เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

เหตุการณ์สำคัญในเภสัชมหิดล


คณะเภสัชศาสตร์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ ’The 1st International Conference on Pharmacy Education and Research Network of ASEAN”

อ่านแล้ว 2,566 ครั้ง   
ตั้งแต่วันที่ 02 ธันวาคม 2558  
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ ’The 1st International Conference on Pharmacy Education and Research Network of ASEAN” (ASEAN PharmNET I) เมื่อวันพุธที่ 2 ธันวาคม 2558 ณ ห้อง Landmark Ballroom โรงแรม The Landmark Bangkok ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ ซึ่ง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับ คณะเภสัชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนอีกจำนวน 11 สถาบัน เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติดังกล่าว ภายใต้แนวคิด “Harmonizing the Diversity of Pharmacy Profession in the Era of AEC” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ. จุฑามณี สุทธิสีสังข์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ในทุกสาขาระหว่างเภสัชกร นักวิชาการ และนักวิจัยทางเภสัชศาสตร์ในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และเพื่อให้เกิดเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบยา สมุนไพร รวมทั้งระบบการศึกษาและวิจัยด้านเภสัชศาสตร์ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน สำหรับในการประชุมดังกล่าวมีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมมากกว่า 500 คนจากหลากหลายประเทศทั่วโลก สำหรับเนื้อหาการประชุมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วน Plenary Session ซึ่งจะเน้นที่การเตรียมความพร้อมของเภสัชกรในกลุ่มประเทศ ASEAN ในการเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร. นันทนา คชเสนี ผู้อำนวยการบริหารเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Harmonizing the Diversity of Pharmacy Profession in the Era of AEC: Focusing on Pharmacy Education & Research” นอกจากนี้ในส่วน Plenary Session ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อบรรยายพิเศษอีกด้วย เช่น หัวข้อ ’A Roadmap to Pharmacy Education Excellence through EdPEx and AUNQA from Mahidol University Experience’ โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ภก. สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวข้อ ’Nanotechnology in Pharmaceutical, Vaccine and Herbal Product Development’ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หัวข้อ ’Roadmap of Clinical Pharmacy Implementation in Thailand: From Research to Policy and Practice’ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภก. สุรกิจ นาฑีสุวรรณ รองคณบดีฝ่ายแผนและพัฒนาคุณภาพ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวข้อ ’Is a National Medicines Policy Useful?’ โดย Prof. P.T. Thomas จาก School of Pharmacy, Taylor’s University ประเทศมาเลเซีย และ หัวข้อ ’Biological Activities of Mushroom Extracts’ โดย Prof. Toshihiko Toida จาก Graduate School of Pharmaceutical Sciences, Chiba University ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ในส่วน Concurrent Sessions ยังแบ่งออกเป็น 6 สาขา ได้แก่ Pharmaceutical Chemistry (PC), Biopharmaceutical Sciences and Pharmaceutical Biotechnology (BB), Natural Products (NP), Pharmaceutics & Drug Delivery System (PD), Pharmacy Education (PE), Clinical Pharmacy / Social and Administrative Pharmacy (CS) ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้นำวิชาการในระดับโลกมาร่วมนำเสนอผลงานเพื่อเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนและสร้างเครือข่ายวิชาการที่เข้มแข็งอีกด้วย ตลอดการประชุมระหว่างวันที่ 2-3 ธันวาคม 2558 อีกด้วย จากการที่ผู้นำทั้ง 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ตกลงร่วมกันที่จะรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 เพื่อให้อาเซียนสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่น และทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคต รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อรองรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน และการเปิดเสรีการศึกษา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้วางยุทธศาสตร์ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลในด้านการสร้างความเป็นสากล (Internationalization) โดยเป็นผู้ริเริ่มในการจัดประชุม ASEAN Pharmacy Education Network เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556 การประชุมครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือทั้งทางด้านการศึกษาและการวิจัยด้านเภสัชศาสตร์กับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศโดยเน้นกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นหลัก ภายในการประชุมดังกล่าวจึงมีการเปิดโอกาสให้คณบดีและผู้บริหารจากคณะเภสัชศาสตร์ในภูมิภาคอาเซียน ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารงานด้านเภสัชกรรม รวมทั้งระบบการศึกษาและการวิจัยด้านเภสัชศาสตร์ในแต่ละประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจและเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพร้อมกัน ก่อนที่ในช่วงท้ายของการประชุมจะมีการร่วมกันระดมสมองเพื่อหารือถึงแนวทางการพัฒนาแผนงานและกิจกรรมที่สามารถปฏิบัติร่วมกันจากการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ในกลุ่มประเทศอาเซียนต่อไป จากกรอบแนวคิดดังกล่าว ในที่ประชุมจึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ Letter of Intent to Collaborate ระหว่าง 12 มหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะเอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการวิจัยทางเภสัชศาสตร์ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษาระหว่างสถาบัน ตลอดจนสร้างเครือข่ายและภาพลักษณ์ในความเป็นสากลต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติให้มีการเปลี่ยนชื่อการประชุมจาก “Indochina Conference on Pharmaceutical Sciences (Pharma-Indochina)” เป็น “International Conference on Pharmacy Education and Research Network of ASEAN” หรือ “ASEAN PharmNET I” โดยมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมครั้งแรก ร่วมกับ คณะเภสัชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำจาก 11 สถาบันในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ 1. Faculty of Pharmacy, Gadjah Mada University, Indonesia 2. Faculty of Pharmacy, Ho Chi Minh City University of Medicine & Pharmacy, Vietnam 3. Faculty of Pharmacy, International University, Cambodia 4. Faculty of Pharmacy, Universiti Kebangsaan Malaysia, Malaysia 5. Faculty of Pharmacy, Universiti Teknologi Mara, Malaysia 6. Faculty of Pharmacy, University of Health Science, Laos PDR 7. Faculty of Pharmacy, University of Surabaya, Indonesia 8. Faculty of Pharmacy, University of the Philippines Manila, the Philippines 9. Hanoi University of Pharmacy, Vietnam 10. School of Pharmacy, Bandung Institute of Technology, Indonesia 11. University of Pharmacy, Yangon, Myanmar สำหรับเจ้าภาพหลักในการจัดประชุม “International Conference on Pharmacy Education and Research Network of ASEAN” ในครั้งต่อไป คือ Faculty of Pharmacy, Universiti Kebangsaan Malaysia ประเทศมาเลเซียในปี พ.ศ. 2560




Photo Gallery


งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาต้านมะเร็ง 13 วินาทีที่แล้ว
15 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 19 วินาทีที่แล้ว
ยาหอม กับคนวัยทำงาน 30 วินาทีที่แล้ว
EM Ball (อีเอ็มบอล) 44 วินาทีที่แล้ว
ยาลดไขมันในเลือด 47 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้