อ่านแล้ว 1,746 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2564
วันที่ 24 เมษายน ของทุกปี ตรงกับ ’วันสัตว์ทดลองโลก’ (World Day for Laboratory Animals) ซึ่งก่อตั้งโดย National Anti-Vivisection Society แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นองค์กรที่รณรงค์ต่อต้านการใช้สัตว์ทดลองระดับโลก
อาจารย์ ดร. นายแพทย์กิตติพงศ์ ไพบูลย์สุขวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและบริการวิชาการ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) กล่าวในฐานะคณะกรรมการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่าเนื่องจากในการทำวิจัยทางคลินิกที่ได้มาตรฐานจำเป็นต้องใช้สัตว์ทดลองในการทดสอบ ก่อนนำไปใช้กับมนุษย์ ซึ่งการใช้สัตว์ทดลองนั้นจะต้องเป็นไปตามหลัก 3R คือ Reduction ใช้สัตว์ทดลองแต่เท่าที่จำเป็น Refinement ใช้สัตว์ทดลองอย่างมีเมตตาธรรม และ Replacement ให้พยายามใช้วิธีการอื่นแทนการใช้สัตว์ทดลอง ซึ่งหากเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติ นอกจากจะได้ผลการวิจัยที่ถูกต้องแล้ว ยังทำให้เกิดความเชื่อมั่น และปลอดภัยอีกด้วย
การเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ห้องปฏิบัติการจำลองเสมือนจริง (Simulation Lab) หรือ ’Sim Lab’ เป็นแนวทางที่สามารถลดการใช้สัตว์ทดลองได้เช่นกัน โดย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มใช้การเรียนการสอนแบบ Sim Lab ที่ภาควิชาสรีรวิทยา โดย รองศาสตราจารย์บุญเทียม คงศักดิ์ตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา ผู้บุกเบิกด้านการพัฒนาระบบสารสนเทศของคณะฯ ได้คิดค้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการเรียนการสอนแบบ Sim Lab สำหรับสอนนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ของคณะฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เพื่อศึกษาสรีรวิทยาการหดตัวของกล้ามเนื้อน่องกบ และการเคลื่อนไหวของลำไส้ของกระต่ายตอบสนองต่อยาชนิดต่างๆ และได้พัฒนาและปรับปรุงโปรแกรมมาอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อการเรียนการสอนของภาควิชาฯ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งมีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์
รองศาสตราจารย์บุญเทียม คงศักดิ์ตระกูล เล่าว่า สมัยก่อนที่ยังไม่มี Sim Lab นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจะต้องเรียนวิชาปฏิบัติการจากการใช้สัตว์ทดลองจริง โดยต้องใช้เวลามากพอสมควรในการเตรียมสัตว์ทดลองและเตรียมเครื่องมือที่จะใช้ในการทดลอง อีกทั้งชั่วโมงในการทดลองมีจำกัดในแต่ละคาบการเรียน ทำให้บางครั้งทำการทดลองไม่ทัน ตนจึงได้คิดพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์จำลองการทดลองแทนการปฏิบัติการจริง โดยนักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ในทุกสถานที่และทุกเวลา สามารถลดอุปสรรคจากข้อจำกัดทางจริยธรรม และต่อยอดเพื่อเป็นต้นแบบให้นำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนแบบ Sim Lab สำหรับห้องปฏิบัติการอื่นๆ ได้อีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงวรวรรณ กิจผาติ หัวหน้าภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางภาควิชาฯ มีนโยบายหลักในการจัดการเรียนการสอนเป็น ’Student Center’ ที่เน้นให้นักศึกษาเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ Sim Lab ดังกล่าวจะมีการประเมินเพื่อปรับปรุงโปรแกรมและรูปแบบการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลประเมินความพึงพอใจ และความรู้ความเข้าใจของผู้เรียน พบว่าผู้เรีบนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจและมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 86 ซึ่งเคล็ดลับการเรียนการสอนแบบ Sim Lab อยู่ที่การมีวินัยของผู้เรียนที่ต้องศึกษาและทบทวนเนื้อหามาก่อน รวมทั้งเรียนรู้การใช้โปรแกรมและทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง นอกจากนี้ ยังเป็นความท้าทายสำหรับผู้สอนที่จะต้องปรับวิธีการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษาทุกคนสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ไม่แตกต่างจากการใช้สัตว์ทดลองจริง ซึ่งทำให้สามารถลดจำนวนการใช้สัตว์ทดลองได้และลดระยะเวลาในการเรียนรู้ลง หากท่านใดที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาเพื่อเป็นแนวทางได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/labphysio
ขอบคุณข้อมูลจากงานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
Photo Gallery