อ่านแล้ว 2,426 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2557
สถาบันพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สาขาการแพทย์แผนไทย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดให้มีการนำเสนอผลงานในโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาแผนไทยสู่ตลาดอาเซียน รางวัล Traditional Thai Medicine-Quality Award , 2013 (TTM-QA 2013) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย : ก้าวย่างที่มั่นใจสู่ตลาดอาเซียน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 ณ ห้องประชุม 606 อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักต่อความสำคัญและแนวทางการนำหลักการเศรษฐกิจและการตลาด ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างความต่างของผลิตภัณฑ์สู่การแข่งขันทางการตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยรับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านผลิตภัณฑ์ยาแผนไทยร่วมประเมินและตัดสินผลการพัฒนายาเม็ดสมุนไพรของทั้ง 4 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ดังนี้
• ศาสตราจารย์ ดร. ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์
• ศาสตราจารย์ ดร. ภญ. กาญจน์พิมล ฤทธิเดช
• เภสัชกรหญิง ดร. อัญชลี จูฑะพุทธิ
• เภสัชกรวินิต อัศวกิจวิรี
สำหรับ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาแผนไทยสู่ตลาดอาเซียน” เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้สถาบันพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สาขาการแพทย์แผนไทย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์ของการสร้างประโยชน์ให้สังคม ในการยกระดับมาตรฐานการผลิตยาสมุนไพรตามมาตรฐานสากล ด้วยการใช้องค์ความรู้และประสบการณ์ของคณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ ในการให้คำปรึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาเม็ดสมุนไพรให้มีมาตรฐาน และคณะฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในปี 2556 เพื่อดำเนินงานโครงการดังกล่าว ในการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมยาสมุนไพรได้พัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนเพื่อพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ยาแผนไทยให้ได้มาตรฐานสากลและสามารถเข้าสู่ตลาดอาเซียนได้ โดยโครงการนี้ได้รับความสนใจจากบริษัทผลิตยาสมุนไพร 4 บริษัท เข้าร่วมโครงการและนำเสนอรายละเอียดผลการพัฒนายาเม็ดสมุนไพร ดังนี้
บริษัท ขาวละออเภสัช จำกัด ได้ปรับปรุงสูตรต้นตำรับของยาเม็ดฟิอองเซ จากเดิมปัญหาของตำรับที่ต้องการแก้ไข คือ วัตถุดิบสมุนไพรมีคุณภาพไม่คงที่ ยาเม็ดมีความกร่อน มีความแข็งแรงน้อย ภายหลังเข้าร่วมโครงการพบว่ายาเม็ดมีความแข็งมากขึ้น ความสามารถในการแตกตัวของยาเม็ดไม่เกิน 30 นาที นอกจากนี้จากการปรับปรุงในเรื่องการจัดการวัตถุดิบทำให้ปริมาณจุลชีพที่เคยตรวจพบในเม็ดยาลดลงจนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และยิ่งไปกว่านั้นการปรับปรุงเคลือบฟิล์มทำให้ต้นทุนในการผลิตลดลง โดยยาเม็ดที่ได้ปรับปรุงนี้มีแผนการตลาดเพื่อรุกเข้าหาผู้บริโภคมากขึ้น
บริษัท คั้นกี่น้ำเต้าทอง จำกัด ได้นำผลิตภัณฑ์ยาขมเม็ดน้ำเต้าทองเข้าร่วมปรับปรุง โดยก่อนเข้าร่วมโครงการได้นำยาเม็ดสูตรเดิมมาตรวจสอบคุณภาพต่างๆ พบว่าการแตกตัวของยาเกินมาตรฐาน จึงวิเคราะห์หาสาเหตุพบว่าอาจเกิดจากการผสมผงสมุนไพรที่ได้จากการโม่ลงในขั้นตอนการตอกเม็ด เป็นสาเหตุทำให้เม็ดยาแข็ง จึงได้มีการพัฒนาและมีการปรับสูตรยาทำให้เม็ดยามีขนาดเล็กลง ผลการปรับปรุงหลังเข้าร่วมโครงการแล้ว พบว่าเม็ดยามีลักษณะเงางามขึ้น ค่าความแข็งและความกร่อนเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน
บริษัท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด ได้เข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาตำรับยาเม็ดและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิตยาเม็ด โดยพัฒนาตำรับ “ยาอมมะแว้งรถบ๊วย” เพื่อพัฒนาลักษณะทางกายภาพของเม็ดยา โดยเฉพาะทางด้านความแข็งและความกร่อนของเม็ดยา โดยหลังจากการเข้าร่วมโครงการ ทางบริษัทฯสามารถพัฒนาตำรับยาอมมะแว้งรสบ๊วยที่มีความแข็งเพิ่มขึ้นและผ่านมาตรฐานการปนเปื้อนเชื้อจุลชีพตาม USP36 ซึ่งถือเป็นปัญหาในตำรับยาเม็ดก่อนเข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ทางบริษัทได้ออกแบบบรรจุภัณฑ์และชื่อใหม่เป็น ยาอมประสะมะแว้ง รสบ๊วย สำหรับขึ้นทะเบียนยาใหม่ในอนาคต
บริษัท พนาพัฒน์ เฮลท์แคร์ จำกัด ได้ร่วมโครงการเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตเม็ดยา Laxen ให้มีคุณภาพมาตรฐาน ตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต จนกระทั่งผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ โดยหลังการเข้าร่วมโครงการ บริษัทได้ตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมการผลิตยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ตำรับยาเม็ด Laxen ที่มีมาตรฐานทางด้านคุณสมบัติทางกายภาพ ทางเคมีและความปลอดภัยเพื่อนำไปสู่การแข่งขันกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในท้องตลาดระดับประเทศจนถึงระดับอาเซียนได้อย่างมั่นใจ
สำหรับการประกาศผลการตัดสินและพิธีมอบรางวัล Traditional Thai Medicine-Quality Award , 2013 (TTM-QA 2013) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย : ก้าวย่างที่มั่นใจสู่ตลาดอาเซียน จะจัดขึ้นในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
Photo Gallery