Eng |
ระหว่างวันที่ 18-31 กรกฎาคม 2567 นักศึกษาระดับปริญญาตรีของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย นางสาวกรชิชา วจีทวีสิน นางสาวบูรณี ชัยผาติ และ นางสาวปริณดา ศีตะปันย์ เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา Sustainable Development Goals and Pharmaceutical Learning Network (SDGs & PLN Program) ณ College of Pharmacy, China Medical University (CMU) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
ทั้งนี้ โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาดังกล่าว นับเป็นครั้งแรกสำหรับนักศึกษาของคณะฯ ในการเดินทางไปแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ณ College of Pharmacy, China Medical University โดยได้รับความร่วมมือและการประสานงานจาก Prof. Dr. Hsiang-Wen Lin ในการจัดโครงการและกิจกรรมการแลกเปลี่ยนดังกล่าว นอกจากนี้ นักศึกษาทั้ง 3 คน ยังได้รับทุนสนับสนุนจาก กองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้ ทุนสนับสนุนการเคลื่อนย้ายนักศึกษา ณ ต่างประเทศ สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนดังกล่าวอีกด้วย
โครงการนักศึกษาเภสัชศาสตร์แลกเปลี่ยนในต่างประเทศ ประจำปี 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ และประสบการณ์วิชาชีพเภสัชกรรม รวมทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรมในสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) อีกทั้งยังส่งเสริมให้นักศึกษามีโอกาสในการขยายขอบเขตของความคิดในระดับนานาชาติ พัฒนาศักยภาพของนักศึกษาเพื่อการเป็นบัณฑิตที่มีสมรรถนะในระดับสากล (Globally- competent graduate) และมีความพร้อมสู่การเป็นประชาคมโลก (Global citizen) และการสนับสนุนนโยบายของมหาวิทยาลัยมหิดลในการก้าวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก
นอกจากนี้ โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาดังกล่าวยังสนับสนุนพันธกิจของคณะฯ ในการสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานทัดเทียมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในเอเชีย มีคุณธรรม และตอบสนองความต้องการของสังคม อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเป้าหมายที่ 3 คือ สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย เป้าหมายที่ 4 คือ สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายที่ 10 ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ เป้าหมายที่ 13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น และเป้าหมายที่ 17 คือ เสริมความแข็งแกร่งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน