Eng |
เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00-16.30 น. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยงานบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ม.มหิดล จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Management) ด้านการวิจัย ครั้งที่ 4/2567 การฝึกอบรมในหัวข้อ "การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และการใช้ประโยชน์ภายใต้ TRIUP Act (TRIUP Act & Technology Commercialization)" โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.ดวงดาว ฉันทศาสตร์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม และ รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน ณ ห้องประชุม 206 อาคารราชรัตน์ พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านระบบ Cisco Webex Meeting โดยมีบุคลากรและนักวิจัยภายในคณะฯ และภายในมหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
โดยในกิจกรรมนี้ คณะฯ ได้รับเกียรติจากวิทยากร 4 ท่าน ร่วมบรรยายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดังนี้
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ (ที่ปรึกษาอาวุโส หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)) ให้เกียรติร่วมบรรยายผ่านระบบออนไลน์ในหัวข้อ "สาระสำคัญ พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 (TRIUP Act)"
2. คุณพลอยพรรณ จิตรแจ้ง (เจ้าหน้าที่ทรัพย์สินทางปัญญา สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ม.มหิดล) บรรยายในหัวข้อ "บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 (TRIUP Act)"
3. คุณวิกรานต์ ดวงมณี (Head of Intellectual Property Management บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน)) บรรยายในหัวข้อ "Freedom to Operate 101 สำคัญอย่างไร?"
4. คุณนฤเบศร์ การย์สกุลธร (Senior IP Legal Counsel บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน)) บรรยายในหัวข้อ "การบริหารจัดการข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการวิจัยและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์"
กิจกรรมฝึกอบรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการวิจัยและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมทั้งสาระสำคัญของพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 และบทบาทของมหาวิทยาลัยกับการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 (TRIUP Act)
นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Goals) ในเป้าหมายที่ 8: ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และ มีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน และเป้าหมายที่ 9: สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม