อ่านแล้ว 525 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2565
เมื่อวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00-16.00 น. คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล โดยงานกิจการนักศึกษา จัดโครงการฝึกอบรมผู้แทนนักศึกษา ในหัวข้อ ’แนวทางการดูแลสุขภาพใจนักศึกษา’ ณ ห้อง 307 อาคารเทพรัตน์ ในโอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก.ลือรัตน์ อนุรัตน์พานิช รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและพัฒนาคุณภาพ เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งในการฝึกอบรมนี้ คณะฯ ได้รับเกียรติจากวิทยากรของศูนย์ให้คำปรึกษา และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ร่วมให้ความรู้และฝึกทักษะต่างๆ แก่ผู้แทนนักศึกษาในระดับชั้นปีที่ 1-5 ที่เข้าร่วมกิจกรรม รวมจำนวน 23 คน
โครงการฝึกอบรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมมีความสามารถในการสังเกตพฤติกรรมของเพื่อนร่วมชั้นปี สามารถเฝ้าระวังพฤติกรรมเลียนแบบ และให้การช่วยเหลือโดยการรับฟังในเบื้องต้น รวมถึงเพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการดูแลสุขภาพใจนักศึกษาและการให้คำปรึกษาเบื้องต้น เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษามีสุขภาวะทางใจที่ดีจัดการกับชีวิตประจำวันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน เรื่องส่วนตัว และเรื่องครอบครัว สำหรับกิจกรรม ประกอบด้วย การบรรยายในหัวข้อ การสังเกตพฤติกรรมเพื่อการช่วยเหลือเบื้องต้น ทักษะการให้คำปรึกษาเบื้องต้น: บทบาทผู้ให้การปรึกษาและการสร้างสัมพันธภาพ รวมไปถึงการะฝึกทักษะการให้คำปรึกษาเบื้องต้น ทั้งทักษะการฟัง การสะท้อนความรู้สึก และการดูแลจิตใจตนเองของผู้ให้การปรึกษา เป็นต้น
ทั้งนี้ เนื่องจากในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและฉับพลันทันที รวมทั้งวิกฤติโรคระบาด ซึ่งอาจนำไปสู่ความเครียดและความกังวลเพิ่มสูงขึ้นของนักศึกษา ประกอบกับการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่มีความสำคัญต่อการเป็นนักศึกษา ทำให้ต้องปรับตัวให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ทั้งในด้านการเรียน ด้านชีวิตความเป็นอยู่ หรือด้านความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ที่อาจนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และก่อให้เกิดภาวะความเครียดตามมาได้ งานกิจการนักศึกษา คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล จึงเล็งเห็นความสำคัญในประเด็นดังกล่าว จึงได้จัดโครงการอบรมผู้แทนนักศึกษานี้ขึ้น โดยตระหนักถึงบทบาทของผู้แทนนักศึกษา เพื่อเป็นที่ปรึกษา สังเกต รับฟัง ให้คำปรึกษา เพื่อลดพฤติกรรมความเสี่ยง โดยมุ่งเน้นการดูแลช่วยเหลือนักศึกษากลุ่มเสี่ยงและกลุ่มที่มีปัญหาภาวะอ่อนแอทางจิตใจ ซึ่งหากปล่อยไว้อาจเกิดเป็นภาวะซึมเศร้า จนถึงขั้นทำร้ายตัวเองได้ ซึ่งครอบครัวและเพื่อน คือ “บุคคลสำคัญ” ที่ช่วยให้ภาวะซึมเศร้าหายเร็วขึ้น การเปิดใจรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสินใจ ชักชวน หรือแนะนำให้ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย จะเป็นการช่วยให้ภาวะจิตใจได้ผ่อนคลาย และส่งผลต่อภาวะอารมณ์ในการจัดการกับชีวิตประจำวันของนักศึกษาได้ดีอีกด้วย
นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเป้าหมายที่ 4 คือ สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป้าหมายที่ 10 คือ ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ
Photo Gallery