Eng |
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยภาควิชาเภสัชเคมี จัดการประชุมวิชาการภาควิชาเภสัชเคมี ครั้งที่ 15 หัวข้อ Quality Matter: Insight Pharmacopeia and Pharmaceutical Impurity โดยมี รองศาสตราจารย์ ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุม ซึ่งมีเภสัชกร นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ที่ปฏิบัติงานด้านการขึ้นทะเบียนยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวน 118 คน ณ โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพฯ
การประชุมวิชาการภาควิชาเภสัชเคมี ครั้งที่ 15 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2567 โดยในการประชุมวิชาการครั้งนี้ คณะฯ ได้รับเกียรติจากคณาจารย์ภายในคณะฯ รวมทั้ง ดร.ภญ.อธิพร ดุมแก้ว สังกัดกองยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้เกียรติร่วมเป็นวิทยากรด้วย สำหรับเนื้อหาการประชุมครอบคลุม เรื่อง ความสำคัญของการวิเคราะห์สารปนเปื้อนในยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ชนิดและแหล่งที่มาของสารปนเปื้อนในยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ การนำเสนอข้อมูลที่เป็นปัจจุบันของการควบคุมสารปนเปื้อนในตำรายา เทคนิคที่ใช้วิเคราะห์สารปนเปื้อน การทดสอบความคงตัวเพื่อศึกษาสารปนเปื้อนในยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ การจัดทำข้อกำหนดของสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ เกณฑ์และแนวทางตาม ICH Q3A(R2), Q3B(R2) และ Q3D(R2) รวมทั้งข้อมูลที่จำเป็นของสารปนเปื้อนเพื่อใช้ในการขึ้นทะเบียนยา
การประชุมวิชาการภาควิชาเภสัชเคมี ครั้งที่ 15 หัวข้อ Quality Matter: Insight Pharmacopeia and Pharmaceutical Impurity จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้รอบด้านเกี่ยวกับสารปนเปื้อนในยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมถึงเทคนิคการวิเคราะห์สารปนเปื้อนในยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ หลักเกณฑ์และแนวทางของ ICH ที่เกี่ยวข้องกับสารปนเปื้อนในยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ อันจะนำไปสู่การยกระดับทักษะด้านการขึ้นทะเบียนยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มพูนทักษะในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยา สมุนไพร โภชนเภสัช และเครื่องสำอางให้กับผู้เข้าร่วมงานประชุม รวมถึงผู้ประกอบการภาครัฐและเอกชน บุคลากรสาขาเภสัชศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ การประชุมวิชาการดังกล่าวยังสนับสนุนพันธกิจของคณะฯ ด้านการเป็นศูนย์กลางให้บริการวิชาการด้านยา สมุนไพร เครื่องสำอาง และอาหาร เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Goals) ในเป้าหมายที่ 3 คือ สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย เป้าหมายที่ 8: ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และ มีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน และ เป้าหมายที่ 9: สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม
ในโอกาสนี้ คณะฯ ขอขอบคุณผู้สนับสนุนการจัดการประชุม ดังรายนามต่อไปนี้
1. บริษัท พาราไซแอนติฟิค จำกัด
2. บริษัท กิตติสิทธิ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด
3. บริษัท ยู อาร์ ไซเอนทิฟิค จำกัด
4. บริษัท แบงเทรดดิ้ง 1992 จำกัด