Eng |
ระหว่างวันที่ 9-13 กันยายน 2567 รองศาสตราจารย์ ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงขององค์การเภสัชกรรม ได้แก่ 1) คุณนงลักษณ์ โกวัฒนะ กรรมการบอร์ด 2) แพทย์หญิงมิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการ 3) เภสัชกรหญิงวิลักษณ์ วังกานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ 4) ดร. เภสัชกรหญิงรัชนีกร เจวประเสริฐพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารพัสดุและผลิตภัณฑ์ 5) เภสัชกรหญิงปาริชาติ แคล้วปลอดทุกข์ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย และ 6) ดร. เภสัชกรหญิงปิยพร พยัฆพรม ผู้อำนวยการฝ่ายทะเบียนผลิตภัณฑ์และทรัพย์สินทางปัญญา เดินทางไปเยือน บริษัท Pharco Pharmaceuticals ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตยาชั้นนำของกลุ่มประเทศอาหรับและทวีปแอฟริกาตอนเหนือ (Middle East and North Africa หรือเขต MENA) ณ ประเทศอียิปต์
ในการเดินทางครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อการเจรจาความร่วมมือในการเพิ่มทางเลือกของยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีให้กับระบบสาธารณสุขของไทย เพื่อสนับสนุนนโยบายการขจัดโรคไวรัสตับอักเสบซีให้หมดไปจากประเทศไทยภายในปี ค.ศ. 2030 รวมไปถึงโอกาสของการนำผลิตภัณฑ์ขององค์การเภสัชกรรมไปสู่ตลาดกลุ่มประเทศอาหรับและทวีปแอฟริกาตอนเหนือ ผ่านการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจระหว่าง องค์การเภสัชกรรม กับ บริษัท Pharco Pharmaceuticals โดยมี คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ร่วมเป็นพันธมิตรในการสนับสนุนความร่วมมือดังกล่าว
นอกจากนี้ ในการมาเยือนในครั้งนี้ Dr. Sherine Hassan Abbas Helmy (Chairman of the Board Director) และ Dr. Yasser Mohamed Hassan Fayed (Corporate Business Development Director) ให้การต้อนรับคณะผู้มาเยือนจากไทยอย่างอบอุ่น และได้นำเสนอข้อมูลของบริษัท Pharco อย่างละเอียด และแสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตของบริษัทที่เริ่มก่อตั้งในปี คศ. 1987 และสามารถพัฒนาจนประสบความสำเร็จในการเป็นบริษัทยาชั้นำของภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลาง ที่ได้คุณภาพมาตรฐานระดับโลก มีโรงงานภายใต้บริษัท 6 โรงงาน พนักงานกว่า 7 พันคน รวมไปถึงการมีความสามารถในการผลิต active pharmaceutical ingredient (API) ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งทีมคณะจากไทยได้มีโอกาสเยี่ยมชมโรงงานบางส่วนในการมาเยือนครั้งนี้ นอกจากนี้ ยังมีการเจรจาความร่วมมือทั้งในด้านการพัฒนายา เครื่องสำอางและอาหารเสริมอีกด้วย
กิจกรรมดังกล่าวยังสนับสนุนพันธกิจของคณะฯ ในการเป็นศูนย์กลางให้บริการวิชาการด้านยา สมุนไพร เครื่องสำอาง และอาหาร เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และยังตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเป้าหมายที่ 3 คือ สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย และเป้าหมายที่ 17 คือ เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย