18 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้