เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


พาราเซตามอล (paracetamol) รักษาปวดได้ทุกอย่างจริงหรือ?


อาจารย์ ภก. พงศธร มีสวัสดิ์สม ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://drlumbago.com/body-aches-pains-hu...-all-over/
อ่านแล้ว 237,797 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 31/03/2556
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ยาพาราเซตามอล (paracetamol) หรือ อะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) เป็นยาแก้ปวดลดไข้ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายหาซื้อได้ง่าย เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยเมื่อใช้อย่างถูกวิธี 
 
พาราเซตามอลสามารถบรรเทาปวดจากสาเหตุต่างๆได้หลากหลาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดจากข้อเสื่อม ปวดกล้ามเนื้อ เคล็ด ขัด ยอก หลายท่านจึงมีติดตู้ยาที่บ้านและมักเป็นยาที่นึกถึงเป็นขนานแรกเมื่อมีอาการปวด เมื่อใช้ในรูปแบบยาเดี่ยว พาราเซตามอลมีฤทธิ์ลดอาการปวดจำกัด รักษาได้เพียงอาการปวดขั้นอ่อนถึงปานกลางเท่านั้น

อาการปวดที่ยาพาราเซตามอลใช้ได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผล 
แม้พาราเซตามอลจะมีฤทธิ์บรรเทาปวดได้หลายอย่างจนเหมือนจะรักษาปวดได้ครอบจักรวาล แต่อย่างไรก็ตามมีอาการปวดบางชนิดที่พาราเซตามอลไม่มีผลรักษาหรืออาจไม่ใช่ยาที่เหมาะสม เช่น

  • อาการปวดขั้นรุนแรง 
    เช่นปวดจากแผลผ่าตัดใหญ่ หรือจากมะเร็ง วิธีการประเมินความปวดอย่างง่ายวิธีหนึ่งคือการให้คะแนนความปวดจาก 0 ถึง 10 ให้เลข 0 แทนความรู้สึกที่ไม่มีอาการปวดแต่อย่างใดและเลข 10 แทนความรู้สึกปวดมากที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้ หากประเมินแล้วตัวเลขตกอยู่ในช่วง 7-10 นั่นหมายถึงการมีอาการปวดขั้นรุนแรง ยาพาราเซตามอลแต่เพียงขนานเดียวไม่สามารถรักษาได้แม้ว่าจะใช้เกินขนาดไปเท่าใดก็ตาม ดังนั้นผู้ป่วยที่มีความปวดระดับดังกล่าวห้ามใช้พาราเซตามอลเกินขนาดที่แนะนำเพื่อหวังผลลดปวดและควรพบแพทย์เพื่อรับยาที่เหมาะสมต่อไป 
  • อาการปวดที่มีลักษณะอาการแบบแปลกๆ 
    อาการปวดโทยทั่วไปที่พาราเซตามอลมีผลรักษาเช่น ปวดตื้อ หรือ กดเจ็บ จากเนื้อเยื่อที่มีการอักเสบ หรือปวดศีรษะทั่วไป แต่มีอาการบวดบางแบบที่พบได้ในผู้ป่วยเช่น ปวดแสบปวดร้อน เสียวแปลบเป็นพักๆ ปวดเหมือนเข็มเล็กๆทิ่มแทง ปวดเหมือนไฟช๊อต ปวดร้าวไปที่บริเวณอื่นๆ อาการปวดเหล่านี้อาจบ่งถึงอาการปวดจากการที่เส้นประสาททำงานผิดปกติ ปวดร่วมกับอาการชา ยาพาราเซตามอลมีผลน้อยมากในการรักษาอาการดังกล่าว ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเส้นประสาทมักมีอาการเรื้อรังจึงอาจใช้ยาพาราเซตามอลเองเป็นระยะเวลานานซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของตับ หากมีอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง 
  • อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง 
    การใช้ยาพาราเซตามอลรักษาอาการปวดศีรษะบ่อยๆ โดยเฉพาะการใช้ยามากกว่า 15 วันต่อเดือนประมาณ 2-3 เดือนติดต่อกันจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิด “โรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน (medication overuse headache)” ดังนั้นผู้ที่อาการปวดศีรษะบ่อยครั้ง เช่นปวดศีรษะไมเกรนมากกว่าเดือนละ 3-4 ครั้ง หรือปวดศีรษะจากความเครียดที่มีลักษณะอาการปวดเหมือนศีรษะถูกบีบรัดมากกว่า 15 วันต่อเดือน ควรปรึกษาบุคคลากรทางการแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนและอาจจำเป็นต้องรับยาอื่นที่ไม่ใช่พาราเซตามองเพื่อป้องกันอาการปวดศีรษะต่อไป 

