อ่านแล้ว 845 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565
เมื่อวันพุธที่ 16 มีนาคม 2565 เวลา 13.00-16.00 น. สโมสรนักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการแข่งขันทักษะทางด้านเภสัชกรรม (Pharmacy Event) ประจำปีการศึกษา 2564 โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก.ลือรัตน์ อนุรัตน์พานิช รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมการแข่งขันดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นผ่านระบบ Microsoft Teams และถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ของ Page สโมสรนักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
การแข่งขันทักษะทางด้านเภสัชกรรม ประจำปีการศึกษา 2564 มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภก.ศุภทัต ชุมนุมวัฒน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ และมีคณาจารย์จากภาควิชาต่างๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการประเมินและให้คำแนะนำในการแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) การแข่งขันสัมภาษณ์และให้คำปรึกษาทางเภสัชกรรม (The Patient Counseling Event, PCE) ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 และ 5 และ 2) การแข่งขันตอบคำถามทางวิชาการ (Pharma Quiz) สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 2-4 โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อให้นักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 4 และ 5 ที่เข้าร่วมโครงการได้ฝึกฝนทักษะการสัมภาษณ์และให้คำปรึกษาด้านยาแก่ผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรม รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม 2) เพื่อให้นักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 2, 3 และ 4 ที่เข้าร่วมโครงการได้นำความรู้ทางเภสัชกรรมมาประยุกต์ใช้ในการตอบคำถามทางเภสัชกรรม และ 3) เพื่อให้นักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 2 และ 3 ได้เห็นถึงบทบาทด้านหนึ่งของเภสัชกร และแนวทางในการนำความรู้ทางเภสัชกรรมมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง นอกจากนี้ เป้าหมายของการจัดการแข่งขัน คือ เพื่อคัดเลือกนักศึกษาเภสัชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหิดลไปเข้าร่วมการแข่งขันทักษะทางด้านเภสัชกรรมของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (สนภท.) ซึ่งกำหนดจัดในวันที่ 26 มีนาคม 2565 รวมทั้งนักศึกษายังมีโอกาสได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะการทำกิจกรรมและการทำงานกลุ่มร่วมกัน สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนนักศึกษา รุ่นพี่ รุ่นน้องนักศึกษา และคณาจารย์
ทั้งนี้ การพัฒนาทักษะทางด้านเภสัชกรรมเป็นกระบวนการที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างให้นักศึกษาเภสัชศาสตร์มีคุณสมบัติอันพึงประสงค์ต่อการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม นอกเหนือไปจากการเรียนรู้ในหลักสูตรที่เข้มข้นทั้งภาคทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติในห้องเรียนแล้ว การพัฒนาทักษะทางด้านเภสัชกรรมผ่านกิจกรรมการแข่งขันเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่กระตุ้นให้นักศึกษาเภสัชศาสตร์ได้ฝึกฝนทักษะในรูปแบบที่ผ่อนคลายและสนุกสนานมากขึ้น รวมทั้งได้มีโอกาสแสดงความรู้ความสามารถที่ได้สั่งสมมาตลอดระยะเวลาของการศึกษาในชั้นเรียน อีกทั้ง กิจกรรมดังกล่าวช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเป้าหมายที่ 4 คือ สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายที่ 10 คือ ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ
Photo Gallery