อ่านแล้ว 1,650 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 01 พฤศจิกายน 2564
ระหว่างวันที่ 1-2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม จัดประชุมวิชาการเภสัชอุตสาหกรรม ครั้งที่ 14 (The 14th Industrial Pharmaceutical Technology Conference) เรื่อง แนวทางการพัฒนาและการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผ่านระบบออนไลน์ Cisco Webex Events โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคณาจารย์จากภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรมของคณะฯ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ภก.สาธิต พุทธิพิพัฒน์ขจร หัวหน้าภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิและวิทยากรจากหน่วยงานภายนอก เป็นผู้บรรยายให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุม จำนวน 205 คน ซึ่งเป็นเภสัชกรวิชาชีพ แพทย์แผนไทยประยุกต์ นักวิจัย นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานในสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยมีเนื้อหาการบรรยาย อาทิ รูปแบบเภสัชภัณฑ์สมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ การเตรียมสารสกัดสมุนไพรตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก แนวทางการตั้งตำรับและการแก้ปัญหาการผลิตยาเม็ดสมุนไพร เป็นต้น
ทั้งนี้ การประชุมวิชาการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย ตามหลักเกณฑ์และแนวทางในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพรของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และมาตรฐานสากล รวมทั้งสามารถผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) ให้แก่เภสัชกร แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ นักวิจัย นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานในด้านการวิจัยและพัฒนา การผลิต การประกันและควบคุมคุณภาพ และการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพรในอุตสาหกรรมยา สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การเพิ่มสมรรถนะและขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศได้
นอกจากนี้ การประชุมวิชาการดังกล่าวยังถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ’ร่วมรำลึกและสืบสานปณิธาน 100 ปีชาตกาล อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร (ผู้ก่อตั้งคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล)’ และยังสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในเป้าหมายที่ 4 คือ สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายที่ 8: ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน และเป้าหมายที่ 9: สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม
ในโอกาสนี้ คณะฯ ขอขอบคุณผู้สนับสนุนการจัดประชุมจากบริษัทต่างๆ ดังนี้
1. บริษัท ฮอริบา (ประเทศไทย) จำกัด
2. บริษัท บูชิ (ประเทศไทย) จำกัด
3. บริษัท เจ๊บเซ่น แอนด์ เจ๊สเซ่น อินกรีเดียนส์ (ที) จำกัด
4. บริษัท สิทธิพรแอสโซซิเอส จำกัด
Photo Gallery