อ่านแล้ว 5,178 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2554
หลายปีที่ผ่านมา สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์และเวชภัณฑ์ยาต่างๆ ที่ผลิตขึ้นจากสารสังเคราะห์ทางเคมีนั้น ค่อนข้างเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย แต่ในปัจจุบัน ตลาดของสินค้าจำพวกยาและเครื่องสำอางชนิดต่างๆ ที่มีส่วนผสมเป็นสารสกัดจากพืชสมุนไพรนั้น กำลังกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง และส่งผลให้พืชสมุนไพรประเภทต่างๆ ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกลายมาเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการมากขึ้น
ในขณะที่หลายประเทศกำลังผลักดันการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากสารสกัดมาตรฐานที่มีการควบคุมคุณภาพ แต่ในประเทศไทยนั้น ผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังคงใช้เทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน และมีองค์ความรู้ด้านการผลิตไม่มากนัก การผลิตยังคงผลิตจากสมุนไพรที่บดเป็นผง นำมาแปรรูปเป็นแคปซูลและยาเม็ด ซึ่งมีปัญหาทั้งในกระบวนการผลิต และอายุการเก็บรักษายาที่ค่อนข้างสั้น การใช้สารสกัดสมุนไพรแทนที่ผงยานั้น ทำให้มีการควบคุมคุณภาพได้สม่ำเสมอและสามารถนำมาเตรียมได้หลายรูปแบบ นอกจากการใช้สารสกัดในรูปแบบยารับประทาน สารสกัดยังมีประโยชน์อย่างยิ่งในการผลิตเครื่องสำอาง แต่การผลิตสารสกัดนั้นผู้ผลิตต้องมีความรู้ในเรื่องสารเคมีจากพืช และวิธีการสกัด เพื่อให้ปริมาณสารเคมีตามต้องการ จึงจะได้สารสกัดที่มีคุณภาพเหมาะสมต่อการนำไปใช้ ตลอดจนการควบคุมคุณภาพของสารสกัดก็เป็นอีกกระบวนการที่เป็นการรับรองคุณภาพของสารสกัดหรือน้ำมันหอมระเหยที่ได้
การสกัดน้ำมันหอมระเหยนั้นมีความน่าสนใจ เพราะสามารถลงทุนได้ในหลายระดับ หากมีความเข้าใจในหลักการสกัดที่ถูกต้อง ก็ทำให้สามารถเลือกลงทุนได้ตามความเหมาะสมกับธุรกิจ ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดโครงการอบรมวิชาการ เรื่อง “การสกัดสมุนไพรและน้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้เป็นยาและเครื่องสำอาง” เมื่อวันที่ 18 – 20 พฤษภาคม 2554 ณ ห้องประชุม 409 อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีคณาจารย์จาก ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ อาทิ รศ.รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล รศ.พร้อมจิต ศรลัมพ์ รศ.สมภพ ประธานธุรารักษ์ ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในภาคทฤษฎี รวมทั้ง ดร.สุรัตน์วดี จิวะจินดา และคุณแก้วมาลา ปาละกุล ทำหน้าที่สาธิตวิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหย ภายในห้องปฏิบัติการ ให้แก่ผู้เข้าอบรม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาและเวชสำอางที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากสมุนไพร จำนวนกว่า 30 คน
Photo Gallery