อ่านแล้ว 1,637 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2563
เมื่อวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน 2563 เวลา 11.45-13.15 น. คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล จัดประชุมวิชาการออนไลน์ เรื่อง ‘Update in Pharmacotherapy and Vaccine for COVID-19’ ผ่านระบบ Cisco Webex โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.สุวัฒนา จุฬาวัฒนทล คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 643 คน ในการประชุมครั้งนี้ คณะฯ ได้รับเกียรติจากคณาจารย์ภาควิชาเภสัชกรรม จำนวน 4 ท่าน ได้แก่ 1) รองศาสตราจารย์ ภก.ปรีชา มนทกานติกุล 2) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภญ.พิชญา ดิลกพัฒนมงคล 3) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภก.ศุภทัต ชุมนุมวัฒน์ และ 4) อาจารย์ ภญ.เจนนิษฐ์ มีนวัฒนา เป็นวิทยากรบรรยายและจัดเสวนาออนไลน์แก่ผู้เข้าร่วมการประชุม ซึ่งส่วนใหญ่ปฏิบัติหน้าที่เภสัชกรในโรงพยาบาลหรือหน่วยงานด้านสาธารณสุขในระดับต่างๆ ของประเทศ โดยมีเนื้อหาครอบคลุมการทบทวนข้อมูลใหม่ของยาในการรักษาโรค COVID-19 และรายงานการศึกษาวัคซีนฉบับแรก รวมถึงงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การใช้ยาและวัคซีนอย่างถูกต้องตามหลักทางเภสัชศาสตร์ และหลักฐานทางวิชาการ
ทั้งนี้ สถานการณ์โรคติดเชื้อ Severe acute respiratory syndrome coronavirus 2 (SARS-CoV-2) หรือ COVID-19 ก่อให้เกิดปัญหาทางสาธารณสุขทั่วโลก ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มียาจำเพาะในการรักษา COVID-19 แต่มีข้อมูลทั้งระดับ in vitro, สัตว์ทดลอง และการศึกษาเบื้องต้นในมนุษย์ ถึงยาหลายชนิดที่อาจจะใช้ในผู้ป่วยโรคติดเชื้อ COVID-19 ได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักของการใช้ยาเหล่านี้ในการรักษาโรค COVID-19 คือ ขนาดยาที่เหมาะสม เนื่องจากการศึกษาทางเภสัชจลนศาสตร์และเภสัชพลศาสตร์ รวมถึงการศึกษาวิจัยในมนุษย์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และการกำหนดขนาดยาในปัจจุบันจะเทียบเคียงกับโรคอื่นๆ ส่งผลให้การใช้ยาอาจไม่ได้ผลการรักษาที่ดี หรือก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ คณะฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการใช้ยาต้านไวรัส SARS-CoV-2 อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิผลและความปลอดภัยต่อผู้ป่วย จึงได้จัดการประชุมวิชาการนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่ทันสมัยด้านเภสัชบำบัดและวัคซีนสำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้เภสัชกรและผู้เข้าร่วมการประชุมสามารถนำความรู้ไปใช้อย่างถูกวิธีในการดูแลผู้ป่วยทางยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ การประชุมวิชาการออนไลน์ดังกล่าวนับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของคณะฯ ในการบริการวิชาการผ่านระบบออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ ภายหลังจากที่คณะฯ ได้พัฒนา MUPY Studio เพื่อเพิ่มช่องทางและประสิทธิภาพด้านการเรียนการสอนในระบบออนไลน์สำหรับนักศึกษาทุกระดับ รวมถึงการประชุมวิชาการหรือเสวนาออนไลน์ในยุคปัจจุบันให้มีความทันสมัย เตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาระดับอุดมศึกษาในยุคดิจิทัล และสามารถตอบสนองความต้องการและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง
Photo Gallery