อ่านแล้ว 1,465 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2557
การเรียนรู้ด้วยตนเองและการต่อยอดองค์ความรู้ผ่านการบูรณาการความรู้จากสาขาต่างๆ เพื่อเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการศึกษาในยุคปัจจุบัน เป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้างการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นถึงความสำคัญของทักษะดังกล่าว จึงได้จัดกิจกรรมการบูรณาการทางเภสัชศาสตร์ (integrative pharmacy) ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 3 และ 4 ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2557
การบูรณาการทางเภสัชศาสตร์ (integrative pharmacy) เป็นการบูรณาการรายวิชาโดยการนำศาสตร์และความรู้จากสาขาวิชาต่างๆ ทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาหรือใช้ในการอธิบายสถานการณ์ต่างๆ ทางเภสัชศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงได้อย่างมีเหตุผล การบูรณาการรายวิชาเปรียบเสมือนการสร้างสะพานที่จะช่วยให้นักศึกษาสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากรายวิชาต่างๆ ทั้งที่เป็นเนื้อหาใหม่และเนื้อหาเก่ามาผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การทบทวน เรียบเรียง และวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่เดิม ร่วมกับการค้นคว้าหาข้อมูลใหม่อย่างเป็นระบบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผล แล้วทำกระบวนการเช่นนี้ซ้ำๆ กันหลายรอบเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ หรือคำตอบที่ต้องการ หรือแนวความคิดใหม่ที่เป็นการต่อยอดองค์ความรู้เดิม ทั้งนี้จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเรียนการสอนและการเรียนรู้แบบยั่งยืนของนักศึกษา อันจะนำไปสู่การปฏิบัติทางวิชาชีพที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป กิจกรรมของการบูรณาการระหว่างรายวิชา ประกอบด้วย 3 กิจกรรมคือ
การบูรณาการรายวิชาใช้รูปแบบ PBL (problem-based learning) ในการจัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 3 และ 4 โดยคณาจารย์ร่วมกันสร้างกรณีศึกษา (5 กรณีศึกษา) ที่มีขอบเขตเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม เภสัชกรรมอุตสาหการ และเภสัชศาสตร์สังคมและการบริหาร โดยให้นักศึกษากำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้และผลการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งนี้จะใช้กรณีศึกษาเดียวกันกับนักศึกษาทั้ง 3 ชั้นปี โดยแต่ละชั้นปีจะมีขอบเขตของเนื้อหาที่มีจุดเน้นที่แตกต่างกันตามรายวิชาที่นักศึกษากำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีนั้นๆ หรือที่นักศึกษาได้เรียนแล้ว แล้วให้นักศึกษาค้นคว้า ระดมความคิด แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อวิเคราะห์กรณีศึกษาที่กลุ่มของตนเองได้รับ ในระหว่างกระบวนการเชื่อมโยงองค์ความรู้จะมีอาจารย์ประจำกลุ่มทำหน้าที่ให้คำแนะนำและคอยสังเกตและประเมินพฤติกรรมของนักศึกษาเป็นรายบุคคล เป็นระยะๆ หลังจากได้ข้อสรุปของกรณีศึกษาของแต่ละกลุ่มแล้ว ได้จัดให้มีการเชื่อมโยงองค์ความรู้ของกรณีศึกษาเดียวกันจากทั้ง 3 ชั้นปี เพื่อนำเสนอต่อคณาจารย์และเพื่อนนักศึกษาที่ได้รับกรณีศึกษาอื่น เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และฝึกทักษะของการนำเสนอ และในคาบเรียนสุดท้ายได้จัดให้มีการแข่งขันตอบปัญหา (Pharmacy contest) เพื่อกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้และประยุกต์ใช้ทักษะที่ได้จากกระบวนการทำบูรณาการรายวิชามาใช้ในการตอบปัญหา
จะเห็นได้ว่าในกระบวนการบูรณาการรายวิชานั้น นอกจากนักศึกษาจะได้รับการฝึกฝนในเรื่องของการเชื่อมโยงองค์ความรู้แล้ว นักศึกษายังได้ฝึกฝนทักษะทางสังคม เช่น การทำงานเป็นทีม ภาวะผู้นำ การเสนอความคิดเห็น การสื่อสาร รวมทั้งทักษะในการนำเสนอควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เพื่อให้นักศึกษาเกิดการพัฒนาทักษะการเรียนรู้แบบยั่งยืนและสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงทั้งในการเรียนและการใช้ชีวิตในอนาคต
กิจกรรมที่ 1 ของการบูรณาการระหว่างรายวิชา ปีการศึกษา 2557
การเข้ากลุ่มย่อยสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง (25 ส.ค. – 7 พ.ย. 2557) ตาม case ที่ได้รับของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 3 และ 4 โดยมีอาจารย์จากภาควิชาต่างๆ จำนวน 23 ท่านทำหน้าที่เป็น Coach คอยให้คำแนะนำและคำปรึกษาในสิ่งที่นักศึกษาต้องการเรียนรู้ นักศึกษาจะมีการเรียนรู้แบบ Problem Based Learning (PBL) โดยจะได้รับโจทย์ที่เป็น case ที่มีขอบเขตเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม เภสัชกรรมอุตสาหการ และเภสัชศาสตร์สังคมและการบริหาร โดยให้นักศึกษากำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้และผลการเรียนรู้ด้วยตนเอง นักศึกษาจะต้องตั้งประธานและเลขานุการของกลุ่มเพื่อกำหนดขอบเขตการค้นคว้า การอภิปราย และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งนี้แต่ละชั่วโมงในแต่ละสัปดาห์ มาจากชั่วโมงของแต่ละรายวิชาบรรยายที่นักศึกษากำลังเรียนอยู่ในภาคการศึกษานั้นวิชาละ 1 ชั่วโมง
กิจกรรมที่ 2 ของการบูรณาการระหว่างรายวิชา ปีการศึกษา 2557
การนำเสนอในแต่ละ case โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 2 3 และ 4 ที่ได้ case เดียวกันต้องนำผลการเรียนรู้ที่ได้มาเชื่อมโยงเพื่อให้เป็นเนื้อหาเดียวกัน และนำเสนอต่อคณาจารย์และเพื่อนนักศึกษาที่ได้รับกรณีศึกษาอื่น ในวันที่ 12 พ.ย. 2557 เวลา 13.00 – 16.30 น. ณ ห้อง 302 อาคารเทพรัตน์
กิจกรรมที่ 3 ของการบูรณาการระหว่างรายวิชา ปีการศึกษา 2557
การแข่งขัน Pharmacy Contest เพื่อกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้และประยุกต์ใช้ทักษะที่ได้จากกระบวนการทำบูรณาการรายวิชามาใช้ในการตอบปัญหา ในวันที่ 19 พ.ย. 2557 เวลา 13.00 – 16.30 น. ณ ห้อง 302 อาคารเทพรัตน์
Photo Gallery