คำแนะนำการใช้ยาพาราเซตามอลในการระงับปวดให้ปลอดภัย

  • รับประทานยาอย่างเคร่งครัดตามที่ได้รับการแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ หรือห้ามใช้เกินขนาดที่แนะนำ
    ขนาดยาพาราเซตามอลโดยทั่วไปเมื่อใช้ในการรักษาความปวดเบื้องต้นในผู้ใหญ่คือ 500 มิลลิกรัมครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ใน 1 วัน (24 ชั่วโมง) ไม่เกิน 8 เม็ด (4,000 มิลลิกรัม) จากขนาดยาดังกล่าวสังเกตว่าหากรับประทานครั้งละ 2 เม็ดทุก 4 ชั่วโมง จะเท่ากับ 6,000 มิลลิกรัมซึ่งเกิน 4,000 มิลลิกรัม ให้ระมัดระวังการใช้ยาในขนาดสูงดังกว่า ขนาดยาที่แนะนำในผู้ใหญ่นี้ ใช้สำหรับรักษาความปวดเบื้องต้น แนะนำให้รับประทานติดต่อกันไม่เกิน 5-7 วัน หากจำเป็นต้องใช้นานกว่านี้ควรปรึกษาแพทย์
  • หากใช้ยาบางชนิดร่วมด้วยต้องใช้พาราเซตามอลภายใต้การดูแลของแพทย์
    ยาบางชนิดอาจทำให้พิษต่อตับของยาพาราเซตามอลเพิ่มขึ้นเช่น ยารักษาวัณโรค เช่น rifampin หรือยารักษาโรคลมชักเช่น phenytoin, carbamazepine และ phenobarbital หรือการดื่มสุราจัดติดต่อกันเป็นเวลานาน พาราเซตามอลอาจเพิ่มฤทธิ์ของยาบางชนิด เช่น warfarin ซึ่งเป็นยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด หากได้รับยาดังกล่าวควรใช้ยาพาราเซตามอลหรือยาแก้ปวดทุกชนิดภายใต้การดูแลของแพทย์
  • ตรวจสอบชื่อสามัญทางยาของยาที่ใช้อยู่ให้ถี่ถ้วนเพื่อป้องกันการได้รับพาราเซตามอลเกินขนาด
    ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาอยู่หลายขนานให้ทำการตจาวลสอบชื่อสามัญทางยาว่ามี พาราเซตามอล (paracetamol) หรือ อะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) อยู่ในยาแต่ละขนานอย่างซ้ำซ้อนหรือไม่ เพราะมียาหลายชื่อการค้าที่มีพาราเซตามอลแฝงอยู่โดยเฉพาะยาสูตรผสมแก้หวัด เช่น Tiffy® Decolgen®, Pharcold® และ Apracur® และยาสูตรผสมแก้ปวด เช่น Norgesic®, Ultracet® และ Tylenol with codeine® การได้รับยาเหล่านี้ซ้ำซ้อนกันหลายชนิดอาจเป็นเหตุให้ได้รับยาพาราเซตามอลเกิดขนาดโดยไม่ตั้งใจได้ หากไม่แน่ใจในขนาดยารวมของพาราเซตามอลที่ใช้ให้ปรึกษาเภสัชกร
แหล่งอ้างอิง/ที่มา


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


2 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้