เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


นิ่วน้ำลาย


รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 111,256 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 03/02/2556
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

คำว่า “นิ่ว” เมื่อได้ยินคนส่วนใหญ่จะนึกถึงนิ่วในทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งนิ่วในถุงน้ำดีหรือทางเดินน้ำดี แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า “นิ่ว” สามารถเกิดในต่อมน้ำลายหรือท่อทางเดินน้ำลายได้ด้วย
“น้ำลาย” เป็นของเหลวใสในช่องปาก พบได้ทั้งในคนและในสัตว์ ซึ่งในคนมีการสร้างและหลั่งน้ำลาย วันละประมาณ 1-1.5 ลิตร ส่วนใหญ่ได้จากต่อมน้ำลายหลัก 3 คู่ คือ ต่อมน้ำลายใต้หู ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร และต่อมน้ำลายใต้ลิ้น ส่วนน้อยมาจากต่อมเล็ก ๆที่กระจายอยู่ในเยื่อบุช่องปากและคอหอย ต่อมน้ำลายใต้หูสร้างน้ำลายชนิดใส ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกรและต่อมน้ำลายใต้ลิ้นสร้างทั้งชนิดใสและเหนียวข้น ซึ่งต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกรสร้างชนิดใสมากกว่าเหนียวข้น ส่วนต่อมน้ำลายใต้ลิ้นสร้างชนิดเหนียวข้นเป็นส่วนใหญ่ น้ำลายชนิดใสมีเอนไซม์แอลฟ่าอะไมเลสสำหรับย่อยแป้ง และน้ำลายชนิดข้นมีเมือกเพื่อช่วยหล่อลื่นอาหาร
น้ำลายมีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อน (pH ประมาณ 6.5-7.0) ประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ (99.5%) น้ำลายมีหน้าที่หลัก 2 ประการ คือ ย่อยอาหารและปกป้องอันตรายที่อาจเกิดภายในปาก ในน้ำลายมีเอนไซม์แอลฟาอะไมเลส ช่วยย่อยอาหารคาร์โบไฮเดรต มีเมือกช่วยหล่อลื่นอาหารเพื่อสะดวกในการกลืนและป้องกันการระคายเคืองจากอาหาร มีไบคาร์บอเนตอิออน (HCO3-) ทำหน้าที่สะเทินสภาพกรดจากอาหารและแบคทีเรีย จึงช่วยป้องกันฟันผุ น้ำลายประกอบด้วยน้ำจำนวนมาก ทำให้ปากชุ่มชื้นเสมอ นอกจากนี้ น้ำลายช่วยในการรับรส โดยช่วยละลายสารอาหารต่าง ๆ เพื่อสามารถกระตุ้นการทำงานของเซลล์รับรส
นิ่วในต่อมน้ำลายหรือท่อน้ำลาย เกิดจากการสะสมขององค์ประกอบทางเคมีในน้ำลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแคลเซียม อาจเกี่ยวข้องกับการสร้างน้ำลายลดลงและ/หรือมีผนังท่อน้ำลายหนา แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
อย่างไรก็ตาม พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ่วน้ำลาย ได้แก่ ภาวะขาดน้ำ การใช้ยาบางชนิด (ในกลุ่มยาต้านฮีสตามีน ยาลดความดันโลหิต ยาทางจิตเวช และยาควมคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ) ตลอดจนการกระทบกระแทกหรือการบาดเจ็บของต่อมน้ำลายก็มีผลเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วน้ำลายด้วย
เมื่อมีนิ่วในต่อมน้ำลายหรือท่อน้ำลาย หรือทั้งคู่ จะเกิดท่อน้ำลายอุดตัน ทำให้น้ำลายไหลเปิดสู่ช่องปากไม่ได้ซึ่งพบนิ่วของต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกรมากที่สุดในจำนวนต่อมน้ำลายหลักทั้งสามคู่นี้ ผู้ป่วยมักจะมาปรึกษาแพทย์ด้วยอาการของท่อน้ำลายอุดตัน คือมีอาการบวมใต้คาง เป็นๆหายๆ โดยเฉพาะเวลาที่จะกินอาหาร เนื่องจากน้ำลายที่ถูกสร้างไม่สามารถไหลออกมาได้ อาจมีอาการปวดร่วมด้วยเมื่อมีการคั่งของน้ำลายมากๆ รวมทั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนเมื่อมีการติดเชื้อ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบผนังท่อน้ำลาย และกลายเป็นฝีได
้ นิ่วในทางเดินน้ำลาย สามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้ โดยการดื่มน้ำมากๆ รักษาความสะอาดในช่องปากและฟัน กรณีมีปัญหา ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก เมื่อพบนิ่วขนาดเล็กในท่อน้ำลายส่วนปลาย การรักษาในขั้นตอนแรก หากมีการอักเสบ ให้ใช้ยาลดการอักเสบก่อน เมื่อการอักเสบลดลง เยื่อบุผนังท่อน้ำลายยุบบวม ท่อทางเดินน้ำลายจะกว้างขึ้นมาอยู่ในระดับปกติ และให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวเพื่อรักษาตนเอง โดยดื่มน้ำมากๆ ให้อมวิตามินซีหรือรับประทานของเปรี้ยวเพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำลาย และให้ประคบบริเวณคางที่บวมด้วยน้ำอุ่นพร้อมกับใช้มือรีดแก้มและคางจากบริเวณด้านข้างลงตามแนวแก้ม เพื่อกระตุ้นให้น้ำลายไหลสู่ช่องปากมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีนิ่วหลุดออกมาได้ แต่กรณีนิ่วไม่หลุดออกมาหรือนิ่วขนาดใหญ่ สามารถรักษาด้วยการผ่าตัด โดยคีบก้อนนิ่วออก รวมทั้งเปิดปากทางออกของท่อน้ำลายให้กว้างขึ้น หรืออาจผ่าตัดเอาต่อมน้ำลายข้างที่เป็นนิ่วออก

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ. ระบบทางเดินอาหาร. กทม: ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2555.
  2. Jardim EC et al. Sialolithiasis of the submandibular gland. J Craniofac Surg. 2011 May;22(3):1128-31.
  3. Ellies M and Laskawi R. Diseases of the salivary glands in infants and adolescents. Head Face Med. 2010 Feb 15;6:1.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


นิ่วน้ำลาย 1 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้