เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

ข้อมูลทั่วไป


ติดต่อสอบถาม:
โทรศัพท์ : 0-2644-8696



ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ รับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนและวิจัยในด้านการจัดทำมาตรฐานสมุนไพร พฤกษศาสตร์พื้นบ้านทางการแพทย์ อนุกรมวิธานพืชสมุนไพร พฤกษเคมี และการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมของการใช้สมุนไพร ภาควิชารับผิดชอบรายวิชาบังคับของหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต 4 รายวิชา ได้แก่ กายวิภาคและอนุกรมวิธานของพืชสมุนไพร ปฏิบัติการกายวิภาคและอนุกรมวิธานของพืชสมุนไพร เภสัชพฤกษศาสตร์ และปฏิบัติการเภสัชพฤกษศาสตร์
ในระดับบัณฑิตศึกษาคณาจารย์ของภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ร่วมสอนในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาวิทยาการพฤกษเภสัชภัณฑ์ และหลักสูตรเภสัชศาสตร มหาบัณฑิต

นอกจากนี้ภาควิชามีบทบาทในการเผยแพร่ความรู้ด้านสมุนไพรสู่สังคมและกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของสมุนไพรไทยโดยดำเนินการผ่านสวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ ซึ่งเป็นสวนสมุนไพรสมบูรณ์แบบที่ได้รวบรวมพันธุ์สมุนไพรไว้มากกว่า 1,000 ชนิด จัดอบรม จัดพิมพ์หนังสือสารานุกรมสมุนไพรและซีดีรอม ได้แก่ สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 1-4, Medicinal Plant in Thailand Volume 1-2, Specification of Thai Medicinal Plant Volume I

การวิจัยของภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์มี 5 สาขาคือ
- การจัดทำมาตรฐานสมุนไพรไทย
- การศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน
- การปรับปรุงคุณภาพวัตถุดิบสำหรับผลิตยาจากสมุนไพร
- การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชสมุนไพร
- การวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมของการใช้สมุนไพร

การวิจัยของภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์

การจัดทำมาตรฐานสมุนไพรไทย
การวิจัยเพื่อจัดทำข้อกำหนดมาตรฐานของสมุนไพรไทยได้แก่ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ลักษณะทางกายวิภาคของสมุนไพรและจุลทัศน์ลักษณะของผงสมุนไพร ข้อกำหนดทางเคมีซึ่งรวมถึง loss on drying, ashes, และ extractive values

การศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน
เป็นการวิจัยที่บูรณาการองค์ความรู้ทางพฤกษศาสตร์และมานุษยวิทยาเข้าด้วยกัน เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพืช การใช้ประโยชน์พืชในด้านต่าง ๆ เช่น อาหาร, ยารักษาโรคและอื่น ๆ โดยให้ความสนใจกับสมุนไพรพื้นบ้านที่ใช้โดยหมอพื้นบ้านตามถิ่นต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยจะรวบรวมความรู้จากหมอพื้นบ้านถึงรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับพืชสมุนไพรในท้องถิ่นนั้น ได้แก่ ชื่อท้องถิ่น เทคนิคการเตรียมยาสมุนไพร และสรรพคุณ ตัวอย่างพืชแห้งจะถูกพิสูจน์เอกลักษณ์โดยเทคนิคทางอนุกรมวิธานพืช ข้อมูลและตัวอย่างพืชที่ได้จะนำไปศึกษาวิจัยต่อเพื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพต่อไป

การปรับปรุงคุณภาพวัตถุดิบสำหรับผลิตยาจากสมุนไพร
พืชสมุนไพรส่วนใหญ่ยังคงมีการเก็บจากป่า หรือที่มีการปลูกส่วนใหญ่ใช้พันธุ์และวิธีปลูกแบบดั้งเดิม ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้นำมาสู่ความแปรผันของปริมาณสารสำคัญในวัตถุดิบสมุนไพร ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาจากสมุนไพรที่ผลิตจากวัตถุดิบที่ไม่สม่ำเสมอมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอตามไปด้วย จึงมีความจำเป็นในการปรับปรุงพันธุกรรมและวิจัยเพื่อกำหนดวิธีปลูกพืชสมุนไพรให้มีสารออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอย่างสม่ำเสมอ

การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีข้อได้เปรียบมากกว่าวิธีการขยายพันธุ์แบบดั้งเดิม งานวิจัยที่ดำเนินการแล้วเสร็จคือ การพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื้อขมิ้นชันและกวาวเครือขาว งานวิจัยในช่วงต่อไปเป็นการศึกษาสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับปลูก และจะได้มีการจัดทำมาตราฐานขั้นตอนการปลูก การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และการเก็บเกี่ยวขมิ้นชันและกวาวเครือขาวที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังให้ความสนใจเกี่ยวกับเทคนิคเพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชสมุนไพรต่าง ๆ เช่น protoplast culture, anther culture, การกระตุ้นให้เกิดการกลายพันธุ์ และ polyploidy

การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชสมุนไพร
สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ ได้รับการยอมรับว่าเป็นสวนสมุนไพรที่ดำเนินกิจกรรมในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชสมุนไพรที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยเก็บรวบรวม และปลูกแสดงทั้งสมุนไพรที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สมุนไพรหายากและใกล้สูญพันธุ์ การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชสมุนไพรรวมถึงการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ และการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในหลอดทดลอง

การศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมของการใช้สมุนไพร
การนำสมุนไพรมาใช้ให้เกิดประโยชน์นั้นมีความสำคัญมากทั้งในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศนานหลายทศวรรษ ในด้านของการดูแลสุขภาพนั้นสมุนไพรมีบทบาททั้งในสถานบริการสุขภาพและการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง ขณะนี้ธุรกิจสมุนไพรจัดเป็นเครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศประการหนึ่ง ขณะเดียวกันสมุนไพรจำนวนหนึ่งได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์มีบุคคลากรที่มีความรู้ในสาขาเภสัชเศรษฐศาสตร์และมานุษยวิทยาทางการแพทย์ซึ่งมีประสบการณ์ในการศึกษาตลาดสมุนไพร การศึกษาความสัมพันธ์ขององค์ความรู้ ทัศนคติ และการปฎิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์และผู้บริโภค การทดลองทางคลินิก และการศึกษาในชุมชนถึงคุณภาพของยาสมุนไพรรวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตสมุนไพรด้วย


โทรศัพท์ : 0-2644-8696

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้