อ่านแล้ว 3,009 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2556
รองศาสตราจารย์นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม The 1st MU-ASEAN Pharmacy Education Network เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 ณ ห้องประชุม 606 ชั้น 6 อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนศรีอยุธยา ซึ่งคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว โดย รองศาสตราจารย์ ดร. จุฑามณี สุทธิสีสังข์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมเพื่อสนับสนุนให้เกิดเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบยา รวมทั้งระบบการศึกษาและการวิจัยด้านเภสัชศาสตร์ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 และในการประชุมครั้งนี้ได้เชิญคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งหมด 12 สถาบัน ในกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าร่วมด้วย โดยมีรายนามดังต่อไปนี้
1. Prof. Dr. Marlar Mynt
(Rector of University of Pharmacy, Yangon, Myanmar)
2. Prof. Dr. Nguyen Dang Hoa
(Rector of Hanoi University of Pharmacy, Vietnam)
3. Assoc. Prof. Dr. Hung Tran
(Dean of Faculty of Pharmacy, University of Medicine and Pharmacy at Ho Chi Minh City, Vietnam)
4. Prof. Dr. Daryono Hadi Tjahjono
(Dean of School of Pharmacy, Bandung Institute of Technology, Indonesia)
5. Dr. Rahmana Emran Kartasasmita
(Vice Dean of School of Pharmacy, Bandung Institute of Technology, Indonesia)
6. Prof. Dr. Subagus Wahyuono
(Dean of Faculty of Pharmacy, Gadjah Mada University, Indonesia)
7. Dr. Christina Avanti
(Deputy President for International Affair, University of Surabaya, Indonesia)
8. Dr. Aguslina Kirtishanti
(Vice Dean of Faculty of Pharmacy, University of Surabaya, Indonesia)
9. Prof. Dr. Ibrahim Jantan
(Dean of Faculty of Pharmacy, Universiti Kebangsaan Malaysia, Malaysia)
10. Dr. Imelda G. Pena
(Dean of Faculty of Pharmacy, University of the Philippines Manila, the Philippines)
11. Prof. Dr. Chheang Sena
(Dean of Faculty of Pharmacy, International University, Cambodia)
12. Assoc. Prof. Dany Pang
(Faculty of Pharmacy, International University, Cambodia)
13. Mr. Khamla Phonsayalinkham
(Head of Pharmaceutical Science Department, Faculty of Pharmacy,
University of Heath Science Laos)
14. Prof. Dr. Aishah Adam
(Dean of Faculty of Pharmacy, Universiti Teknologi Mara, Malaysia)
จากการที่ผู้นำทั้ง 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ตกลงร่วมกันที่จะรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 เพื่อให้อาเซียนสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่น และทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคต พัฒนาการที่สำคัญดังกล่าวส่งผลให้ทุกประเทศในอาเซียน รวมทั้งประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทำให้มีผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งด้านการศึกษาและวิชาชีพด้วย ในการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อรองรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน และการเปิดเสรีการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้จัดทำยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมเพื่อการรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนและส่งเสริมบทบาทการเป็นผู้นำในการประสานงานด้านการศึกษาในอาเซียนและการเตรียมตัวเพื่อรองรับการเปิดเสรีการบริการสาขาการศึกษา โดยสถาบันอุดมศึกษาของไทยต้องเร่งพัฒนาตัวเอง ปรับมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พัฒนาคุณภาพงานวิจัย ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างสถาบัน สร้างเครือข่ายระหว่างสถาบันอุดมศึกษา และสร้างภาพลักษณ์ในความเป็นสากลให้แก่สถาบัน
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้วางยุทธศาสตร์ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลในด้านการสร้างความเป็นสากล (Internationalization) โดยเป็นผู้ริเริ่มในการจัดประชุม ASEAN Pharmacy Education Network เป็นครั้งแรก การประชุมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือทั้งทางด้านการศึกษาและการวิจัยด้านเภสัชศาสตร์กับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศโดยเน้นกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นหลัก ภายในการประชุมดังกล่าวจึงมีการเปิดโอกาสให้คณบดีและผู้บริหารจากคณะเภสัชศาสตร์ในภูมิภาคอาเซียน ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารงานด้านเภสัชกรรม รวมทั้งระบบการศึกษาและการวิจัยด้านเภสัชศาสตร์ในแต่ละประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจและเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพร้อมกัน ก่อนที่ในช่วงท้ายของการประชุมจะมีการร่วมกันระดมสมองเพื่อหารือถึงแนวทางการพัฒนาแผนงานและกิจกรรมที่สามารถปฏิบัติร่วมกันจากการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ในกลุ่มประเทศอาเซียนต่อไป จากกรอบแนวคิดดังกล่าว ในที่ประชุมจึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ Letter of Intent to Collaborate ระหว่าง 12 มหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะเอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการวิจัยทางเภสัชศาสตร์ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษาระหว่างสถาบัน ตลอดจนสร้างเครือข่ายและภาพลักษณ์ในความเป็นสากลต่อไปในอนาคต
Photo Gallery