เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

เหตุการณ์สำคัญในเภสัชมหิดล


เภสัชฯ ม.มหิดล ขานรับนโยบาย กท.พาณิชย์ เร่งติดอาวุธผู้ประกอบการสมุนไพรไทย ต้านผลกระทบจาก AFTA

อ่านแล้ว 2,795 ครั้ง   
ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2555  
เมื่อ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนโดย กองทุน FTA กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ : มุมมองจากทฤษฎีการแพทย์ไทยและข้อมูลเอกสารทางวิชาการ” ในโครงการการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสมุนไพรไทยเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าอาเซียน (AFTA) ด้วยสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2555 ณ โรงแรมซิตี้พาร์ค จังหวัดนครราชสีมา โดยได้รับเกียรติจาก นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิด และร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “นโยบายสนับสนุนการใช้สมุนไพรของรัฐและแนวทางการขับเคลื่อนในสถานบริการของรัฐ” ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์จาก 18 จังหวัดในภาคอีสาน ซึ่งประกอบไปด้วยแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานทางด้านสาธารณสุขที่เข้าร่วมสัมมนา จำนวนกว่า 150 คน รองศาสตราจารย์ ดร. สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองคณบดี ฝ่ายแผนและพัฒนาคุณภาพ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการนี้ว่า จุดเริ่มต้นจากนโยบายการรวมกลุ่มสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศไปสู่เขตเศรษฐกิจเดียวหรือที่เรียกว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี พ.ศ. 2558 และเปิดเขตเสรีทางการค้าอาเซียนหรือ AFTA (ASEAN Free Trade Area) ซึ่งการรวมกลุ่มในครั้งนี้ทำให้ทุกประเทศต้องเร่งพัฒนาจุดแข็งด้านสินค้าและบริการของตนให้มีคุณภาพมาตรฐานเพื่อสามารถรองรับการแข่งขันในตลาดเสรีได้ สำหรับประเทศไทยนั้น แม้จะอุดมไปด้วยทรัพยากรและภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยสูง แต่ยังขาดการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปธรรม รวมถึงการพัฒนาโรงงานด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนผู้ประกอบการที่ยังขาดความเข้าใจในหลักการของการแพทย์และสมุนไพรไทย ส่งผลให้บุคลากรสาธารณสุขและผู้บริโภคไม่เชื่อถือ ทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ช้ามาก จึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันทางการตลาดในระบบเศรษฐกิจและสังคมใหม่ได้ ประกอบกับที่กองทุน FTA กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงสนับสนุนเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมยาสมุนไพร โดยเริ่มดำเนินการระยะที่ 1 ในปี 2552 มีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่ปรึกษาหลัก ภายใต้โครงการชื่อ โครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า AFTA ด้วยสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งได้พัฒนากระบวนการผลิตยาจากสมุนไพรมาตรฐานทั้งเดี่ยวและตำรับจำนวน 19 ชนิด และจัดการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการวิจัยให้แก่บุคลากรของโรงงานอุตสาหกรรมยาสมุนไพรไปแล้วจำนวน 62 คน ทั้งยังจัดการสัมมนาบุคลากรทางการแพทย์ เรื่อง ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ : มุมมองจากทฤษฎีการแพทย์ไทยและข้อมูลเอกสารทางวิชาการไปแล้ว 419 คน เพื่อให้การดำเนินงานต่อเนื่องและเกิดประโยชน์อย่างจริงจัง ในปี 2554 กองทุน FTA กรมการค้าต่างประเทศ จึงได้สนับสนุนเงินทุนเพื่อช่วยเหลือ เป็นระยะที่ 2 โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสมุนไพรไทยเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า AFTA ด้วยสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้คณะเภสัชศาสตร์จัด กิจกรรมเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นการพัฒนาการผลิตยาสมุนไพรทั้งภาคเอกชนและภาครัฐให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันสูงขึ้นและการพึ่งตนเองทางด้านยารักษาโรค มีผู้ผลิตยาสมุนไพรภาคเอกชนร่วมโครงการ 60 คน และ เภสัชกรและเจ้าหน้าที่ของหน่วยผลิตยาสมุนไพรในโรงพยาบาลรัฐอีก 50 คน กิจกรรมที่ 2 เป็นการศึกษาวิจัยทางคลินิก ตำรับยาครีมไพลสกัด และการวิจัยพัฒนารูปแบบตำรับยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ อีก 8 ตำรับ ส่วนกิจกรรมที่ 3 เป็น การส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรไทยในบัญชียาหลักแห่งชาติ ในทุกภาคส่วนเพื่อการพึ่งตนเองทางด้านยารักษาโรค และปกป้องตลาดยาภายในประเทศ โดยจัดการประชุมวิชาการเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยที่สนับสนุนการใช้ของภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรับยาสมุนไพร เช่น ยาหอมนวโกฐและอินทรจักร ยาแก้ไข้-จันทลีลา และยาแก้ท้องเสีย-ยาเหลืองปิดสมุทร รวมทั้งข้อมูลการศึกษาวิจัยด้านเภสัชวิทยา พิษวิทยา และการศึกษาทางคลินิกของยาจากสมุนไพรที่มีการเผยแพร่อยู่ในเอกสารวิชาการทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งจัดทำ “คู่มือการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์” เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการสัมมนาด้วย ด้าน นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ กล่าวถึงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในระบบบริการสาธารณสุขทุกระดับ พร้อมทั้งเตรียมขยายการให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยเพื่อก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558 กระทรวงสาธารณสุขเองก็ได้ตั้งเป้าหมายการดำเนินงานไว้ ดังนี้ 1) ประชาชนได้รับบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ในปีถัดไป 2) เพิ่มรายการยาสมุนไพรเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติไม่น้อยกว่า 100 รายการ 3) เน้นการพัฒนาศูนย์บริการด้านการแพทย์แผนไทยและมีแพทย์แผนไทยประจำไม่น้อยกว่า 800 แห่ง ภายในปี 2558 และ 4) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่งมีบริการแพทย์แผนไทย โดยเน้นการใช้ยาสมุนไพรพื้นฐาน และบริการนวดแผนไทย ซึ่งผลจากการที่ประเทศไทยก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้การเจรจาทางการค้าที่รวมถึงตลาดยาสมุนไพร, อาหาร และผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในช่วงปีดังกล่าวประเทศไทยจะสามารถดึงการค้าอุตสาหกรรมที่ใช้ยาสมุนไพรเข้าประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท




Photo Gallery


งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


สับปะรด : ผลไม้รักษาโรค 13 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 28 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้