เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

เหตุการณ์สำคัญในเภสัชมหิดล


เภสัชมหิดลจัดเสวนา ’ผ่า (ร่าง) พ.ร.บ. ยา ฉบับ อย. : ทันสมัยและคุ้มครองประชาชนจริงหรือ’

อ่านแล้ว 1,652 ครั้ง   
ตั้งแต่วันที่ 04 กันยายน 2561  
เมื่อวันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2561 ตั้งแต่เวลา 16.00 น. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ชมรมศิษย์เก่าเภสัชมหิดล และสโมสรนักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานเสวนาในหัวข้อ ’ผ่า (ร่าง) พ.ร.บ. ยา ฉบับ อย. : ทันสมัยและคุ้มครองประชาชนจริงหรือ?’ ณ ห้องประชุม 302 อาคารเทพรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ถ.ศรีอยุธยา เขตราชเทวี กทม. โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรร่วมเสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว ได้แก่ 1) ภก. วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร 2) อาจารย์ ภก. ปัญจพล เหล่าพูนพัฒน์ 3) รองศาสตราจารย์ ภก. ปรีชา มนทกานติกุล และ 4) รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) ภก. กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ โดยมี ภญ. ศศิมา อาจสงคราม เป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้ การเสวนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ พ.ร.บ. ยา และบทบาทวิชาชีพเภสัชกรรม สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของ (ร่าง) พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่ ตลอดจนเสนอทางออกและแนวทางแก้ไขปัญหา (ร่าง) พ.ร.บ. ยา ในมุมมองของนักวิชาการ และในโอกาสนี้ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกแถลงการณ์คัดค้าน (ร่าง) พ.ร.บ. ยา ฉบับ อย. โดยมีคณาจารย์ ศิษยเก่า ศิษย์ปัจจุบัน และเภสัชกร ประมาณ 300 คน เข้าร่วมแสดงพลังและจุดยืนของวิชาชีพเภสัชกรรมคัดค้าน (ร่าง) พ.ร.บ. ยา ฉบับ อย. เช่นเดียวกันกับคณะเภสัชศาสตร์สถาบันอื่นๆ และเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ ในเสวนาดังกล่าว รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ. สุวัฒนา จุฬาวัฒนทล คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ได้อ่านแถลงการณ์ของคณะฯ เพื่อคัดค้าน (ร่าง) พ.ร.บ. ยา ฉบับ อย. ร่วมกับคณาจารย์ ศิษยเก่า ศิษย์ปัจจุบัน และเภสัชกรจากทุกสาขาวิชาชีพเภสัชกรรม ความว่า “ประเด็น (ร่าง) พ.ร.บ.ยา ฉบับ อย. นั้นมีข้อบกพร่องร้ายแรงที่อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยในการใช้ยาหลายประการ ขัดกับหลักสากล แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการแสดงความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนให้ปรับแก้ไขจุดสำคัญที่อาจก่อให้เกืดอันตรายต่อประชาชน แต่ อย. ยังคงไม่แก้ไขในประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วง ขณะนี้ ทั่วโลกยึดหลักของการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของบุคลากรสาธารณสุข การแบ่งหน้าที่ชัดเจนจะช่วยให้แต่ละวิชาชีพสามารถปฏิบัติงานได้ตามความรู้ความสามารถเฉพาะทางของตน และมีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถส่งมอบยาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพให้แก่ผู้ป่วย “วิชาชีพ” ต้องมีองค์ความรู้ มีมาตรฐานและจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพ ผ่านการควบคุมโดยสภาวิชาชีพ เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย “เภสัชกร” เป็นบุคลากรวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพราะต้องมีองค์ความรู้อย่างลึกซึ้งตั้งแต่โครงสร้างของยา การพัฒนาสูตรตำรับยา กลไกการออกฤทธิ์ของยา ปฏิกิริยาระหว่างยา อาการไม่พึงประสงค์ทางยา และความรู้เชิงลึกอื่นๆ ด้านยา เภสัชกรต้องปฏิบัติหน้าที่ทั้งผู้ผลิตยา จ่ายยา และคุ้มครองผู้บริโภคด้านยา ขอย้ำว่า ยาทุกชนิดมีอันตรายหากใช้ไม่เหมาะสม ทุกวันนี้ประเทศไทยประสบปัญหาอย่างหนักด้านการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม ปัญหาเชื้อดื้อยา ปัญหาการใช้ยาอย่างฟุ่มเฟือย และการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2560 พบการขายยาที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านในชุมชนสูงถึงร้อยละ 67 ซึ่งถือเป็นการผิดกฎหมาย รวมถึงมีการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคที่ไม่จำเป็นสูงมาก สิ่งเหล่านี้แสดงถึงความจำเป็นที่จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านยาเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว และส่งเสริมการใช้ยาอย่างเหมาะสม ลดปัญหาเชื้อดื้อยา และลดค่าใช้จ่ายด้านยา ซึ่งพบว่ามีสัดส่วนมากเป็นครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขชองประเทศ อันจะกลายเป็ยปัญหาสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ประกอบกับยุคสมัยใหม่ที่เทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้า ทำให้มีการจำหน่ายยาในรูปแบบใหม่ๆ เช่น E-Commerce, Tele-Pharmacy ซึ่ง (ร่าง) พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้ไม่ได้มีเนื้อหาที่ชัดเจนในการควบคุมและแก้ปัญหาดังกล่าว อีกทั้งไม่เป็นตากหลักสากลนิยม และจะกล่าวได้ว่าเป็น (ร่าง) พ.ร.บ.ยา ที่มีความทันสมัยได้อย่างไร ... ทางออกของปัญหานี้ อย.ต้องระงับการเสนอ (ร่าง) พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้ แล้วนำมาทบทวนแก้ไขเสียใหม่ โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมาประชุมหารือในการแก้ไข (ร่าง) พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้ นำข้อเสนอที่เป็นทางออกของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาทบทวน โดยต้องยึดหลักความปลอดภัยของผู้ป่วย และการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นสำคัญ ควรเป็นไปตามหลักสากลนิยมตามแบบประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้มีการตรวจสอบด้านความปลอดภัยของการใช้ยาของผู้ป่วยโดยประกอบวิชาชีพ เกิดการ Check and Balance เพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้ใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงสุด” และในตอนท้าย รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ. สุวัฒนา จุฬาวัฒนทล คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ยังได้สรุปและฝากให้สื่อมวลชนให้ข้อเท็จจริงแก่ประชาชนเกี่ยวกับ “(ร่าง) พ.ร.บ.ยา ฉบับ อย.” เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงปัญหาและหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน




Photo Gallery


งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


โรคพยาธิหอยคัน 26 วินาทีที่แล้ว
2 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้